ผู้คนมักนิยามความหรูหรา คือความฟุ่มเฟือย ซึ่งไปกันไม่ได้กับความยั่งยืน ทว่านิยามหรูหราก็ยั่งยืนได้ในหลายบริบท กรณีศึกษาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หรูหราคือการสร้างความเป็นอยู่รอบตัวที่ดี มากกว่าการอยู่อาศัย ผ่านการเสวนาเจาะลึก แนวคิดสร้างแบรนด์อสังหาฯสู่ความลักซูรี่ที่ยั่งยืน ที่จัดโดย TERRABKK
หลายคนอาจมองว่า แนวคิดของ “ความลักชูรี่” และ “ความยั่งยืน” เป็นโลกคู่ขนาน ที่ไม่น่าจะโคจรมาบรรจบกันได้ แต่ในยุคที่ถนนทุกสายกำลังมุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืน และนิยามของความลักชูรี่ในยุคนี้ ก็ไม่ได้จำกัดกรอบอยู่ที่ความหรูหรา หรือ ฟุ่มเฟือย อีกต่อไป
แต่ปรัชญาแห่งความลักชูรี่ แท้จริงแล้วกลับมีแก่นแนวคิดที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีได้ ดังนั้นเพื่อจุดเปิดมุมมองใหม่สำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในการสร้างแบรนด์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ขึ้นสู่ความลักซ์ชัวรี และตอบโจทย์ยุคแห่งความยั่งยืน
TERRABKK (เทอร์ร่า บีเคเค) สื่อและที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาฯของไทย จึงได้จัดงาน TERRAHINT Brand Series 2024 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Luxury is a necessity in the sustainability era. #ชีวิตติดแกลม เจาะกลยุทธ์การพัฒนาแบรนด์สู่ความลักชูรี่ตอบโจทย์ยุคแห่งความยั่งยืน”
ภายในงานมีวิทยากรทั้งในไทยและต่างประเทศร่วมสัมมนาและแชร์มุมมองที่น่าสนใจ เริ่มจาก ดร.เควิน ชอง อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์เชิงพาณิชย์ (ฝ่ายขาย) เซ็นโตซ่า ดีเวลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (เกาะเซ็นโตซ่า สิงคโปร์) และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ ที่มาร่วมเจาะแนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจสู่ความยั่งยืนและตลาดโลกอย่างน่าสนใจ
-หรูหราไม่ใช่ฟุ่มเฟือย แต่คือการเปิดประสบการณ์ ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า
ดร.เควิน ได้ให้นิยามของคำว่าลักชูรี่ของคนยุคนี้ที่แตกต่างจากในอดีตว่า ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงคำว่า “ลักชูรี่” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแบรนด์หลุยส์ วิตตอง, โรลส์-รอยซ์ หรือ การนั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจ แต่สิ่งที่ต่อให้เศรษฐีหรือคนที่มีเงินมหาศาลแค่ไหน ก็ไม่สามารถซื้อได้คือ “เวลา” ดังนั้น นิยามความลักชูรี่ในปัจจุบัน จึงหมายถึงการใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อเปิดประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด
ขณะที่นิยามของความยั่งยืนในมุมของดร.เควิน ยังไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องของต้นไม้ สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม แต่มองไปถึงพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อธรรมชาติโดยตรง เช่น กระเป๋าถือที่เราถือ อาหารที่เรากินนั้น กำลังส่งผลกระทบต่อธรรมชาติหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้มองว่า ความลักชูรี่และความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน
-โชว์เคส 2 โครงการในสิงคโปร์ ‘หรูหรายั่งยืน’
นอกจากนี้ ดร.เควิน ยังฉายภาพให้เห็นการนำแนวคิดความลักชูรี่และความยั่งยืนมาใช้ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างน่าสนใจ ผ่าน 2 โครงการสำคัญของรัฐบาลสิงคโปร์
เริ่มจากโครงการเซนโตซา เกาะพักผ่อนตากอากาศที่มีชื่อเสียงของประเทศสิงคโปร์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศและมีขนาดเพียง 5 ตารางกิโลเมตร และเป็นที่ตั้งของรีสอร์ท กาสิโน สนามกอล์ฟแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ รวมถึง Universal Studios Singapore รวมถึงรีสอร์ท
หลายคนอาจไม่รู้ว่า เบื้องหลังความร่มรื่นและเขียวชอุ่มของเกาะแห่งนี้ เกิดจากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายกำหนดให้บนเกาะต้องมีพื้นที่สีเขียว 70% ดังนั้น ตั้งแต่การเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่จึงให้ความสำคัญกับเก็บรักษาต้นไม้เดิมที่มีอยู่ แม้แต่ในการออกแบบรีสอร์ทก็ต้องใช้วิธีสร้างล้อมรอบต้นไม้ แทนที่จะตัดต้นไม้ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยก่อนจะพัฒนาเกาะ ได้ส่งทีมเข้าไปสำรวจว่า จนพบว่าเกาะแห่งนี้ มีนกยูงและลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมองหาแนวทางการก่อสร้างที่ไม่เป็นการเบียดเบียนหรือรบกวนการใช้ชีวิตของสัตว์ที่เป็นเจ้าถิ่น
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการรักษาตึกและอาคารเก่าที่มีอยู่เดิมไว้ เพื่อรักษารากเหง้าของวัฒนธรรม ที่สำคัญ ยังตั้งใจให้เกาะแห่งนี้เป็น “เกาะสีเขียว” ที่เน้นการใช้พลังงานจากเกาะสิงคโปร์ให้น้อยที่สุด และใช้พลังงานจากภายในเซนโตซา
“การพัฒนาเกาะเซนโตซาไม่ใช่การมาสร้างสิ่งใหม่ แต่เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาทำให้เกิดดีให้เกิดประโยชน์ อีกหัวใจสำคัญที่ทำให้เซนโตซามีเสน่ห์ คือ การสร้างบรรยากาศให้ที่นี่แตกต่างจากสิงค์โปร์ เริ่มตั้งแต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างการไม่มีไฟจราจร หรือ ป้ายแจ้งเตือนความเร็ว”
โดยทั้งหมดนี้มาจากวิสัยทัศน์ของรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่มองการณ์ไกลตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในยุคที่สิงคโปร์กำลังจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการเงิน โดยมองว่า หากทุกที่ถูกพัฒนาให้เป็นย่านการเงิน ธุรกิจ คนสิงคโปร์ไม่ใช่แค่รุ่นนี้ แต่ในรุ่นๆต่อไป จะไม่มีสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ จึงตั้งใจวางคอนเซปต์ให้เซโตซา เป็นเกาะตากอากาศให้ผู้คนได้มาพักผ่อน
-ออกแบบคำนึงความยั่งยืน พื้นที่อยู่อาศัย ทำงาน เล่น และเรียนในที่ที่เดียวกัน
อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการ Punggol Digital District ตั้งอยู่บนพื้นที่ 50 เฮกตาร์ เพื่อการเป็นศูนย์กลางสำหรับเขตอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งใหม่ของสิงคโปร์ โดยมีแนวทางการพัฒนาที่ใช้พื้นที่แบบบูรณาการ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต อาทิ การสร้างพื้นที่สำหรับธุรกิจ สถาบันการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีสิงคโปร์แห่งใหม่ ที่พักอาศัย สวนสาธารณะ และศูนย์การค้าดิจิทัล บนพื้นที่สีเขียวที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
ทั้งนี้หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิด Carbon Footprint (การปล่อยคาร์บอนฯ) คือ การออกแบบเมืองที่ทำให้มนุษย์ยังต้องเดินทางจากบ้านไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อไปทำงาน เพื่อไปหาความบันเทิงหรือพักผ่อน ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการ ออกแบบ Punggol Digital District ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถอยู่อาศัย ทำงาน เล่น และเรียนในที่ที่เดียวกัน และออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ตั้งแต่การวางระบบบริหารจัดการภายในอาคารแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นระบบส่วนกลางบริหารการระบายความร้อน ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับสภาพอากาศภายนอกและยังเพิ่มพื้นที่ใช้สอยด้วยการออกแบบให้ที่จอดรถอยู่ชั้นใต้ดิน
-การพัฒนาที่อยู่อาศัยยุคนี้ ต้องเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย
ดังนั้นมองว่าสุดท้ายแล้ว ความยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและไม่ใช่การมองแค่ปัจจุบันหรืออนาคต แต่ต้องมองไปถึงอดีต สิ่งที่อยู่มาก่อนเราในพื้นที่นั้นๆ เช่น ธรรมชาติหรือสัตว์ต่างๆ ต้องให้ความเคารพ และก่อนจะลงมือทำอะไรต้องพิจารณาว่า ความสะดวกสบายของคน แลกมาด้วยการเบียดเบียนธรรมชาติ หรือ กำลังสร้างผลกระทบให้ใครอยู่หรือไม่ โดยมองว่าการทำให้สถานที่ใดที่หนึ่งเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย คือ หัวใจสำคัญของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในยุคนี้
“เราไม่ได้กำลังสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย แต่ต้องสร้างระบบนิเวศน์ของคอมมิวนิตี้ (Community Ecosystem) ซึ่งสามารถตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้สูงอายุ เพราะ การที่คนเรามีชีวิตยืนยาวขึ้น ความต้องการก็เปลี่ยนแปลงไป หลักๆแล้วยังต้องการอิสระภาพและสังคมที่ช่วยให้คลายเหงา ดังนั้นจึงกลับมาที่แนวคิดการสร้างพื้นที่ที่สามารถอยู่อาศัย ทำงาน เล่น ในที่เดียวกัน และมีพื้นที่ที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย”
-แนะไทยกระจายความเจริญออกนอกเมืองหลวง
ลดความหนาแน่นประชากรเมือง
สำหรับโอกาสและความท้าทายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ในฐานะที่ดร.เควิน มีโอกาสมาทำงานที่ประเทศไทยตั้งแต่ 25 ปี และเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเมืองหลวง กรุงเทพฯ ที่มีประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า BTS และ MRT มารองรับ
โดยดร.เควิน มองว่า ประเทศไทย ควรมีการ Decentralized ดึงความเจริญออกจากเมืองหลวง ไปในเมืองต่างๆ ย้ายสถานที่ราชการให้ไปอยู่ชานเมือง เพื่อให้คนขยายตัวออกไป ลดความหนาแน่นของประชากรในเมือง
-ยุคแห่งความยั่งยืน ความหรูหราจำเป็นหรือไม่
ด้านวงเสวนาเรื่อง “Is luxury a necessity in the sustainability era? ยุคแห่งความยั่งยืน ความหรูหราเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่?” โดยได้รับเกียรติจาก 3 วิทยากร มาร่วมกันสะท้อนนิยามของความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ
เริ่มจาก จี ฮุง แทน ผู้จัดการโรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ มองว่านิยามของคำว่า ลักชูรี่ในอดีตคือ การบ่งบอกสถานะบางอย่าง แต่ในปัจจุบันนิยามของคำว่า ลักชูรี่เปลี่ยนแปลงและมีวิวัฒนาการไปสู่ความสบาย เป็นความพึงพอใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การได้มีเวลา ได้ใช้ชีวิตอยู่กับตัวเอง ซึ่งนิยามความหรูหราของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป
“ในด้านของความยั่งยืน เราไม่ได้พยายามสื่อสารว่าเราสร้างความยั่งยืนให้สังคมอย่างไร แต่พยายามส่งมอบประสบการณ์ให้แขกทุกคนที่มาใช้บริการได้สัมผัสถึงแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านทุก TouchPoint ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร ที่มาจากฟาร์มของเกษตรกรในท้องถิ่น การออกแบบอาคารโดยใช้ Solar Cell เพื่อลดการใช้พลังงาน การสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ ไปจนถึงการลดการใช้พลาสติก”
ในขณะเดียวกันยังตอบโจทย์ในการสร้าง Sense of Space ความลักชูรี่ ด้วยการมอบความเป็นส่วนตัวและความยืดหยุ่นให้แขกที่มาใช้บริการ
ขณะที่ นภนิศ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ผู้บริหารกลุ่มงานสร้างสรรค์ประสบการณ์และกลยุทธ์โครงการบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด มองว่า ความลักชูรี่ไม่จำเป็นต้องเป็นโปรดักต์หรือสินค้า แต่หมายถึงไลฟ์สไตล์หรือประสบการณ์ จะเห็นว่า แบรนด์ลักชูรี่ในปัจจุบันได้พัฒนาตัวเองไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการเลือกใช้วัสดุหรือเส้นใยจากธรรมชาติหรือมีการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ทำให้สินค้ามีความยั่งยืน ขณะเดียวกันความลักชูรี่ยังสามารถตีความในแง่ประสบการณ์ เช่น การมาศูนย์การค้าที่มอบพร้อมประสบการณ์ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ ก็ทำให้ลูกค้าอยากมาใช้บริการบ่อยๆ
“จะเห็นว่า ถึงแม้สยามพิวรรธน์จะไม่ได้พัฒนาศูนย์การค้าจำนวนมาก แต่ทุกแห่งที่เราพัฒนามีความยูนีค เพราะเรามองว่า ศูนย์การค้าแต่ละแห่งเป็นตัวแทนของคนหนึ่งคน ดังนั้น ลูกค้าที่มาใช้บริการจะไม่ได้รู้สึกว่ากำลังมาเดินศูนย์การค้า แต่มาหาเพื่อน ซึ่งแต่ละแห่งจะมีบุคลิกที่แตกต่างกัน ซึ่งบุคลิกที่ว่าคือ การวางแบรนดิ้งให้กับศูนย์การค้า ซึ่งเราคิดไว้ตั้งแต่แรก” นภนิศ กล่าวและยกตัวอย่างว่า
เช่น ไอคอนสยาม คอนเซ็ปต์ คือ The best of Thailand meets the best of the world. ดังนั้น สิ่งที่พยายามนำเสนอคือ ความเป็นไทยที่มีความเป็นโกลบอล หรือ อย่างสยามดิสคัฟเวอร์รี่ แนวคิดคือ The Exploratorium ที่เปรียบเสมือนสนามทดลองพลังอำนาจแห่งความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์สุดตื่นเต้นเร้าใจ จนบางครั้งลูกค้าที่มาใช้บริการตอนแรกไม่มีโจทย์ในใจด้วยซ้ำว่าจะมาซื้ออะไร แต่พอได้ Explore ไปเรื่อยๆ กลับค้นพบสิ่งที่ต้องการ
ดังนั้น การสร้างแบรนด์ดิ้งให้กับแบรนด์ที่มีความลักชูรี่ โดยไม่ได้มองว่ากำลังตอบโจทย์ลูกค้าเจนไหน แต่มองที่ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป็นหลัก ฉะนั้นเชื่อว่า สุดท้ายแล้วศูนย์การค้าแบบ แบบ ‘Brick and Mortar’ ไม่มีวันตาย เพราะการช็อปออนไลน์ ไม่สามารถมอบประสบการณ์ได้เหมือนกับการมาเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ศูนย์การค้ามอบให้
-หรูหรายุคนี้ คือการเสพ New Experiences การใช้ชีวิตในพื้นที่ใหม่
สอดคล้องกับมุมมองของ จตุพร วงษ์ทอง ผู้ก่อตั้ง Artslonga ศิลปินผู้สร้างสรรค์พื้นที่ว่างด้วยงานศิลปะ ในบทบาท Art Consultant ให้กับโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และบริษัทชั้นนําทั่วประเทศ และเป็นเจ้าของรางวัล Asia Architecture Design Awards 2 ปีซ้อน ที่มองว่า ความลักชูรี่ในยุคนี้ ไม่ใช่เรื่องความฟุ่มเฟื่อยอีกต่อไป แต่เป็นการเสพ New Experiences หรือ การได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิตในพื้นที่ใหม่ ดังนั้นหน้าที่ของศิลปะ คือ การเติมเต็มพื้นที่ต่างๆให้ตอบโจทย์กับดีเอ็นเอของแบรนด์ พร้อมนำความคิดสร้างสรรค์เข้าไปทำให้สิ่งต่างๆ อยู่ด้วยกันแล้วเกิดความสมดุล
“Eco Luxury คือ หนึ่งในแนวทางการผสานความลักชูรี่แบบยั่งยืนไว้ด้วยกัน ยกตัวอย่าง โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ ที่โดดเด่นด้วยการออกแบบทุกส่วนด้วยแนวคิดของการร้อยพวงมาลัย และยังนำคอนเซ็ปต์ Eco Luxury มาใช้ ด้วยการนำศิลปะหรือเทคนิคพิเศษต่างๆ มาชุบชีวิตวัสดุที่กลายเป็นขยะให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง เช่น เคาน์เตอร์ไม้ในโรงแรม ที่นำไม้ที่ใช้สำหรับปูทับพื้นหินอ่อนมากรูมมิ่งด้วยฝีมือของช่างไทยที่มีความละเอียดอ่อน หรือ การนำดินที่เหลือจากการตอกเสาเข็ม มาสร้างเป็นผนังดินแตก ที่นอกจากจะเป็นผลงานศิลปะที่ให้ความสวยงาม แต่ยังทรงคุณค่า เป็นการรักษาจิตวิญญาณของพื้นที่ให้ยังคงอยู่ตลอดไปอีกด้วย”
ผลวิจัยเผย 4 การตีความ คำว่าหรูหรา
ทั้งหมดที่วิทยากรถ่ายทอดมานี้ จะเห็นว่า นิยามความลักชูรี่นั้น สามารถตีความได้หลากหลาย ซึ่งในผลวิจัย THE MOST POWERFUL BRAND IN REAL ESTATE 2024 and Consumer Insight : The Sense of Luxury and Design for Wellbeing ของ TERRABKK ที่สำรวจความคิดเห็นจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,500 คน ส่วนใหญ่ 80% อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล และอีก 20% อาศัยในต่างจังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่ตีตวามคำว่า “Luxury” ที่นอกเหนือจากความหรูหรา ความร่ำรวย สู่บริบทใหม่ที่บ่งบอกถึงคุณภาพ, ความสมบูรณ์แบบ, ความพิเศษโดดเด่น, ความพิถีพิถัน และความสะดวกสบาย สามารถแบ่งกลุ่มจากไลฟ์สไตล์และทัศนคติ ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่ม High – End Image ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ใช้ชีวิตหรูหรา รวมถึงการใช้สินค้าแบรนด์เนม ที่บ่งบอกถึงความสมดุลระหว่างความสวยงามภาพลักษณ์และการใช้งานในชีวิตประจำวัน และยอมจ่ายเพิ่ม เพื่อความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีและส่วนกลางที่ครบครัน โดยยอมเพิ่มเงิน ประมาณ 10-20%
- กลุ่ม Connoisseur มองว่า “Luxury” คือ ความพิเศษ, ความสมบูรณ์แบบที่บ่งบอกถึงความสำเร็จ เป็นกลุ่มที่มองหาสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต เช่น สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือประสบการณ์ที่หรูหรา เช่น การใช้บริการโรงแรมระดับ 5 ดาว และยอมจ่ายเพิ่มกับเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อความสะดวกสบายประมาณ 10-30% พร้อมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องความเป็นส่วนตัว ที่สามารถเพิ่มเงินได้สูงถึง 40%
- กลุ่ม Quiet Luxury มองว่า “Luxury” คือ ความเรียบง่ายและคุณภาพที่ยั่งยืน โดยชอบสินค้าคุณภาพสูง แต่ไม่เน้นแบรนด์หรูหรา ที่ใช้งานได้จริง เป็นกลุ่มที่มองหาสินค้าที่สามารถใช้งานได้ในระยะยาวและมีคุณค่าทางจิตใจ โดยยอมจ่ายเพิ่มเพื่อความเป็นส่วนตัวและนวัตกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานประมาณ 10-20% และปฏิเสธในการจ่ายเพิ่มเพื่อดีไซน์และความหรูหราที่ดูฟุ่มเฟือย
- กลุ่ม Chic Innovator มองว่า “Luxury” คือการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่และแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ชอบสินค้าแบรนด์หรูหรา สินค้าหายาก และเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด พร้อมมองหาประสบการณ์ที่หรูหราและเป็นเอกลักษณ์ ให้ความสำคัญกับการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองผ่านสินค้าแบรนด์หรูหรา โดยเป็นกลุ่มที่ไม่ยอมจ่ายเพิ่มในหลายๆ ด้าน และมองหาความสมดุลระหว่างราคากับคุณภาพ
ทั้งหมดนี้ คือ แนวคิดและมุมมองในการนำความลักซูรี่มาผสมผสานกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลก แต่สุดท้ายแล้ว หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความลักซูรี่ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง คือ การสร้างความสมดุลในทุกมิติให้เกิดขึ้น เปรียบเหมือนการต่อจิ๊กซอร์ที่ทุกองค์ประกอบต้องลงตัว จึงจะเกิดเป็นภาพที่สมบูรณ์