งานกาชาดปี’67 จบลงอย่างสวยงาม สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่มหรสพรื่นเริง แต่ยังส่งเสริมมิติความยั่งยืนด้วย

งานกาชาดปี’67 จบลงอย่างสวยงาม สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่มหรสพรื่นเริง แต่ยังส่งเสริมมิติความยั่งยืนด้วย

มหรสพรื่นเริงการกุศล งานกาชาด ประจำปี 2567 เสร็จสิ้นอย่างสวยงาม หลังจัดเต็ม 12 วัน ระหว่างวันที่ 11-22 ธันวาคม มากกว่าความสนุกสนานคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และการนำขยะที่เกิดจากงานมาแปรรูปเป็นประโยชน์เพื่อสังคม สู่โลกที่ยั่งยืน

 

 

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานกาชาด ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 ธันวาคม 2567 เป็นมหรสพรื่นเริงการกุศลที่จัดมากว่าร้อยปี และปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 101 ภายใต้แนวคิด “ทศมราชา 72 พรรษา ถวายพระพร” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

ไฮไลต์สำหรับปีนี้ นอกจากการออกร้านจำหน่ายสลากกาชาดของ 43 หน่วยงาน มีการสอยดาว เสี่ยงโชค ชิงรางวัล ดูดวง แล้วสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในงานคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาความยั่งยืนตั้งแต่วัตถุประสงค์ของการจัดงาน ซึ่งรายได้จากการจัดงานจะถูกนำไปเข้าบำรุงสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจเพื่อมนุษยธรรม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทย ส่งแพทย์ไปดูแลผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล 

 

งานกาชาดสีเขียว แปรขยะเป็นประโยชน์ 

สภากาชาดไทย ชูแนวคิด “งานกาชาดสีเขียว” แปรขยะเป็นประโยชน์ สร้างคุณค่า สู่โลกยั่งยืน 

งานกาชาดในปีนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับแนวคิด “งานกาชาดสีเขียว” อย่างต่อเนื่อง โดยรณรงค์ให้ประชาชนผู้มาเที่ยวชมงาน หน่วยงาน และร้านค้าที่มาร่วมออกร้าน ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ และงดการใช้โฟมบรรจุอาหาร ควบคู่กับให้ความสำคัญในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางผ่านการเน้นย้ำให้ประชาชนทิ้งขยะให้ถูกประเภท “ไม่เทรวม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จัดตั้งถังคัดแยกขยะ 40 จุด และเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการแยกขยะ 

พร้อมกันนี้ สภากาชาดไทยจะนำขยะขวดพลาสติก PET ที่ถูกใช้ภายในงานมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นโต๊ะและเก้าอี้มอบให้กับสวนลุมพินี สำหรับใช้ในสาธารณประโยชน์ รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเดินทางมาเที่ยวงานด้วยรถสาธารณะ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้วัตถุประสงค์ที่จะทำให้งานกาชาดประจำปี 2567 เป็นมหกรรมรื่นเริงเพื่อการกุศลที่สามารถส่งมอบคุณค่าสู่สังคมได้ในทุกมิติ 

 

 

 

 

กฟผ. ชู 10 โครงการ 

สืบสานพระราชปณิธานองค์ราชัน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมชมร้านกาชาด กฟผ. ภายใต้แนวคิด “น้ำพระทัย ใต้ร่มพระบารมี” ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศร้านกาชาด ประเภทหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ และเอกชน สร้างสรรค์รูปแบบการจัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แสดงความมุ่งมั่นในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดงานกาชาดประจำปี 2567 “ทศมราชา 72 พรรษา ถวายพระพร” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 

 

 

 

 

ร้านกาชาด กฟผ. จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “น้ำพระทัย ใต้ร่มพระบารมี” ประกอบด้วยนิทรรศการ “10 โครงการ สืบสานพระราชปณิธานองค์ราชัน” โครงการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ดำเนินการโดยกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ครอบคลุมด้านพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม สานต่อพระราชปณิธานอันนำมาซึ่งความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสปีมหามงคล พร้อมสร้างสรรค์รูปแบบการจัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

 

 

 

 

โดยติดตราสัญลักษณ์ “กิจกรรมการชดเชยคาร์บอน (Carbon Neutral Event)” หน้าร้านกาชาด กฟผ. แสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในกระบวนการออกแบบและดำเนินการจัดงาน เช่น การลดขยะ การใช้วัสดุรีไซเคิล และการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยในชั้นบรรยากาศ เพื่อดำเนินการชดเชยด้วยกิจกรรมหรือสนับสนุนกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

 

ไทยเบฟ

สำหรับบูธของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ไทยเบฟ น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สืบสานพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อส่งเสริม การพัฒนาที่ยั่งยืน สู่นวัตกรรมที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ให้อยู่คู่คนไทยทุกช่วงเวลา ผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ไทยโมเดิร์นที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘ดอกรวงผึ้ง’ ซึ่งเป็นพรรณไม้ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นการสะท้อนการสืบสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย

โดยไฮไลต์ของไทยเบฟ ได้นำโซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สุขศานต์ร่มเย็น ใต้ร่มพระบารมี” นำเสนอเรื่องการถวายงานความจงรักภักดี และร่วมลงนามถวายพระพร เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โซนร้านค้าชุมชน  เลือกซื้อสินค้าและของที่ระลึกที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทย เป็นของดีของเด็ดจากชุมชนราคาพิเศษ จากร้านค้าชุมชนในเครือข่ายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อาทิ ผ้าขาวม้าแปรรูปจากร้านดารานาคี จ.บึงกาฬ และร้านวิมพ์วิภา จ.นนทบุรี  ผ้าปาเต๊ะแปรรูป จาก Kebaya จ.กระบี่ ฯลฯ และโซน SX REPARTMENT STORE ชอปเพื่อโลก อุดหนุนของมือ 2 สภาพดี และส่งต่อของนอกสายตาและไม่ใช้แล้ว เพื่อแบ่งปันคุณค่าให้แก่ผู้อื่น ทั้งนี้รายได้จากการจำหน่าย (หลังจากหักค่าใช้จ่าย) มอบให้แก่สภากาชาดไทย

พร้อมกันนี้ภายในบูธยังมีจุดคัดแยกขยะ TBR บริการผู้เข้าร่วมกิจกรรมเยี่ยมชมบูธไทยเบฟ ได้ร่วมกันช่วยคัดแยกขยะไปสู่การจัดการอย่างถูกวิธีนับเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ทำได้โดยเริ่มจากตัวเอง  

 

 

 

 

จุฬาฯ 

จุฬาฯ คว้ารางวัลชมเชยจากการประกวดร้านกาชาดประจำปี 2567 ประเภทหน่วยงานราชการ ด้วยแนวคิดการออกแบบที่สะดุดตาและสร้างสรรค์สุด ๆ ปีนี้มาในธีม “kinetic architecture” หรือการออกแบบที่มีการเคลื่อนไหวแบบเบาสบาย คล้ายกับว่าร้านทั้งร้านมีชีวิต เส้นสายพลิ้วไหวที่เห็นได้จากโครงสร้างร้านนั้นไม่ใช่แค่การออกแบบสวย ๆ แต่ยังซ่อนความหมายลึกซึ้งไว้ เพราะทั้งหมดไหลรวมเป็นตัวเลข 10  นอกจากการเล่นสีชมพูไล่เฉดไปจนถึงเหลืองทองอย่างสวยงาม 

บูธของจุฬาฯ ยังเน้นเรื่องการรักษ์โลกสุด ๆ ด้วยการ upcycling เอาวัสดุเหลือใช้อย่างแกนหลอดด้ายกว่า 110 กิโลกรัม และผ้ากว่า 130 เมตร มาเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของงานสร้างสรรค์ ทั้งประหยัด ทนทาน และช่วยลดขยะไปในตัว

 

 

 

 

มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย

หนึ่งในไฮไลต์บูธงานกาชาดปีนี้ คือ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่มาช่วยส่งต่อโอกาสให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ในคอนเซปต์ใหม่สุดสร้างสรรค์ “ปิดตาเปิดใจ เนรมิตความพิเศษให้ทุกคนสัมผัสสิ่งวิเศษ” เพื่อเปิดโอกาสให้คนตาดีได้เข้าใจมากขึ้นว่าโลกที่มืดมิดของคนตาบอด มีแสงสว่างให้ทุกคนต่างเท่าเทียมกัน

บูธนี้มีไฮไลต์เด็ด ๆ อย่างมือวิเศษ บริการนวดผ่อนคลายที่ช่วยบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม หรือความเหนื่อยล้าจากการเดินเที่ยวงาน และตาวิเศษ ที่ชวนมาสัมผัสการดูดวงแบบไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ยังเน้นการออกแบบให้บูธโดดเด่นด้วย ต้นกัลปพฤกษ์ทรงทันสมัย ที่สื่อถึงการก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน 

คุณเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เล่าว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้คนตาบอดมีชีวิตสะดวกขึ้น ทั้งในแง่การใช้ชีวิตประจำวันและการศึกษา อาทิเช่น หนังสือเสียง ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น 

งานกาชาด จึงไม่เพียงสร้างความสุขและความสนุกให้กับผู้มาเยือน แต่ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมแนวคิดเรื่องการรีไซเคิลและการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง รวมถึงการส่งต่อความยั่งยืนผ่านการสนับสนุนอาชีพและการสร้างรายได้ให้ทุกกลุ่มในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและเท่าเทียม ในโลกที่ยั่งยืน

 

เครดิตภาพ : เฟซบุ๊ก งานกาชาด RedCrossFair, เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย