ม.หอการค้าไทย จัดโครงการ ‘แคมป์เด็กหัวการค้า’ ครั้งที่ 11 เปิดพื้นที่เยาวชนพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ

ม.หอการค้าไทย จัดโครงการ ‘แคมป์เด็กหัวการค้า’ ครั้งที่ 11 เปิดพื้นที่เยาวชนพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ

เพราะคนรุ่นใหม่คือกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดโครงการ ‘แคมป์เด็กหัวการค้า’ ปีที่ 11 เปิดพื้นที่ให้เยาวชนแข่งขันไอเดียธุรกิจ ปลุกพลังสตาร์ทอัพรุ่นเยาว์  โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่

 

 

เยาวชนคนรุ่นใหม่ คือ ผู้ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวันข้างหน้า อนาคตเศรษฐกิจประเทศจะสดใสหรือไม่ จึงย่อมขึ้นอยู่กับการเพาะบ่มเหล่าต้นกล้าเยาวชนเหล่านี้ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งเท่าทันโลก  โดยเฉพาะการเติมวิทยาการความรู้ การสร้างสรรค์ทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม การทำธรกิจควบคู่ไปกับการใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน ทำให้หลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือ สถาบันการศึกษา เปิดพื้นที่ให้เยาวชน ได้แข่งขันไอเดียธุรกิจ ร่วมกันสร้างระบบนิเวศเอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดโครงการ ‘แคมป์เด็กหัวการค้า’ ครั้งที่ 11 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้แนวคิด ‘Business Sandbox’ เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ทดลองพัฒนาแนวคิดธุรกิจในรูปแบบสตาร์ทอัพ โดยได้รับความสนใจจากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศกว่า 300 คน สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของเยาวชนไทยที่ต้องการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่

 

 

 

 

Business Sandbox ที่เปิดโอกาสให้เยาวชน

สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ เต็มรูปแบบ 

วุทธินันท์ อ๊อกกังวาน รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า โครงการแคมป์เด็กหัวการค้าเป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดมาจากโครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นเล็ก (เด็กหัวการค้า) ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยปีนี้ได้ปรับรูปแบบให้เป็น Business Sandbox ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์การสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยมีกิจกรรมที่เข้มข้นตลอด 2 วัน 1 คืน โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมในรูปแบบ Hackathon ที่กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาทักษะการคิดเชิงนวัตกรรมและการแก้ปัญหาภายใต้เงื่อนไขเวลาที่จำกัด ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน

 

 

นำ AI ประยุกต์ใช้ในการบริหารธรกิจ

สิ่งที่เยาวชนต้องเรียนรู้และเข้าใจ 

ดร.รวิดา วิริยกิจจา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ กล่าวถึงแนวโน้มการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการสร้างและบริหารธุรกิจว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล 

“จากการสังเกตผลงานของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เห็นได้ชัดว่ามีความเข้าใจและสามารถบูรณาการ AI เข้ากับแนวคิดธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะการนำ AI มาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้นให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล”

 

 

กล้าคิด -กล้าทำ ไม่เพียงผลกำไร

ธุรกิจต้องตอบโจทย์แก้ปัญหาสังคม- สิ่งแวดล้อม

ด้าน ดร.ศุภสัณห์ ปรีดาวิภาต คณบดีวิทยาลัยผู้ประกอบการ แสดงความชื่นชมศักยภาพของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ว่า รู้สึกประทับใจความกล้าคิดกล้าทำของเยาวชนที่นำเสนอไอเดียธุรกิจที่ไม่เพียงแต่สร้างผลกำไร แต่ยังคำนึงถึงการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมที่ชนะเลิศในปีนี้ ที่นำเสนอนวัตกรรมแปรงสีฟัน Bio Sensor ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและการแก้ปัญหาสุขภาพในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว 

“เหล่านี้คือตัวอย่างที่ดีของการสร้างธุรกิจที่มี Social Impact ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวทางที่วิทยาลัยผู้ประกอบการของเราให้ความสำคัญและส่งเสริมมาโดยตลอด เชื่อว่าเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอันใกล้”

 

 

 

 

แข่งขันไอเดียธุรกิจ ทีมรางวัลชนะเลิศ

นวัตกรรมแปรงสีฟัน  Bio Sensor ตรวจจับเชื้อโรคในช่องปาก

ทั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญของงานคือการแข่งขันนำเสนอไอเดียธุรกิจ ซึ่งทีม ‘หวานเจี๊ยบ’ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศด้วยนวัตกรรมแปรงสีฟัน Bio Sensor นายเลิศฟ้า สุขารมณ์ CEO ของทีม เปิดเผยว่า แนวคิดเริ่มจากการระดมสมองเพื่อพัฒนาแปรงสีฟันที่สามารถตรวจจับเชื้อโรคและแบคทีเรียในช่องปากได้ด้วย Bio Sensor พร้อมส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปยังแอปพลิเคชัน นวัตกรรมนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสามารถต่อยอดเป็นข้อมูลสำหรับทันตแพทย์ในการวางแผนการรักษาได้

ทีมหวานเจี๊ยบ ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน ได้แก่ นายเลิศฟ้า สุขารมณ์ (ใบหยก) CEO จากโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม นายภูวิชัย วิทิตวรโชติ (ซีเกมส์) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นายพอเพียง ดวงจินดา (ปัง) โรงเรียนสารสาสน์วิเทศธนบุรี นางสาวศิรินันท์ ทะวีชัย (ฝน) โรงเรียนนารีวุฒิ และนายธนธร บุ้งทอง (แม็ก) โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม โดยทีมได้รับรางวัลพร้อมโอกาสในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจกับผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุน

 

 

ระบบนิเวศต้องเอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ทั้งนี้ โครงการแคมป์เด็กหัวการค้าปีที่ 11 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2567 กิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษโดยนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เวิร์คช็อปฝึกทักษะการเป็นนักธุรกิจ กรณีศึกษาธุรกิจ กิจกรรมระดมสมอง และการ Pitching ไอเดียธุรกิจ 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Networking ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมถึง Mentor จากกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าไทย มาร่วมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด 

โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แลคตาซอย จำกัด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เยเนอรัล แคนดี้ จำกัด

“ความสำเร็จของโครงการในปีนี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทย แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง และพัฒนาผู้ประกอบการที่มีคุณภาพให้กับประเทศต่อไป” วุทธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย