มาห์เล (MAHLE) ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และพันธมิตรด้านการวิจัยและพัฒนาจากเมืองชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี เดินหน้าขยายศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในจังหวัดสมุทรปราการ การลงทุนครั้งนี้ตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ประเด็นเด่น
-ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สำคัญของมาห์เล ด้วยความพร้อมทั้งบุคลากรที่มีทักษะสูง ประวัติความเป็นมาอันยาวนานในอุตสาหกรรมยานยนต์ และทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์
-พื้นที่สำหรับการทดสอบจะมีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เปิดตัวเมื่อปี 2565 ส่วนพื้นที่สำนักงานจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในปี 2569
-ปัจจุบัน ศูนย์วิศวกรรมมาห์เลประจำเอเชียทำหน้าที่เป็นศูนย์พัฒนาวิศวกรรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเน้นที่กลุ่มธุรกิจระบบกรองและอุปกรณ์เครื่องยนต์
-มีแผนปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ให้ครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าหลังปี 2568
ศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ด้วยพนักงาน 15 คน บนพื้นที่สำนักงาน 300 ตารางเมตร และพื้นที่ทดสอบ 500 ตารางเมตร ภายในปี 2569 มาห์เลมีแผนเพิ่มพื้นที่ทดสอบเป็น 4,000 ตารางเมตร และขยายพื้นที่สำนักงานเป็น 1,200 ตารางเมตร พร้อมเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 40 คน แผนดังกล่าวรวมถึงการขยายการพัฒนาโซลูชันจากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เช่น ระบบกรองและอุปกรณ์เครื่องยนต์ ไปสู่เทคโนโลยีที่ครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าหลังปี 2568
มร. ราล์ฟ เคมเลน (Ralf Kiemlen) หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาศูนย์วิศวกรรมมาห์เลประจำเอเชีย กล่าวว่า การขยายศูนย์ครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของมาห์เลในการผลักดันกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ด้วยบุคลากรที่มีทักษะและความทุ่มเท
ศูนย์วิศวกรรมเอเชียซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์ R&D นี้ มีพนักงาน 40 คน และเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมการพัฒนา การออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD) พร้อมด้วยห้องปฏิบัติการทดสอบที่ทันสมัย ให้บริการครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงญี่ปุ่น จีน และเกาหลี มาห์เลมีแผนเพิ่มความสามารถในการพัฒนาชุดระบายความร้อนน้ำมัน ชุดระบายความร้อนอะลูมิเนียม และชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับระบบจัดการความร้อน พร้อมทั้งพัฒนาชิ้นส่วนพลาสติกและอะลูมิเนียมแบบหล่อฉีดสำหรับระบบไฟฟ้าและเมคคาทรอนิกส์
มร. ยาสุฮิโระ คิโนชิตะ (Yasuhiro Kinoshita) รองประธานกลุ่มธุรกิจระบบกรองและอุปกรณ์เครื่องยนต์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริมว่า “ศูนย์วิศวกรรมเอเชียเป็นก้าวสำคัญที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ MAHLE 2030+ ซึ่งมุ่งเน้นด้านระบบไฟฟ้า การจัดการความร้อน และเครื่องยนต์สันดาปที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
ดร. พรเทพ พรประภา ประธานกลุ่มบริษัทสยามกลการ กล่าวในโอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดการก่อสร้างเฟสใหม่ว่า “นี่คือก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพราะเรากำลังก้าวข้ามจากการเป็นเพียงฐานการผลิตไปสู่การมีบทบาทสำคัญในกระบวนการวิจัยและพัฒนา”
นอกจากศูนย์วิศวกรรมเอเชียแล้ว มาห์เลยังมีฐานการผลิตในประเทศไทยอีก 4 แห่ง โดยมีพนักงานรวมประมาณ 1,500 คน โรงงานเหล่านี้ผลิตสินค้าหลากหลายประเภท เช่น ระบบเครื่องยนต์ ระบบกรอง ระบบจัดการความร้อน อิเล็กทรอนิกส์ และเมคคาทรอนิกส์
อุปกรณ์เครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเติบโตต่อเนื่อง
ในปี 2566 อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์เครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมียอดผลิตรถยนต์ประมาณ 1.95 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การเติบโตนี้เป็นผลมาจากการคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลัก เช่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น
สำหรับการส่งออกอุปกรณ์เครื่องยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว โดยในช่วงครึ่งปีแรก อุตสาหกรรมนี้ทำมูลค่าส่งออกได้มากกว่า 480,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยยังมีโอกาสเติบโตในอนาคต ด้วยการปรับตัวสู่การผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการพัฒนาชิ้นส่วนเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
เกี่ยวกับมาห์เลมาห์เลเป็นพันธมิตรระดับโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2463 โดยมุ่งพัฒนาโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยคาร์บอน เช่น ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า เซลล์เชื้อเพลิง และเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียนอย่างไฮโดรเจน ในปี 2566 มาห์เลมียอดขายเกือบ 13,000 ล้านยูโร มีพนักงานมากกว่า 72,000 คนใน 148 แห่งทั่วโลก