รัฐบาลเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสร้างกลไกส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 4/2567 โดยมี ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยกรรมการและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินงานและกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการสนับสนุนกลไกทางการเงินที่ช่วยผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่คาร์บอนต่ำและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน คณะกรรมการได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังเห็นชอบรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (First Biennial Transparency Report: BTR1) เพื่อเสนอรายงานต่อสำนักเลขาธิการ UNFCCC ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตามพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติ
ในที่ประชุม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ได้มอบนโยบายให้คณะกรรมการคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีศักยภาพในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สรุปเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในกลางปี 2567
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเป้าหมายในการยกระดับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากกฎระเบียบที่ใช้ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมการดำเนินงานในอนาคต โดยคาดว่า การบังคับใช้กฎหมายจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและสามารถบรรลุเป้าหมายในปี 2065 แต่ก็จะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ
- การจัดทำบัญชี GHG ภาคบังคับ
จากที่ปัจจุบันการตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เป็นการสมัครใจ ร่างพระราชบัญญัติฯ จะให้อำนาจหน่วยงานรัฐขอข้อมูลการปล่อยก๊าซจากกิจกรรมในอุตสาหกรรมที่กำหนด โดยจะต้องมีการจ้างที่ปรึกษามาประเมินและรับรองปริมาณ GHG เป็นประจำทุกปี รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ผลิตภัณฑ์
- กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กองทุนฯ จะสนับสนุนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน รวมถึงการสนับสนุนโครงการคาร์บอนเครดิตและโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มขึ้นในอนาคต
- กลไกกำหนดราคาคาร์บอน
ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) และภาษีคาร์บอน จะเป็นเครื่องมือในการกำหนดราคาคาร์บอน โดย ETS จะให้ผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องส่งมอบสิทธิในการปล่อยให้กับรัฐบาล ขณะที่ภาษีคาร์บอนจะเก็บจากปริมาณการปล่อยก๊าซตามวัฏจักรของสินค้า
อย่างไรก็ดีมาตรการ ETS หรือภาษีคาร์บอน หากนำมาใช้ควบคู่กันจะก่อให้เกิดต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ทับซ้อน ควรกำหนดให้ค่าใช้จ่ายจาก ETS หรือภาษีคาร์บอนสามารถนำไปลดหย่อนค่าใช้จ่ายในอีกมาตรการได้ เนื่องจากมาตรการ ETS จะรวมการปล่อย GHG จากทั้งการผลิตสินค้าและการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ ซึ่งหากมีการเก็บภาษีคาร์บอนด้วย ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีจากการปล่อย GHG ของสินค้าอีกรอบ
ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯ คิดเป็นมูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของ GDP โดยการบังคับใช้คาดว่าจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
- ระยะที่ 1 อุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG สูง และอุตสาหกรรมที่อยู่ใน EU-CBAM ภายในปี ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569) ได้แก่ ภาคขนส่ง สาธารณูปโภค โลหะ และอโลหะ มีมูลค่าอุตสาหกรรมรวม 1.71 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของ GDP
- ระยะที่ 2 อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะอยู่ใน EU-CBAM ระยะที่ 2 ได้แก่ สาขา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยางและพลาสติก การขุดเจาะปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เหมืองถ่านหิน และ กระดาษและเยื่อกระดาษ คิดเป็นมูลค่า 1.77 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของ GDP
- ระยะที่ 3 อุตสาหกรรมในประเทศอื่น ๆ ที่มีการปล่อย GHG เข้มข้นสูง ได้แก่ เกษตรและปศุสัตว์ อาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่า 3.02 ล้านล้านบาท หรือ 17% ของ GDP