‘วาฬพองลม’ เดินสายตัวแรกในนิวซีแลนด์ สื่อการเรียนการสอนขนาดใหญ่สมจริงยาว 12 เมตร นำนักเรียนท่องโลกใต้ทะเลลึก ในปี 2025 กับการเปิดตัว ‘วาฬเดินสำรวจ’ ทัวร์ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้เยาวชนเข้าใจถึงความมหัศจรรย์และความสำคัญของมหาสมุทรอย่างใกล้ชิด เน้นปลูกฝังวัฒธรรมการปกป้องสัตว์ทะเลและรักษาสิ่งแวดล้อม ตามรอยวิถีเผ่าเมารี รับมือวาฬเกยตื้นชายฝั่งครั้งละมากกว่า 200 ตัว ต้นแบบสืบค้นโลกของปลาวาฬในทะเลไทย
ทุก ๆ ปี จะมีเรื่องน่าเศร้าที่เกิดผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Climate Change) ถือเป็นเรื่องสะเทือนใจที่ต้องมาเห็นโศกนาฏกรรม ฝูงวาฬนำร่องเกยตื้นขนานใหญ่เกิดขึ้นทุกปีๆ ละมากกว่า 2 ครั้งตามบริเวณชายหาด เช่น บริเวณหมู่เกาะชาแธม รอบนี้บนเกาะพิตต์ (Pitt Island) เกิดปรากฎการณ์ปลาวาฬเกยตื้นทอดยาวตลอดชายหาดไปถึง 40 กิโลเมตร มีปลาวาฬนอนตายเกลื่อนหาดมากกว่า 200 ตัว โดยในหมู่เกาะชาแธม มีประชากรไม่ถึง 800 คน จึงเป็นเรื่องยากและท้าทายให้พื้นที่รับมือวาฬเกยตื้น
จึงเกิดโครงการ ที่ชื่อว่า ‘โจนาห์ นิวซีแลนด์ (Project Jonah New Zealand)’ องค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือวาฬและโลมา เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นต่อมหาสมุทรจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล เพื่อคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของสิ่งมีชีวิต จึงต้องมีการวิจัยและควบคุมหาวิธีลดสาเหตุการตายของวาฬ เพื่อนำไปสู่การป้องกัน โดยเริ่มต้นจากการศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของปลาวาฬ
นี่จึงเป็นเหตุผลการสร้างแนวคิดปลูกฝังการเรียนรู้การอนุรักษ์ธรรมชาติ เริ่มต้นจากการสร้างการตระหนักรู้ เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วาฬในนิวซีแลนด์ที่มีมาอย่างยาวนาน วาฬไม่เพียงแต่เป็นส่วนสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล แต่ยังมีบทบาทในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองชาวเมารี (Māori)
นิวซีแลนด์มีลักษณะทางภูมิภาคและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและอพยพของวาฬหลายชนิด จึงมีวาฬทั้งหมด 38 ชนิด ที่สามารถพบได้ในน่านน้ำของประเทศ วาฬที่พบได้บ่อยที่สุดและง่ายที่สุดในการชมคือ วาฬหลังค่อม (Humpback Whale) และวาฬเพชฌฆาต (Orca) ซึ่งมักเกยตื้นบนชายหาดจากปัจจัยหลายชนิด ทั้งเกิดจากคนรบกวนคลื่นการสื่อสารนำทางและเป็นตามธรรมชาติ เมื่อวาฬเกยตื้นมักมีคนมาลักลอบตัดชิ้นส่วนของวาฬไป การเข้าไปช่วยเหลือให้วาฬกลับสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัย จึงได้กลายเป็นหน้าที่หลักของคนในพื้นที่ ซึ่งโปรเจคโยนาห์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับการอบรมให้เยาวชนคนในพื้นที่ให้มีความรู้ในการดูแลเหล่าวาฬ
-วาฬหลังค่อมเป่าลม ขนาดเท่าตัวจริง 12 เมตร
ภาพที่เห็นไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็นวาฬเป่าลมจัดแสดง ที่เดินทางมาปรากฎตัวให้กับทามาริกิ (เด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติ 1989 ของนิวซีแลนด์) ได้ทดลองสำรวจอย่างใกล้ชิด และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาค บทบาทสำคัญของวาฬในระบบนิเวศอย่างลึกซึ้ง
ภายในวาฬเป่าลมนี้ ทามาริกิจะได้รับความรู้เกี่ยวกับ ระบบย่อยอาหารของวาฬ เรียนรู้ว่าพวกมันกินอะไร เข้าใจถึงหน้าที่ช่วยในการหมุนเวียนสารอาหารในมหาสมุทร เพราะของเสียจากวาฬที่ปล่อยลงสู่ทะเลนั้นเต็มไปด้วยสารอาหารสำคัญ เช่น ธาตุเหล็กและไนโตรเจน ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช และกลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหารทางทะเลทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีโครงการอบรมการช่วยเหลือเหล่าวาฬเมื่อเกยตื้นขึ้นมาบนชายฝั่งอีกด้วย
-นิวซีแลนด์ หนึ่งในประเทศที่พบวาฬเกยตื้นบ่อยครั้ง
ในวันหนึ่งบนชายหาดโอเรติ (Oreti) จะมีผู้พบเห็นซากขากรรไกรวาฬสเปิร์มที่คาดว่าจะถูกตัดออกและขโมยไป โดยมีรอยเลื่อยและรอยล้อรถชี้ให้เห็นว่า มีการตัดขากรรไกรโดยมนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่กินซาก เจ้าหน้าที่โรซาลินด์ โคล กล่าวว่าผู้ที่ทำผิดอาจต้องเผชิญกับค่าปรับสูงสุดถึง 250,000 ดอลลาร์ (ราว 9 ล้านบาท) เนื่องจากการนำกระดูกของวาฬออกจากชายหาดถือเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล พ.ศ. 2521 โดย ไค รองโกอา มูเรียล จอห์นสโตน ผู้อาวุโสของชาวเมารี แสดงความไม่พอใจอย่างยิ่ง และยืนยันว่า เหล่าวาฬควรได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม
“เราเห็นวาฬเป็นของขวัญจากทะเล เรารู้จักและปฏิบัติต่อวาฬเหมือนเป็นหัวหน้า ดังนั้นวาฬสมควรได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมถึงคำกล่าวอำลาและการทักทายที่เหมาะสม เรามีผู้เชี่ยวชาญที่รูนากะซึ่งเคยทำงานกับปลาวาฬและดูแลจัดการพวกมัน เห็นได้ชัดว่ามีคนรู้คุณค่าของปลาวาฬเหล่านี้ จงใจดึงขากรรไกรออกและขโมยไป”
-วาฬเป็นตัวแทนของวิญญาณบรรพบุรุษชาวเมารี่
วาฬ ยังมีความหมายลึกซึ้งในวัฒนธรรมชาวเมารี โดยเป็นสัตว์ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ วิญญาณ และประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองในนิวซีแลนด์ ชาวเมารีถือว่าวาฬเป็น “ทองกะ” (taonga) ซึ่งหมายถึงสมบัติล้ำค่าทางจิตวิญญาณ และเป็นผู้พิทักษ์แห่งทะเล
วาฬมีบทบาทสำคัญในตำนาน โดยบรรพบุรุษเชื่อว่าพวกเขาได้รับการนำทางมาที่นิวซีแลนด์โดยวาฬ ในกรณีที่วาฬเกยตื้น ชาวเมารีจะปฏิบัติต่อพวกมันด้วยความเคารพ เชื่อว่าอาจเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษหรือสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ในอนาคต
ความเชื่อในวาฬยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมเมารี ชิ้นส่วนวาฬ เช่น กระดูกและฟัน ถูกนำมาทำเครื่องประดับที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม แสดงถึงสถานะทางสังคมและการเชื่อมโยงกับทะเล การอนุรักษ์วาฬจึงมีความสำคัญไม่เพียงเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังเพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาวเมารีที่สืบทอดมายาวนาน ซึ่งยังคงมีอยู่ในวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของพวกเขาจนถึงปัจจุบัน
-กลุ่มคนตัวเล็กหัวใจใหญ่ สนับสนุนการตระหนักรู้
