สถานการณ์โลกเดือดกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศไทย ในการเสวนาTDRI 2024 เสนอแนวทางการปรับตัวรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต โลกรวน ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน สร้างภูมิคุ้มกัน ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ประชาชนมีปัญญา ความคิด พร้อมปรับตัวรับมือนำการเมือง เสนอภาครัฐวางระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ เตรียมพร้อมลดผลกระทบ
สถานการณ์โลกร้อนกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ของโลก จนนำไปสู่จุด โลกเดือด รวมถึงประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วมหนัก และภัยแล้งรุนแรง แม้ประเทศไทยจะลดอันดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอันดับที่ 19 มาอยู่ที่อันดับ 20 กว่า แต่การได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลับอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ย่อมเป็น ‘กลุ่มคนเปราะบาง’ และ ‘เศรษฐกิจฐานราก’ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ภูมิคุ้มกัน
ดังนั้นเมื่อภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัว จึงต้องลุกขึ้นมาจัดการ ด้วย ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ สร้างคนฐานรากเข้มแข็ง ปรับตัวพร้อมรับมือภัยธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนในสังคมไทย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ฯลฯ ต้องหารือเร่งการหามาตรการช่วยเหลือเพื่อสร้างความตระหนักและการปรับตัวให้กับสังคม สามารถรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต
ทั้งนี้ ในงานเสวนาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI 2024 หัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด”
พม. เคลื่อนข้อตกลงปารีส In Action คู่ขนาน อุ้มคนเปราะบาง
วราวุธ ศิลปอาซา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พม. กำลังดำเนินการภายใต้ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นลดการปลดปล่อยก๊าซ เรือนกระจกระยะยาว ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ระดับเอเชีย เพื่อปรับนโยบายของแต่ละภาคส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น
เช่น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2567 เกิดฝนตกหนักดินโคลนถล่มที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
“เมื่อก่อนมีแค่น้ำ ตอนนี้มันไม่ใช่แค่น้ำแล้ว ปัจจุบันกลับมีโคลนและขี้เลนปนมาด้วย สะท้อนถึงการลดลงของพื้นที่สีเขียวในภูมิภาคนี้ จากฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ดินเปิดโล่งส่งผลให้เกิดการกัดเซาะและไหลท่วมด้วยดิน”
นอกจากนี้ยังรวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านการรับมือกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมาก ดังที่ในกรุงเทพมหานครเมื่อช่วงต้นปี 2567 ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับความร้อนที่ไม่เคยพบมาก่อน
“การปรับตัวต่อสภาพอากาศเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่รูปแบบการสร้างบ้านอาจต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตั้งรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะต้องสร้างบ้านแบบไหน จะสร้างบ้านติดดิน หรือจะสร้างบ้านแบบยกสูงขึ้นมาแบบคนไทยสมัยก่อน มีเรือที่ผูกติดไว้ใต้บันไดบ้าน”
ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์คือคนที่จะต้องแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นเพราะมนุษย์รุ่นก่อนๆ สร้างไว้ ‘วราวุธ’ กล่าว
“ผมจะชอบเปรียบเทียบสถานการณ์เหมือนกับว่าเรานั่งอยู่บนกิ่งไม้ แล้วมือหนึ่งของเราก็ กำลังเลื่อยไม้ทิ้งอยู่ มันจะหักลงวันไหนก็ไม่รู้ นี่คือความเปราะบาง”
