หมูเด้ง ฮิปโปฯแคระสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ตัวแทนความน่ารัก ทำอย่างไรให้สัตว์ในธรรมชาติอยู่ร่วมมนุษย์ได้ยาวนาน

หมูเด้ง ฮิปโปฯแคระสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ตัวแทนความน่ารัก ทำอย่างไรให้สัตว์ในธรรมชาติอยู่ร่วมมนุษย์ได้ยาวนาน

อนาคตฮิปโปฯแคระเสี่ยงสูญพันธุ์ ข้อเท็จจริงที่หลายคนเพิ่งรู้ จากความฮิต ‘หมูเด้ง’ ฮิปโปฯแคระเพศเมีย สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ผู้เกิดมาเป็นตัวแทนการสื่อสาร ทำไมคนจำนวนมากเห็นภาพหมูเด้งแล้วรู้สึกเบาใจ อะไรคือสิ่งที่เราควรทำเพื่อให้สัตว์และมนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ?

 

 

ลูกฮิปโปฯแคระชื่อ ‘หมูเด้ง’ จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้กลายเป็นกระแสฮือฮาบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เพจ “ขาหมูแอนด์เดอะแก็งค์” แชร์คลิปความน่ารักของหมูเด้งในช่วงเวลาที่พี่เลี้ยงดูแลและเล่นด้วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเวลาที่หมูเด้งวิ่งไปมาจนเนื้อมันวาวกระเพื่อม เด้งดึ๋ง! ทำให้หลายคนชื่นชอบและประทับใจ เนื่องจากลักษณะอ้วนกลมและน่ารักคล้ายกับลูกหมู ซึ่งทำให้คนที่มาพบเห็นรู้สึกเอ็นดู

หนึ่งในช่วงเวลาที่โดดเด่นคือเวลาที่หมูเด้งเข้ามางับหรือสะบัดตัวคล้ายไม่ต้องการให้ใครจับตัว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวลีฮิตในโลกออนไลน์อย่าง “ปล่อยหนูนะ อย่ามาจับ” ซึ่งภาพและคลิปนี้ได้รับความนิยมและถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่ยังแพร่หลายไปทั่วโลก มีม (Meme) จากภาพของหมูเด้งยังถูกนำไปใช้ในวงการต่าง ๆ ทั้งในวงการบันเทิง กีฬา เพลง และแม้แต่ในธุรกิจใหญ่ก็นำภาพของหมูเด้งมาใช้สร้างรอยยิ้ม

กระแสหมูเด้งดึงดูดคนจำนวนมาก ให้เดินทางมาชม ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว กลายเป็นหนึ่งในดาวเด่นที่ทำให้สวนสัตว์ได้รับความสนใจมากขึ้น และทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนจากธรรมชาติ พฤติกรรม ข้อเท็จจริงของฮิปโปฯแคระทีละเล็กละน้อย และในวันนี้หมูเด้งได้กลายเป็นขวัญใจที่เชื่อมโยงคนทั้งโลกให้หันมามองเห็นถึงความน่ารักและรับรู้การอยู่ร่วมกันของคนกับสัตว์ ตามมาด้วยวิธีการจะทำอย่างไรให้เราสามารถมีกันและกันต่อไปในอนาคต

สื่อในต่างประเทศชื่อดังอย่างนิตยสาร Time ระบุว่า “เธอเป็นสัญลักษณ์ เธอเป็นตำนาน และเธอคือช่วงเวลาสำคัญ”

 

 

-ช่วงเวลาที่สำคัญอยู่กับเราทุกคน

10 ตุลาคม 2567 ‘หมูเด้ง’ แคระเพศเมีย มีอายุครบ 3 เดือน ด้วยน้ำหนัก 32.7 กิโลกรัม พี่เลี้ยงยกกะละมังทรงกลมสีดำที่หมูเด้งชอบไปนั่งขึ้นวางบนแท่นชั่งน้ำหนัก 

นับตั้งแต่เกิดพี่เลี้ยง (zookeeper) และสวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้แบ่งปันหมูเด้งให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการดูแลทุกครั้ง หมูเด้งถูกนำภาพไปประกอบใช้ในเชิงพาณิชย์บ่อยครั้ง ในรูปแบบอาหารและเสื้อผ้า เพื่อคุ้มครองสิทธิในเชิงพาณิชย์ สวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้เปิดการประกวดออกแบบโลโก้ที่จะถูกนำมาใช้จดทะเบียนโลโก้ ‘หมูเด้ง’ และเปิดโหวตให้เราได้มีส่วนร่วมเช่นเคย ปรากฏว่าโลโก้หมายเลข 5 ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดถึง 57,000 คะแนน จาก 100,000 เสียงโหวต 

“โลโก้ หรือเครื่องหมายการค้าหมูเด้งจะถูกใช้อย่างเป็นทางการ (Official) กับสินค้าและผลิตภัณฑ์หมูเด้ง ภายใต้สิทธิขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ถ้าใครนำโลโก้หมูเด้งมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากองค์การสวนสัตว์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านี้ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย” อรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าว