ในปี 1974 กลุ่มโยนาห์ Project Jonah New Zealand เริ่มต้นการเคลื่อนไหวต่อต้านการล่าปลาวาฬในนิวซีแลนด์ ผ่านแคมเปญ “ปกป้องปลาวาฬ” ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่นหลากหลายอาชีพ ความพยายามเหล่านี้ส่งผลให้ในปี 1975 รัฐบาลนิวซีแลนด์ออกกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลาวาฬเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น โครงการได้ผลักดันให้รัฐบาลกลับเข้าร่วมคณะกรรมการการล่าปลาวาฬระหว่างประเทศ (IWC) เพื่อปกป้องปลาวาฬมากกว่าจะล่าพวกมัน ในปี 1976 นิวซีแลนด์กลับเข้าร่วม IWC และเป็นประเทศผู้สนับสนุนการอนุรักษ์ปลาวาฬอย่างแข็งขัน
โครงการ Jonah ยังคงเป็นองค์กรการกุศลระดับรากหญ้าที่สำคัญ มีส่วนร่วมในการผลักดันพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลในปี 1978 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของนิวซีแลนด์ที่ปกป้องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล โครงการนี้ยังเป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์ช่วยชีวิตปลาวาฬเกยตื้นลอยน้ำที่ใช้ทั่วโลก และมีส่วนช่วยชีวิตปลาวาฬหลายพันตัว
“เราตกตะลึงเมื่อทราบข่าวประกาศในวันนี้ว่าญี่ปุ่นมีแผนที่จะขยายการล่าปลาวาฬในแปซิฟิกเหนือให้รวมถึงวาฬฟินด้วย ปัจจุบัน ญี่ปุ่นจับปลาวาฬขนาดใหญ่ชนิดอื่นอีกสามสายพันธุ์ในน่านน้ำของเขตห้ามล่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬเซอิ และวาฬมิงค์ แต่รายงานระบุว่าเนื้อวาฬฟินเป็นสินค้าที่มีคุณค่าสูงในญี่ปุ่น และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการนำเข้าจากไอซ์แลนด์ โยชิมาสะ ฮายาชิ”
ญี่ปุ่นยังไม่หยุดกิจกรรมการล่าปลาวาฬโดยสิ้นเชิง โดยให้กลับมาล่าปลาวาฬเพื่อการค้าอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2019 หลังจากถอนตัวจากคณะกรรมการการล่าปลาวาฬระหว่างประเทศ (IWC) ญี่ปุ่นอ้างถึง ‘เหตุผลทางวัฒนธรรม’ และความจำเป็นทางเศรษฐกิจของบางชุมชน รวมถึงกล่าวว่าการล่าปลาวาฬมิงค์สามารถทำได้อย่างยั่งยืนตามหลักการอนุรักษ์
-หันเข้ามามองในประเทศไทย วาฬวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ในประเทศไทยพบวาฬและโลมาประมาณ 27 ชนิด โดยพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือ วาฬบรูด้า ซึ่งมักปรากฏในอ่าวไทย การล่าวาฬเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยเนื่องจากได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสัตว์ป่า โครงการอนุรักษ์ที่สำคัญได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (DMCR) ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาและอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล
ทั้งนี้ในประเทศไทยยังไม่พบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เข้ามาดูแลเรื่องวาฬอย่างจริงจัง มีเพียงภาครัฐและการร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ สมาคมอนุรักษ์ท้องทะเลไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระบอกเสียงสื่อออนไลน์อีกหนึ่งเสียงสำคัญ กลุ่มวาฬไทย (ThaiWhales Organization) ที่มีคนจากหลากหลายแขนงวิชาชีพมาร่วมส่งเสริมให้คนไทยหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะวาฬบรูด้าที่อาศัยอยู่ในอ่าวไทยตอนบน ผ่านการสนับสนุนองค์ความรู้บนโลกออนไลน์