ถอดความสำเร็จ นกกระเรียนคืนถิ่น หลังสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว 50 ปี กลับมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของบุรีรัมย์ พื้นที่ชุ่มน้ำ ปลอดภัยไร้สารเคมี เกษตรอินทรีย์ ตัวอย่างคนอยู่ร่วมกับสัตว์และธรรมชาติ
นกกระเรียนไทยเคยสูญพันธุ์จากธรรมชาติไปแล้วกว่า 50 ปี ปัจจุบันกลับคืนถิ่นประเทศไทยอีกครั้ง ภาพของนกกระเรียนคอยาว ลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวไม่มีขนแต่มีลักษณะเป็นตุ่มหนังสีส้มหรือสีแดงสด ขายาวสีแดงอมชมพู กำลังบินร่อนอยู่บนท้องฟ้า ในเขตศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทยจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณริมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก
นับเป็นความสำเร็จของโครงการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างประเทศไทยกับมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (International Crane Foundation) นำนกกระเรียนสายพันธุ์ Sarus Crane สายพันธุ์ย่อยที่พบในอินโดจีน และที่เคยพบในประเทศไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน มาเลี้ยงดูอยู่ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าบางพระ ชลบุรีจำนวน 6 ตัว เมื่อปี พ.ศ. 2525
จนกระทั่งต่อมาในปี 2533 สวนสัตว์นครราชสีมา เริ่มขยายพันธุ์แบบธรรมชาติ และการผสมพันธุ์เทียม จากจำนวนพ่อแม่พันธุ์ตั้งต้นจำนวน 33 ตัว ได้ลูกนกที่รวมพ่อแม่พันธุ์ในกรงเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 100 ตัว ภายในปี 2552
ข้อมูลจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร รายงานว่า แม้การเพาะขยายพันธุ์จะสำเร็จ แต่เป้าหมายหลักไม่ใช่การเพิ่มจำนวนของลูกนกในกรง แต่เป็นการพานกกระเรียนพันธุ์ไทยให้กลับมาโบยบินในธรรมชาติอีกครั้ง ปี 2554 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และสวนสัตว์โคราช ได้ปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งแรกตามอนุสัญญาแรมซาร์ จำนวน 10 ตัว เป็นลูกนกกระเรียนอายุประมาณ 1 ปี โดยพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมคือ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 2 พื้นที่ ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของนกหลายชนิด เป็นแหล่งอาศัยและอาหารที่มั่นคงตลอดปี และมีภาพถ่ายยืนยันว่า จังหวัดบุรีรัมย์เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในอดีต
จากการปล่อยลูกนกในปีนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะลูกนกอยู่รอดได้ประมาณ 1-2 ปีเท่านั้น เนื่องจากเป็นการปล่อยลูกนกครั้งแรก องค์ความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ของนักวิจัยจึงมีไม่เยอะมาก ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในปีนั้น ทำให้การติดตามทำได้ยากขึ้นจึงไม่สามารถเข้าไปดูแลลูกนกได้
โครงการได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในทุก ๆ ปีจะปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยประมาณ 10-15 ตัวทยอยปล่อย เรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีราวร้อยกว่าตัว โอกาสรอดของลูกนกเริ่มสูงขึ้น อยู่ที่ 70%
ย้อนรอยนกกระเรียนหายไปตอนไหน?
ข้อมูลจากศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทยจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า ในอดีตมีบันทึกเกี่ยวกับการพบนกกระเรียนเป็นจำนวนมากตามทุ่งนาและหนองน้ำของประเทศไทย เช่น บันทึกเรื่อง “ลานนกกระเรียน” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่กล่าวถึงการพบเห็นการวางไข่ของนกกระเรียนนับหมื่นตัว บริเวณทุ่งมะค่า จังหวัดนครราชสีมา
แต่หลังจากนั้นนกกระเรียนที่สามารถพบเห็นได้โดยง่ายกลายเป็นนกหายาก ในปี พ.ศ.2488 มีบันทึกการพบนกกระเรียนพันธุ์ไทยบินเป็นฝูงผ่านบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นพบเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย ทะเลสาบสงขลา จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสระบุรี และวัดไผ่ล้อม จังหวัดปทุมธานี
จนกระทั่งปี พ.ศ.2511 มีผู้พบลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติ 2 ตัว บริเวณชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา จังหวัดสุรินทร์ โดยลูกนกกระเรียนตัวหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เลี้ยงไว้ และตายในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2527 หลังจากนั้นไม่มีรายงานการพบเห็นนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติอีกเลย
ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยเริ่มพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประชาชนต้องการพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้นจึงเกิดการคุกคามและเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำไปเป็นพื้นเกษตรเชิงพาณิชย์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นอาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทย ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่เคยอยู่อาศัย ทำรังวางไข่ลดจำนวนลง จนกระทั่งนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แล้ว
ทำไมบุรีรัมย์ถูกเลือกเป็นพื้นที่ปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติ?
เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำสองพื้นที่ของบุรีรัมย์ เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารที่มั่นคง แต่อย่างไรก็ตาม ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวบ้านมีส่วนสำคัญในการดูแลนกกระเรียนไปพร้อมกับการประกอบอาชีพ เกษตรอินทรีย์กลายมาเป็นแนวทางที่เชื่อมโยงการอนุรักษ์นกกระเรียนกับวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน เมื่อชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญของนกกระเรียน ทำให้แนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ได้ริเริ่มและขยายผลมากขึ้น
เกษตรกรบุรีรัมย์ ได้ลดใช้สารเคมีในแปลงนา ทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมในการเป็นแหล่งอาหารของนกกระเรียน เปลี่ยนจากการล่า เป็นการปกป้อง จนในปัจจุบันนกกระเรียนไม่ใช่แค่สัตว์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่เป็นเสมือนลูกหลานที่ต้องดูแล นาผืนไหนที่นกกระเรียนไปเยือน เป็นดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางธรรมชาติในพื้นที่ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ที่อยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยกันและกัน
นกกระเรียนพันธุ์ไทย แอมบาสเดอร์ บุรีรัมย์
นายณัฐวัฒน์ แปวกระโทก นักวิชาการสวนสัต ว์สำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า องค์กรสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้เพาะพันธุ์ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทย จากสวนสัตว์นครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์เพาะเลี้ยงที่ใหญ่ ปัจจุบันมีพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 100 กว่าตัว หลังจากเพาะพันธุ์ออกมาแล้วก็ทำการเลี้ยงด้วยเทคนิค มนุษย์สวมชุดหุ่น เลียนแบบพ่อแม่นก แล้วก็เข้าไปเลี้ยงลูกนก โดยไม่ได้ให้พ่อแม่เลี้ยง แต่นักวิจัยเข้าไปเลี้ยง ปิดหน้าปิดตา ใส่ชุด เข้าไปดูแลน้อง เหตุผลคือ เราไม่อยากให้นกคุ้นชินกับพี่เลี้ยง ต่างจากนกเลี้ยงทั่วไปที่พี่เลี้ยงจะเลี้ยงตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ แดง ๆ ป้อนไซริงอาหาร โตมาเกาะแขนเกาะขาเรา แต่นี่คือสัตว์ที่เราอยากจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ให้เขาอยู่ในธรรมชาติ จึงไม่อยากให้เขาคุ้นชินกับพี่เลี้ยง จึงใส่ชุดเลียนแบบพ่อแม่เขา
จากข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่ปี 2554 มีการปล่อยนกกระเรียนกลับคืนสู่ธรรมชาติไปแล้ว 166 ตัว จนถึงปัจจุบันสามารถติดตามประชากรหลังปล่อยได้ประมาณ 120 ตัว ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องพบนกกระเรียนรอดเหลือในธรรมชาติ 70%
ความท้าทายสภาพอากาศ ความเสี่ยงนกกระเรียนวางไข่ไม่ได้
นายณัฐวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมา มีการเก็บข้อมูลการอาศัยอยู่ของนกกระเรียนในพื้นที่ธรรมชาติมาต่อเนื่อง แต่ปี 2563 เราเผชิญสภาวะภัยแล้งต่อเนื่อง 2 ปี พื้นที่ชุ่มน้ำไม่มีน้ำเลยเนื่องจากฝนไม่ตก ทำให้นกกระเรียนไม่สามารถวางไข่ได้ เพราะไม่มีความชื้น หรือน้ำมาเป็นตัวกระตุ้นช่วยเรื่องระบบสืบพันธุ์ ทำให้เขาไม่ทำรังวางไข่ นับเป็นสัญญาณเตือนที่อันตรายมาก ไม่ใช่แค่นกกระเรียน แต่ยังรวมถึงนกน้ำ สัตว์ต่าง ๆ ที่ใช้ปัจจัยขากฤดูฝนกระตุ้นให้เกิดการสืบพันธุ์ แต่โชคดีที่ปีต่อๆ มา สภาวะแวดล้อมกลับเข้าสู่ปกติ แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าถ้าเกิดขึ้นอีกในอนาคตอาจกระทบสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ สายพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวงกว้าง
ปล่อยนกไปแล้ว ไม่ได้จบ
ทางรอดนกกระเรียนต้องพึ่งพาคนท้องถิ่น
นักวิชาการสวนสัตว์กล่าวอีกว่า การปล่อยนกกระเรียน เราปล่อยไปแล้วไม่ได้จบไป เราต้องมีการติดตาม พื้นที่ที่เราปล่อยไปส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับพื้นที่เกษตรกรรม กว่า 80% เป็นเกษตรกรรมแบบนาข้าว ซึ่งนาข้าวถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น นกมาทีหลัง เราจะไปเปลี่ยนให้ชาวนาหยุดทำนาเพื่อให้นกอาศัยอยู่ไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนกับนกอยู่ร่วมกันได้ ก็เลยได้มีการให้ข้อมูลร่วมกับชาวนาถึงวิธีการปรับตัวเข้าหากัน โดยชาวนาทำเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับรูปแบบสู่เกษตรอินทรีย์มากขึ้น มีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ ให้ความรู้เกษตรกร การสร้างแบรนด์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ พร้อม ๆ กับอยู่ร่วมกับความหลากหลายทางธรรมชาติ
การอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยนั้นมีความสัมพันธ์กับพื้นที่นาข้าวและชาวนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การพัฒนาชุมชนผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ การเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม การพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของข้าวอินทรีย์ จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเคมีให้เป็นเกษตรอินทรีย์ และมีการพัฒนากลุ่มชุมชนนำร่องเพื่อพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบการผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย
เชื่อมโยงเกษตรอินทรีย์ “ข้าวสารัช”
องค์การสวนสัตว์ได้พัฒนากลุ่มชุมชนนำร่องกลุ่มแรกคือ “กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ” ซึ่งมีนายทองพูน อุ่นจิตต์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกประมาณ 80 คน รวมพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิบริเวณตอนบนของพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากราว 1,500 ไร่ เป็นบริเวณแรกที่มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติและเป็นพื้นที่ตั้งโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ
นายทองพูน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากคนในครอบครัวป่วยสุขภาพย่ำแย่ จึงได้หันมาทดลองทำการเกษตรแบบลดการใช้สารเคมี แต่ยังคงทำภายในพื้นที่เกษตรของตนเองเท่านั้น และมีจัดจำหน่ายข้าวของตนเองภายใต้สัญลักษณ์ทางการค้าที่ชื่อว่า “ข้าวอุ่นจิตต์” เมื่อองค์การสวนสัตว์ได้พัฒนากลุ่มชุมชนนำร่องและชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ จึงได้จดจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านสวาย เพื่อส่งเสริมการขายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวอินทรีย์ จากที่ทำในครัวเรือน ตอนนี้เริ่มพัฒนาขยายจนปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านสวายมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมมะลิภายใต้ “แบรนด์ข้าวสารัช” (SARUS RICE) ซึ่งมาจากชื่อทั่วไปของนกกระเรียนพันธุ์ไทย และพัฒนาชุมชนให้เป็นสู่หมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นสัญลักษณ์ มีการทำ “เถียงนาเชฟเทเบิล” เสริ์ฟอาหารท้องถิ่น โดยมีวัตถุดิบมาจากเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ
สมัยก่อนดูนกกระเรียนต้องไปดูที่ต่างประเทศ
ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ กล่าวว่า ในวงการอนุรักษ์ ความสำเร็จของนกกระเรียนเป็นโครงการระดับโลก การเพาะเลี้ยงในสวนสัตว์เป็นอีกเรื่องนึง แต่การเอาสัตว์กลับมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แล้วอยู่ได้ เป็นอีกเรื่อง เพราะกว่าจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาตินั้นมีการคัดเลือกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อดูว่าพื้นที่ไหน ถ้าปล่อยแล้วนกจะอยู่ได้ สุดท้ายบุรีรัมย์กลายเป็นพื้นที่ถูกเลือก