วราวุธ ยังกล่าวว่า ข้อความล่าสุดของ ธนาคารโลก (World Bank) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยชี้ว่าจำเป็นต้องให้การปกป้องและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน มีความรู้และการศึกษาเพียงพอ เนื่องจากหลายคนยังไม่เข้าใจถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ทำไมฝนตกแบบนี้ หรือทำไมธรรมชาติเป็นแบบนี้ เป็นต้น
-ทฤษฎี สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา แก้ปัญหาโดยขับเคลื่อนพร้อมกันทุกมิติ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้เกิดผลในระดับโครงสร้าง โดยอ้างอิงถึงความสำเร็จด้านสาธารณสุขของไทย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในด้านการจัดทำนโยบายที่เห็นผล
โดยเขาได้อ้างถึงทฤษฎี ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่มองว่าการแก้ปัญหานโยบายสาธารณะเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนนั้นต้องอาศัย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1. ความต้องการของประชาชน 2.ความรู้ทางวิชาการ และ 3. เจตนารมณ์ทางการเมืองและกลไกของรัฐ
เช่น หากประชาชนต้องการให้แก้ไขราคาสินค้าเกษตร แต่ขาดข้อมูลทางวิชาการ อาจนำไปสู่โครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น โครงการจำนำข้าว ในทางตรงกันข้าม หากมีความรู้แต่สังคมและการเมืองไม่ให้ความสำคัญ นโยบายก็จะไม่ได้รับการตอบสนอง การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 ส่วนอย่างครบถ้วน
ขณะที่ 3 อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังในสังคมไทย ได้แก่
1.ประชาชนบางส่วนไม่คิดว่าปัญหานี้ส่งผลต่อชีวิตตนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่เคยประสบภัย ผู้คนมักเชื่อมั่นในประสบการณ์ในอดีตมากกว่าข้อมูลทางวิชาการ
2.แม้บางคนเข้าใจว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมักถูกมองว่าเกินความสามารถที่จะจัดการได้ในระดับปัจเจก
3. ปัญหาอื่นที่ประชาชนเห็นว่าเร่งด่วนกว่า โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง
“ปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ แม้กระทั่งเราจะเห็นว่ายุโรปซึ่งก้าวหน้าที่สุด ยุคที่เจอโควิดแรงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น ก็ถอยเรื่องของสิ่งแวดล้อมหมด เพราะต้องตอบสนองกับความรู้สึกของประชาชนที่บอกว่า ขอพักไว้ก่อนได้ไหมจะตายอยู่แล้วจากเรื่องเศรษฐกิจ”
วิสัยทัศน์ระยะสั้นรัฐ รับมือฉุกเฉินมากกว่าแก้ที่ต้นเหตุ
ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน เปิดเผยว่า ในฐานะที่ได้ทำงานเรื่องนี้ รู้สึกว่าผลักเรื่องนี้ค่อนข้างยาก โดยคนจะไปสนใจแต่เรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนฯ แต่พอมาปีนี้ต้องบอกว่าการทำงานง่ายขึ้นมาทันที จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหนักหน่วง ทำให้คนเริ่มมองเห็นจุดเชื่อม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลมีแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ขาดไทม์ไลน์ที่ชัดเจน โดยกำหนดกรอบแผนงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่แน่นอน ในปี 2567 คณะรัฐมนตรีเพิ่งรับทราบแผนนี้ ซึ่งผ่านการรับรองจากคณะกรรมการนโยบาย Climate Change ตั้งแต่ปี 2561 เวลาผ่านไปถึง 6 ปี แผนเพิ่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล
ศิริกัญญา ยกตัวอย่าง ปัญหาในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ แม้อาจจะมีระบบแจ้งเตือน SMS แจ้งให้ทราบว่าจะมีน้ำท่วม แต่ไม่ได้ให้คำแนะนำอย่างละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการเตรียมตัวหรือการอพยพประชาชนอย่างเป็นระบบ กระบวนการรวมข้อมูลและการประกาศแจ้งเตือนต้องปรับปรุงให้ทันสมัยและปลอดภัยกว่าเดิม
“ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีแผนเผชิญเหตุสำหรับภัยพิบัติ แต่ปัญหาคือแผนเหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาซักซ้อมหรือฝึกซ้อมจริง ส่งผลให้เมื่อแจ้งเตือนภัยผ่านเอสเอ็มเอส เช่น การอพยพ ผู้คนกลับไม่รู้ว่าจะต้องไปที่ไหน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย โดยประชาชนได้รับการบอกให้อพยพแต่ไม่มีแผนที่ชัดเจน ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน”
ขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับการเยียวยาภัยพิบัติ ‘ศิริกัญญา’ ระบุว่า ยังคงวนเวียนอยู่ที่ความซับซ้อนของเอกสารสิทธิ์ ซึ่งส่งผลต่อการได้รับการช่วยเหลือในพื้นที่เกษตร สิ่งนี้เป็นความท้าทายในการเตรียมความพร้อมด้านการคลังและงบประมาณของรัฐบาล เนื่องจากหากปัญหาภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยขึ้นในอนาคต จะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้สามารถรับมือและได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การส่งเสริมศักยภาพในการปรับตัวของครัวเรือนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต้องเป็นหน้าที่ของรัฐในการช่วยเหลือผ่านการจัดสรรงบประมาณ และเห็นว่ามีกฎหมายสำคัญสองฉบับที่ต้องพิจารณาคือ
- พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี กฎหมายนี้เป็นตัวสะท้อนถึงความสำคัญ ด้านการปรับตัวและการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ หากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการหรือมาตรการที่เกี่ยวข้อง แสดงว่ามีความเอาใจใส่ในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด
- ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าจะยังเป็นร่างกฎหมาย แต่กฎหมายนี้มีความสำคัญในการกำหนดกรอบและนโยบายในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวที่จำเป็นสำหรับประชาชนและชุมชน
โอกาสลดความเสียหายในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บ.ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงในด้านการเงินเกี่ยวข้องกับการค้นหาแหล่งทุนที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปัจจุบันจะเห็นแนวโน้มที่ดีจากภาคการเงิน เช่น สถาบันการเงินต่างๆ เริ่มให้สินเชื่อสีเขียวและบริษัทขนาดใหญ่เริ่มออกหุ้นกู้เขียว (Green Bonds)
เหตุผลหลักที่ทำให้การลงทุนในด้านนี้น่าสนใจมากขึ้นคือการประหยัดต้นทุนที่ชัดเจนจากการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานสะอาดที่มักจะมีต้นทุนต่ำกว่าพลังงานฟอสซิลในหลายกรณี สิ่งเหล่านี้ทำให้การลงทุนในพลังงานสะอาดสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีและมั่นคงในระยะยาวสำหรับภาคธุรกิจ แบ่งเป็น 4 แนวทางหลักดังนี้
- การมองเห็นความเสียหายเป็นโอกาสในการแข่งขัน การลงทุนในปรับตัวต้องชี้แจงให้เห็นถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ลงทุน ซึ่งอาจจะสูงกว่าการลงทุนเอง เพื่อสร้างความชัดเจนว่าเงินที่ใช้ไปจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าได้อย่างไร
- การย้ายเงินจากโครงการที่ไม่จำเป็น การปรับโครงสร้างการใช้จ่ายในภาครัฐสามารถทำได้โดยการลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น การสร้างโครงสร้างแข็งที่อาจก่อให้เกิดปัญหา หรือการลงทุนในโครงการที่ไม่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้เงินที่ประหยัดได้สามารถนำไปใช้กับโครงการที่ใช้ธรรมชาติเป็นฐานได้
- การยกเลิกเงินอุดหนุนที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัว ควรทบทวนเงินอุดหนุนที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืนและปรับเปลี่ยนการใช้เงินเหล่านี้ให้เอื้อประโยชน์ต่อการปรับตัวและพัฒนาอย่างยั่งยืน
- การพัฒนาความสามารถของภาคการเงินในการจัดการหนี้ มีการเสนอแนวคิดในการยกหนี้เกษตรกรเพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศได้ โดยมีการแลกเปลี่ยนกับการปรับเปลี่ยนวิธีการเกษตร
โดยทั้ง 4 แนวทางนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มภาษี แต่อยู่ในกรอบการพัฒนานโยบายที่ผู้เชี่ยวชาญควรพิจารณาเพื่อสนับสนุนการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
ที่มาภาพ : TDRI สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย