สถาบันไทยพัฒน์ เปิดผลสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการไทยในปี 2567 พบ 930 ราย เปิดเผยข้อมูลต้านทุจริตสูงสุด ไทยติด 1 ใน 7ของโลกเปิดข้อมูลของ KPMG ส่วนข้อมูล ESG อันดับหนึ่งเน้นเผยโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท ด้านการตอบสนองต่อ SDGs ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศมาแรงในองค์กรไทย
นับตั้งแต่ที่สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ริเริ่มจัดทำแนวทางการประเมินระดับการรายงานความยั่งยืนของกิจการ ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่สนใจทั่วไป เผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานที่นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในรูปของการจัดทำรายงานความยั่งยืน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ลงทุนในแวดวงตลาดทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ของกิจการ
ความริเริ่มดังกล่าว ได้นำไปสู่การพัฒนาเป็นโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการจัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัท ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ด้วยการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน ครอบคลุมกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมถึงกลุ่มบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ถึงปี พ.ศ.2561 เป็นเวลา 6 ปีเต็ม
ตั้งประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน
ในปี พ.ศ.2562 สถาบันไทยพัฒน์ เป็นองค์กรพันธมิตรกับ มาตรฐาน GRI Certified Training Partner ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ได้ยกระดับการส่งเสริมการเผยแพร่การดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกิจการ ไปสู่การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่ไม่จำกัดเฉพาะที่เป็นรูปเล่มรายงาน แต่ครอบคลุมไปสู่รูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ อินโฟกราฟิก ฯลฯ โดยจัดตั้งเป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในชื่อว่า “ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน” หรือ “Sustainability Disclosure Community” เพื่อให้สมาชิกได้มีเวทีที่นอกจากจะใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ ยังสามารถใช้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนระหว่างกันด้วย
การจัดตั้งประชาคมขึ้นเพื่อต้องการขับเน้นและรักษาบทบาทการเป็นผู้นำของภาคเอกชนไทย ต่อการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั้งในประชาคมระดับภูมิภาคและระดับสากล รวมทั้งเพื่อช่วยองค์กรยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงความสำคัญของการการจัดตั้งประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน สอดคล้องกับที่องค์การสหประชาชาติ ที่ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ที่ภาคธุรกิจต้องขับเคลื่อนไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเป้าหมายข้อที่ 12.6 ที่มีสาระสำคัญต้องการทำให้ บริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทข้ามชาติ ได้นำเรื่องความยั่งยืนเข้าไปขับเคลื่อนเป็นกลยุทธ์ และมีการจัดทำรายงานเป็นรูปเล่ม
ทำไมต้องรายงานความยั่งยืน?
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยแรกเพราะสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกกฎหมายบางอย่าง เช่น CSDDD กำหนดให้ บริษัทในข่ายเปิดเผยข้อมูลตาม EU ส่งผลกระทบไม่ใช่แค่อียูเท่านั้นแต่อย่าลืมว่าการค้าขายทุกวันนี้เป็น Value Chain
ฉะนั้นบริษัทใน EU ที่เป็นบริษัทแม่จะมีข้อนโยบายต่างๆลงมาเยอะมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานก็จะตรงกับบ้านเราที่ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน เช่น ทุกวันนี้ เวลาเดินเข้าไปบริษัทก็จะมีคนถามว่าขอดูข้อมูลความยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถ้าเราอยู่ในอุปทานหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบ โอกาสที่จะค้าขายกับนานาชาติจะลดลง ฉะนั้นจะเห็นว่าไม่ใช่แค่ภาคประชาคมกดดันเหมือนเมื่อก่อนที่ทำเรื่อง CSR แต่จะเป็นเรื่องกฎระเบียบการค้า ถ้าหากไม่ทำอาจจะค้าขายไม่ได้