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการปรับสภาพดิน มีการทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้นกกระเรียนอาศัยอยู่ได้ ผมคิดว่านี่คือตัวอย่างทางออกที่ดีมาก ๆ คำถามคือจะขยายผลได้อย่างไร จะทำให้เป็นประเด็นหลักได้อย่างไร กลายเป็นตัวอย่างของ Nature Positive จากที่เราสูญเสียนกกระเรียนไปแล้ว 50 ปี วันนี้สามารถเอากลับมาได้
“สมัยเมื่อผมเริ่มดูนก 30 ปีที่แล้วเมื่อพูดถึงนกกระเรียนพันธุ์ไทย ไม่มีโอกาสดูเพราะไม่มีเหลือในธรรมชาติแล้ว ถ้าอยากไปดูต้องไปดูที่อุทยานแห่งชาติเวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ แต่ ณ วันนี้ กลายเป็นความจริงแล้วที่นกกระเรียนกลับมา”
พื้นที่นี้มีความพิเศษจริง ๆ เป็นพื้นที่ตัวอย่างว่าเราสามารถฟื้นฟูธรรมชาติกลับคืนมาได้ ถ้าใครติดตาม เวทีอนุรักษ์ระดับโลก หลายคน คุ้นเคยกันอยู่แล้วว่าเรามีเป้าหมาย Net Zero เราจะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ไม่ปล่อยคาร์บอนให้ได้ แต่ นั่นแค่วิกฤตเดียว เพราะโลกเรากำลังเผชิญกับ 3 วิกฤตหลัก ๆ คือ
- เรื่องของโลกร้อน ซึ่งนานาประเทศก็มีพันธกิจร่วมกันแล้วว่าจะต้องร่วมกันปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ให้ได้
- ขยะ และมลพิษเป็นส่วนหนึ่งของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เราอยากจะลดปัญหาขยะให้ได้มากที่สุด พยายามคัดแยก เพื่อนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิล
- วิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นกกระเรียนเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งว่าเราเคยมีอยู่ แต่มันหมดไป
“ทั้ง 3 วิกฤต ทั่วโลกบอกว่าถึงเวลาแล้ว เราไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้แน่ๆ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ตอนนี้ทั่วโลกตกลงกัน เป้าหมาย Nature Positive ไม่ใช่แค่ลดผลกระทบอย่างเดียว แต่ทำอย่างไรที่เราจะฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพนั้นได้”
ดร.เพชร กล่าวต่อว่า บุรีรีมย์ เป็นพื้นที่ Nature Positive ที่ชัดที่สุด ก่อนหน้าจะมีการอนุรักษ์จัดการพื้นที่เมื่อก่อนมีฉายาว่า “บุรีรัมย์ ตำน้ำกิน” อีสานบ้านเราประสบปัญหากับความแห้งแล้งมายาวนาน หลายพื้นที่ประสบภาวะต้องหาแหล่งน้ำ ด้วยการขุดหลุม ให้น้ำซึมออกมา ถึงวันนี้อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และอ่างเก็บน้ำสนามบิน ได้รับการฟื้นฟู การเห็นภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ เห็นนกน้ำหลายชนิด มีการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูจนนกกระเรียนกลับมา นกกระเรียนบินออกไปใช้พื้นที่รอบนอกได้ ถ้าพื้นที่มีสารเคมี ยาฆ่าแมลง เขาอยู่ไม่ได้ ถ้าจะให้เขาอยู่ได้ คนก็ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
“พอพูดถึงนกกระเรียน ผมคิดว่าเป็นตัวแทนสำคัญที่สุดเลยของสิ่งที่เรามักจะพูดกันบ่อย แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพ เวลาไปอ่านติดตามข่าวสิ่งแวดล้อม จะพบว่า วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ วิกฤตการสูญพันธุ์ แต่สำหรับคนทั่วไป เวลาพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว สัตว์สูญพันธุ์แล้วยังไง?
แต่ความจริงงานวิจัยบอกว่า การที่ระบบนิเวศจะดำรงอยู่ได้ ต้องอาศัยในเรื่องของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต นกกระเรียนเป็นตัวแทนที่ดี เขาเป็นนกตัวใหญ่ เห็นได้ชัดว่ามีเสน่ห์มากมาย อย่างโมเดลที่คล้ายๆ กับไทย คือการดูแลนกในกัมพูชา ที่นั่นมีนกน้ำขนาดใหญ่ชนิดนึง ชื่อนกช้อนหอย เริ่มแรกจ้างชาวบ้านล่านก เก็บไข่นก คอยรายงานผล ได้รับการจ้างงานเลย เป็นอีกโมเดลนึง ที่เป็นความภาคภูมิใจ ที่กัมพูชาก็ขยายผลสู่การทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า”