 

 

-ตกหลุมรักและเขยิบเข้าใกล้ธรรมชาติอย่างไม่รู้ตัว

หน้ากลม หัวโต ตาโต ลักษณะทางกายภาพที่คล้ายทารกของสัตว์เล็ก กระตุ้นความรู้สึกเอ็นดู เป็นแนวคิดเรื่อง Kindchenschema ของคอนราด ลอเรนซ์ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ลูกฮิปโปอย่าง ‘หมูเด้ง’ กลายเป็นกระแสไวรัล นอกจากนี้การดูคลิปและภาพของหมูเด้งยังทำให้สมองปล่อยสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสุขและความพึงพอใจ ทำให้คนรู้สึกผ่อนคลายและเพลิดเพลินเมื่อได้เห็น

เมื่อผู้คนได้รับความสุขจากการดูหมูเด้ง สมองจะกระตุ้นให้เกิดความอยากดูและติดตามต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่หมูเด้งจะกลายเป็นกระแสออนไลน์ที่มีคนแชร์และอยากมาเจอมากขึ้น ทั้งนี้ความน่ารักของสัตว์เล็กไม่เพียงกระตุ้นความรัก แต่ยังเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ช่วยให้สัตว์เหล่านี้ได้รับการดูแลปกป้องจากมนุษย์อีกด้วย

 

 

-หมูเด้งจะเด้งกี่โมง? 

แม้ว่าผู้คนอาจเคยเห็นวิดีโอไวรัลของหมูเด้งที่กระโดดโลดเต้นไปมา แต่เป็นแค่เฉพาะช่วงเวลาสั้น ๆ ในช่วงเช้าของวันที่หมูเด้งจะมีอาการคึกเท่านั้น นอกจากนั้นหมูเด้งจะใช้เวลานอนหลับพัก ทำให้ผู้คนที่เดินทางไปดูมีคำถามตามมาว่า “หมูเด้งจะเด้งกี่โมง?” และนักท่องเที่ยงบางรายพยายามปลุกหมูเด้งด้วยวิธีตะโกนเสียงดัง สาดน้ำใส่ ปาเปลือกหอยหรือก้อนหินใส่ สร้างความตกใจและรู้สึกไม่ดีกับคนที่เอ็นดูน้องเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ฮิปโปฯถือว่าเป็นสัตว์ดุร้าย แม้พฤติกรรมภายนอกอาจดูสงบเงียบแต่จะคุ้นชินแค่เฉพาะผู้ที่ดูแลเท่านั้น ผู้คนจึงได้เข้าใจธรรมชาติของฮิปโปฯแคระมากยิ่งขึ้น อาทิ

  1. ฮิปโปฯแคระเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างขี้อาย ชอบอยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสัตว์อื่นและมนุษย์ หากตกอยู่ในอันตราย ฮิปโปฯแคระอาจพยายามขู่ผู้ล่าโดยการอ้าปากกว้างเพื่อเผยให้เห็นฟันที่น่าเกรงขามและมักจะวิ่งหนีเข้าป่าทึบแทนที่จะต่อสู้
  2. ฮิปโปฯแคระกินอึแม่เป็นสารอาหาร ลูกฮิปโปฯเกิดมาพร้อมกับระบบย่อยอาหารที่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งยังขาดแบคทีเรียที่จำเป็นสำหรับการย่อยอาหารประเภทไฟเบอร์จากพืช การกินอุจจาระของแม่จึงเป็นวิธีการรับแบคทีเรียที่ช่วยพัฒนาระบบย่อยอาหาร ทำให้สามารถย่อยพืชได้ดีขึ้นในอนาคต
  3. ฮิปโปฯแคระกินพืช กินใบไม้ หญ้า และผลไม้เป็นอาหารหลัก หลังจากที่อิ่มแล้วก็จะพักผ่อน ลูกฮิปโปฯแคระในวัยเด็กจะมีพลังและซุกซนเป็นธรรมดา แต่เมื่อโตขึ้นความซุกซนและพลังงานอาจลดลงไปตามธรรมชาติ
  4. สะบัดอึเพื่อสร้างอาณาเขต สะบัดหางอย่างรวดเร็วในขณะที่ขับถ่าย ทำให้อึกระจายไปทั่วพื้นที่ กลิ่นจะเป็นตัวกันสัตว์อื่นไม่ให้เข้ามา เป็นกลไกที่ใช้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของและสร้างอาณาเขต
  5. ฮิปโปฯแคระต่างจากฮิปโปธรรมดาในหลายด้าน มีสีผิวที่เข้มกว่าและหัวที่กลมมากกว่า นอกจากนี้เหงื่อของฮิปโปฯแคระจะมีลักษณะใส ไม่เข้มและไม่มีสีแดงเหมือนเลือดเช่นเดียวกับฮิปโปโปเตมัสทั่วไป

 

 

-ฮิปโปฯกับมนุษย์เคยทะเลาะกันมาก่อน

ฮิปโปฯขัดแย้งกับผู้คนบ่อยครั้ง จากการขัดขวางการทำการเกษตร ทำพืชผลชาวบ้านเสียหายและขัดขวางการทำประมง ผู้คนจึงฆ่าฮิปโปฯเมื่อถูกฮิปโปฯเข้าโจมตี และเมื่อประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้น ความขัดแย้งนี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นทวี จนเกิดการล่าฮิปโปฯเพื่อนำเนื้อและชิ้นส่วนต่าง ๆ มาดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่เขี้ยวจะถูกใช้ในการค้าทดแทนงาช้าง 

ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าเป็นปัญหาที่แพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศนามิเบียที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งบันทึกไว้มากกว่า 8,000 ครั้งในปี 2560 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์ป่า เช่น ในยุโรป หมาป่าและสัตว์นักล่าต่างๆ ทำให้มีแกะหลายหมื่นตัวที่ถูกฆ่า ในอินเดีย ระหว่างปี 2558–2561 มีรายงานว่ามนุษย์กว่า 1,700 คนและช้าง 370 ตัวเสียชีวิตจากความขัดแย้งนี้ 

ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ และสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (zoonotic diseases) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของโรคอุบัติใหม่ในโลก เหตุการณ์เหล่านี้ขัดขวางความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างมาก

 

 

-กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธ์

ฮิปโปโปเตมัสแคระ (Pygmy Hippopotamus) ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยปัจจุบันมีเหลืออยู่ในธรรมชาติประมาณ 2,000-2,500 ตัว เนื่องจากปัจจัยหลายประการที่ทำให้ทำให้ตกอยู่ในภัยอันตราย 

  1. การสูญเสียที่อยู่อาศัย เพราะการทำลายป่าเพื่อกิจกรรมการเกษตร เช่น การปลูกปาล์มน้ำมันและการตัดไม้ ส่งผลให้พื้นที่ที่ฮิปโปฯอาศัยอยู่ถูกทำลายลงอย่างมาก ทำให้ที่อยู่อาศัยของพวกมันลดลง
  2. แหล่งน้ำไม่เพียงพอ โดยปกติแล้วจะไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการพักผ่อนในตอนกลางวัน เนื่องจากผิวหนังที่ไวต่อแสงแดด ต้องใช้เวลาในน้ำหรือโคลนเพื่อรักษาความชุ่มชื้น แต่มีรายงานว่าฮิปโปฯสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยไปเพราะการบุกรุกของมนุษย์
  3. การขุดแร่เถื่อน การทำเหมืองแร่ผิดกฎหมายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมถึงการขุดแร่ทองคำตามแม่น้ำและลำธาร ส่งผลให้พฤติกรรมการหาอาหารและการใช้ชีวิตของฮิปโปฯถูกขัดขวาง

 

 

-พ่อจ๋าแม่จ๋าช่วยหนูด้วย

ที่อยู่อาศัยที่ถูกทำลายไม่ได้ส่งผลแค่กับฮิปโปฯแคระแบบหมูเด้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์โลกทุกชนิด ในทุกถิ่นที่อยู่อาศัย ทั้งในป่า บนเขา หรือใต้ทะเล ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ และถูกรบกวนจากขยะพลาสติกตามที่เราเห็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง เช่น ถูกพันรัดด้วยเศษอวน หรือกินขยะอย่างหลอดและถุงพลาสติกเข้าไป ในวันนี้ที่โลกหันมารับรู้เรื่องราวของหมูเด้งสัตว์ใกล้สูญพันธ์ อาจสามารถนำมาสู่การช่วยเหลือสัตว์ในระบบนิเวศได้ ดังนี้

  1. อนุรักษ์ป่าไม้ ช่วยกันดูแลต้นไม้และอนุรักษ์พื้นที่ป่าเป็นวิธีที่สำคัญในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน 
  1. ลดหรือเลิกใช้พลาสติก  ส่งเสริมการใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกเข้าถึงสัตว์ในทะเลและที่ดิน การลดการใช้พลาสติกสามารถทำได้โดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเลิกใช้จากการใช้ถุงผ้าและกล่องอาหารทดแทน
  1. ศึกษาและสร้างความตระหนัก กระจายความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและวิธีการอนุรักษ์สัตว์โลกเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ ผ่านการศึกษาหรือกิจกรรมในชุมชน เช่น การจัดเวิร์กชอป การสัมมนา หรือโครงการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 
  1. สนับสนุนองค์กรอนุรักษ์ ทุกคนสามารถร่วมมือและสนับสนุนองค์กรที่ทำงานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น WWF หรือ Greenpeace ที่จะช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพในการปกป้องสัตว์และธรรมชาติ 
  1. ไม่ปล่อยละเลย เมื่อเห็นการดูแลสัตว์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การทำร้าย การไม่ให้สุขอนามัยที่เพียงพอ การทิ้งขยะพลาสติกไม่เป็นที่ การดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองที่ไม่เหมาะสม ทุกคนสามารถเป็นหูเป็นตาและเป็นกระบอกเสียงแจ้งหน่วยงานให้เข้าไปดูแลได้