การเปิดเผยข้อมูลต้องเปิดเผยการลงทุน และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ดังนั้นจึงต้องมีการรวมตัว เพื่อช่วยกันจัดทำมาตรฐานเปิดเผยข้อมูล ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลหลักใหญ่ 2 ด้านคือ 1.โฟกัสที่นักลงทุน (Investor) 2.ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholder) ต้องไม่สนใจเฉพาะเม็ดเงินลงทุน ผลประกอบการ แต่ต้องดูตลอดจน ผลดำเนินธุรกิจ มีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร โลกเป็นอย่างไร สามารถช่วยโลกลดอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายความตกลงปารีสได้หรือไม่ ที่กล่าวมาเป็นสาระสำคัญที่บริษัทต้องมองต่อโลก และเปิดเผยข้อมูล
การเปิดเผยข้อมูล เครื่องมือ เช็กการฟอกเขียวธุรกิจ
การเปิดเผยข้อมูลอาจนำมาสู่การพบพฤติกรรมการฟอกเขียวธุรกิจ หรือ Green Washing โดยดูได้จากข้อมูลด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งขอบเขต 1-2-3 ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ สามารถช่วยมีส่วนในการพิจารณาบ่งชี้พฤติกรรมการฟอกเขียวของที่เกิดขึ้นในธุรกิจ จาก 2 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก การรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission) ไม่ครอบคลุมทั้งขอบเขต เช่น องค์กรมีโรงงานอยู่ 5 แห่ง แต่กลับแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์จากโรงงานเดียว โดยที่ไม่แสดงข้อมูลอีก 4 โรงงาน จึงทำให้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีจำนวนน้อยอย่างผิดปกติ ส่งผลทำให้ผู้ที่ไม่ตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกอาจจะเข้าใจว่า องค์กรปล่อยมลพิษน้อย เพราะเป็นเพียงการเลือกเปิดเผยข้อมูลบางส่วนไม่ครอบคลุมทั้งขอบเขต
ประเด็นที่สอง คือ แม้ว่ามีการเปิดเผยข้อมูลอย่างครอบคลุม แต่ใช้ค่าการคำนวณหรือหลักเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ไม่ตรง กับสิ่งที่ควรจะรายงาน เช่น เชื้อเพลิงควรจะมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านี้ แต่เมื่อรายงานอาจจะหลบเลี่ยงนำการคำนวณค่าอื่น ๆ เพื่อทำให้ผลลัพธ์ของการปล่อยเชื้อเพลิงไม่เกินไปจากมาตรฐานที่กำหนด
“การเปิดเผยข้อมูลทำให้ช่วยพิจารณา เมื่อองค์กรแสดงเจตนารมณ์ว่าเขามีความโปร่งใส แต่ข้อมูลหรือเนื้อหาที่เปิดก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีความเชื่อมั่นของข้อมูลว่า ที่เปิดเผยมานั้น ตรงตามความเป็นจริง หรือมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ท้าทายกับบริษัทที่เลือกจะเปิดแต่ด้านดี แต่เลือกปิดด้านไม่ดี นี่จึงเป็นรูปแบบนี้ของการฟอกเขียว ที่ทำให้สังคมช่วยจับตา”
หลายองค์กรอยากพัฒนาตนเอง ขึ้นเป็นผู้นำ และเป็นที่จดจำ
ทั้งนี้ในตลาดทุนไม่ว่า จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือตลาดรองในตลาดหุ้นไทย (MAI) จะขับเคลื่อนด้านการเปิดเผยข้อมูล โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ จุดแข็งของไทยพัฒน์ ถือเป็นองค์กรที่3 (Third Party) ที่เป็นพันธมิตร กับ GRI ซึ่งก็เป็นองค์กรจัดทำมาตรฐานเรื่องการรายงานการเปิดเผยข้อมูลระดับโลก ที่ยอมรับในมาตรฐานด้านความยั่งยืน เช่นเดียวกันกับ ISO ถือว่ามีคุณภาพ และมีความเชี่ยวชาญ ที่เมื่อสมัครเข้ามาจะช่วยให้บริษัทยกระดับตัวเองในข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น
“เรากำลังพูดถึงฐานธุรกิจจำนวนหนึ่งที่อาจมีประมาณ 3-5 ล้านราย จะมีส่วนที่เป็นขั้นต่ำ บรรทัดฐานที่บริษัทเปิดเผยได้ แต่ว่าในทางเป็นจริงจะพบว่า ทุกบริษัทก็ไม่อยากหยุดนิ่ง อยากพัฒนาตนเอง ยกระดับไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีองค์กร หรือหน่วยงานที่พยายามตอบรับการยกระดับตรงนี้ ด้วยการให้ข้อมูลที่มากกว่าบรรทัดฐาน อยู่ที่ความสมัครใจของบริษัท เพราะทุกวันนี้บริษัทก็อยากจะขึ้นมาเป็นแถวหน้า เป็นที่รู้จัก เป็นที่จดจำ สถาบันฯ ก็จะเป็นการช่วยให้องค์กรเป็น Third party ในการทำ Recognize บริษัท”
ไทย 1 ใน 7 ประเทศของโลก
เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนครบ 100%
ภาพรวมของการเปิดเผยข้อมูลรายงานความยั่งยืน ไทยถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับต้นๆ ของโลก แม้ความรู้สึกคนทั่วไปอาจมองว่าบริษัทไทยไม่ได้ดีเด่นกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ผลการประเมินจาก บริษัทที่ปรึกษา KPMG ได้ทำการสำรวจเรื่องการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนกับบริษัทระดับโลก ที่ทำการสำรวจทุก ๆ 2 ปี ปรากฎว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 7 ประเทศของโลก ที่มีการเปิดเผยข้อมูลครบ 100% และเป็น 1 ใน 2 ประเทศ คือไทยและญี่ปุ่นที่ดูข้อมูลการรายงานแล้ว ทุกเล่มที่สำรวจจะมีข้อมูลความยั่งยืนในทุกกิจการ
ผลสำรวจกิจการ 930 ราย
ทั้งนี้สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2561 ขณะนั้นมีประชากรในกลุ่มสำรวจจำนวน 100 ราย และได้ทยอยเพิ่มกิจการที่ทำการสำรวจเรื่อยมาเป็นลำดับ จนในปีปัจจุบันมีกิจการที่ได้ทำการสำรวจ อยู่จำนวน 930 ราย
วัตถุประสงค์ของการสำรวจนี้ เป็นไปเพื่อต้องการประมวลพัฒนาการด้านความยั่งยืนของธุรกิจไทย สะท้อนผ่านผลสำรวจของกลุ่มกิจการที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั้งในมุมมองที่สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานสากล (GRI) การคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ในบริบทของกิจการ
นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ผลการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 930 ราย พบว่า ในปี 2567 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.13 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีก่อนหน้าที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.53 คะแนน (ปี 2566 จากการสำรวจ 904 ราย) และ 2.46 คะแนน (ปี 2565 จากการสำรวจ 854 ราย)
บริษัทไทยเปิดเผยเรื่องต้านทุจริตสูง
ด้านนางสาววีรญา ปรียาพันธ์ ผู้อำนวยการ ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ การต้านทุจริต (83.33%) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (73.33%) และการจ้างงาน (71.29%)
ขณะที่ประเด็นด้าน ESG ที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท (87.10%) จริยธรรมและการต้านทุจริต (85.38%) และความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท (78.92%) ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
กว่า 61% ของกิจการที่สำรวจยังไม่มีการประเมินสาระสำคัญ
นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า ผลสำรวจเรื่องการประเมินสาระสำคัญ (Materiality Assessment) เพื่อระบุประเด็นความยั่งยืนสำหรับการดำเนินงานและการรายงานของกิจการ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า 61% ของกิจการที่ถูกสำรวจ ยังไม่มีการประเมินสาระสำคัญ ส่วนกิจการที่มีการประเมินสาระสำคัญมีจำนวน 37% และมีเพียง 2% ที่มีการประเมินสาระสำคัญสองนัย (Double Materiality Assessment)
โดยในจำนวน 2% นี้ กลับพบว่า มีกิจการถึง 4 ใน 5 แห่ง ที่ยังมีการประเมินสาระสำคัญสองนัย ไม่สอดคล้องตามหลักการที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่องค์กรผู้จัดทำรายงานให้สามารถประเมินได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้สถาบันไทยพัฒน์ ยังจัดพิธีมอบรางวัล Sustainability Disclosure Award ประจำปี 2567 ให้แก่องค์กรสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอันประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ โดยรางวัลที่มอบให้กับองค์กรในปีนี้ ประกอบด้วย Sustainability Disclosure Award จำนวน 58 รางวัล Sustainability Disclosure Recognition จำนวน 57 รางวัล และ Sustainability Disclosure Acknowledgement จำนวน 29 รางวัล รวมทั้งสิ้น 144 รางวัล