ลอรีอัล กรุ๊ป ฉลองก้าวสู่ปีที่ 115 ระดับโลก ตอกย้ำการส่งเสริมความเท่าเทียม เดินหน้าสร้างโอกาสให้กับ 3 นักวิจัยสตรีไทยในโครงการทุน ‘เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์’ ประจำปี 2567 ผลักดันบทบาทสตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์ ควบคู่การสร้างความยั่งยืน
ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย เดินหน้าผลักดันบทบาทของนักวิจัยสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ ด้วยการมอบทุนวิจัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 พร้อมประกาศรายชื่อ ‘3 นักวิจัยสตรีไทย’ ผู้ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย ‘เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์’ (For Women in Science) ประจำปี 2567 มอบทุนวิจัย 250,000 บาทพร้อมโล่เกียรติคุณ ให้แก่นักวิจัยสตรีที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นสร้างคุณูปการแก่แวดวงวิทยาศาสตร์ มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนสังคมทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของลอรีอัล กรุ๊ป ซึ่งมุ่งสร้างความงามที่ขับเคลื่อนโลกผ่านการสนับสนุนงานวิจัยและเชิดชูบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ ควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันสังคมสู่ความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ไทยมีผู้หญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์ไม่ต่างจากชาย
แต่ยังได้รับการสนับสนุนรางวัลด้านวิจัยน้อย
แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจวบจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 115 ในปีนี้ ลอรีอัล กรุ๊ป ในฐานะบริษัทความงามระดับโลก เชื่อว่าความงามมีรากฐานมาจากวิทยาศาสตร์ จึงตระหนักดีว่านวัตกรรมวิทยาศาสตร์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาโลกใบนี้
อย่างไรก็ดี บทบาทระดับสูงของสตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์ไทยยังคงต้องการการผลักดันอีกมาก ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น นับแต่ตั้ง พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ได้รับรางวัลอยู่เพียง 16% เท่านั้น แม้จะมีผู้หญิงอยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ไทยเป็นจำนวนเทียบเท่ากับผู้ชายก็ตาม
“บริษัทฯเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรี ลอรีอัลจึงเดินหน้าเชิดชูเกียรติผลงานวิจัยโดดเด่นของสตรีผ่านโครงการเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 22 เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ต้องการเติบโตในสายงานวิทยาศาสตร์ และพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงทุกคนสามารถเปล่งประกายได้ในแบบของตนเอง”
งานวิจัยด้าน Life Science
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ กล่าวเสริมว่า สำหรับ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ‘เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์’ หรือ For Women in Science ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก แต่ละปีได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 คน ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศระดับนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วมากกว่า 100 ท่าน ซึ่งมีถึง 7 คน ที่ก้าวสู่ความสำเร็จได้รับรางวัลโนเบลสำหรับในประเทศไทย
ทั้งนี้โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 87 คนจากมากกว่า 20 สถาบัน
“โครงการนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจบิวตี้ของลอรีอัล แต่ว่าเป็นการสนับสนุนงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะจะเห็นว่าที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการให้รางวัลสนับสนุนนักวิจัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงมากเท่าไหร่นัก ซึ่งลอรีอัลก็อยากจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งเพื่อช่วยขับเคลื่อนวงการวิจัย ให้ได้รับเชิดชูเกียรติ และเป็นที่น่าสังเกตุว่า ปีนี้งานวิจัยด้าน วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical science) ส่งเข้ามาในโครงการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ค่อนข้างกว้างขวาง ครอบคลุมหลายด้าน เพราะเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ศึกษาระบบที่ไม่มีชีวิต
ขณะที่ประเทศไทยส่วนมากจะมีนักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) จำนวนมากกว่า ซึ่งงานวิจัยประเภทนี้ เป็นสาขาของวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาครอบคลุมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต และกระบวนการที่เกิดขึ้นในร่างกายสิ่งมีชีวิต โดยการศึกษาชีววิทยาศาสตร์มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสิ่งชีวิตและสุขภาพ เน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาว”
แกะกล่อง ‘3 งานวิจัยวิทยาศาสตร์’
รักษามะเร็ง-การเปลี่ยนพลังงาน-และภาคเกษคร
รองศาสตราจารย์ ดร.อัญญานี คำแก้ว จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กับงานวิจัย ‘การพัฒนาสารไวแสงและระบบนาโนนำส่ง เพื่อเป็นทางเลือกแบบแม่นยำสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง’ กล่าวว่า แม้หลายทศวรรษที่ผ่านมาจะมีความก้าวหน้าด้านการพัฒนายาและอุปกรณ์การรักษาด้วยแสงเพื่อรักษามะเร็ง แต่ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่อาจใช้ทางคลินิกได้อย่างแพร่หลาย
เธอและทีมวิจัย เล็งเห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็ง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างของสารไวแสง และระบบนำส่งสารไวแสงไปยังเซลล์มะเร็งจำเป็นต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน ซึ่งทำได้โดยการพัฒนาตัวนำส่งที่มุ่งเป้ามะเร็งร่วมกับการกระตุ้นด้วยแสงเฉพาะที่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นโดยมีผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์น้อยลง ทางทีมวิจัยจึงมุ่งใช้เทคนิค ‘การบำบัดด้วยโฟโตไดนามิก’ และ ‘การบำบัดด้วยความร้อนจากแสง’ ร่วมกับวัสดุนาโนที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย
โดยเน้นไปที่วิธีพัฒนาและสังเคราะห์สารไวแสงที่ตอบสนองต่อแสงได้อย่างดีเยี่ยม และมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงเท่านั้น โดยสารจะไม่มีพิษต่อเซลล์มะเร็งเมื่อไม่ได้ถูกกระตุ้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงเริ่มจากการสังเคราะห์สารประกอบพิสูจน์โครงสร้าง และทดสอบสมบัติทางแสง จากนั้นจึงพัฒนาตัวนำส่งระดับนาโนที่มีความเข้ากันได้ทางชีวภาพ โดยควบคุมให้อนุภาคมีขนาดเหมาะสมต่อการมุ่งเป้าเซลล์มะเร็ง แล้วจึงทดสอบในระดับเซลล์มะเร็งเทียบกับเซลล์ปกติในระดับห้องปฏิบัติการ โดยเทียบระหว่างแบบใช้แสงกระตุ้นและไม่ใช้แสงกระตุ้น สุดท้ายระบบนำส่งสารไวแสงจะถูกนำไปทดสอบประสิทธิภาพในระดับสัตว์ทดลอง เพื่อศึกษาผลกระทบที่มีต่อระบบร่างกาย ทั้งเมื่อถูกกระตุ้นและไม่ถูกกระตุ้นด้วยแสง
“โดยผลการทดลองล่าสุดพบว่าทีมผู้วิจัยสามารถพัฒนาสารไวแสงหลายกลุ่มได้สำเร็จ โดยพิสูจน์ในระดับห้องปฏิบัติการและระดับเซลล์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ สารแต่ละกลุ่มมีความจำเพาะต่อความยาวคลื่นแสงที่ใช้กระตุ้นและชนิดของมะเร็งต่างกันทำให้มีตัวเลือกหลากหลายในการนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นตัวเลือกในการรักษามะเร็งได้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเช่นนี้ สามารถรักษาได้กับมะเร็งชนิดที่ไม่มีความลึก หรือยากซับซ้อน ทีมวิจัยได้พิสูจน์ประสิทธิภาพการรักษามะเร็งในระดับสัตว์ทดลองแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดให้สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษามะเร็งในประเทศไทยอีกด้วย”
งานวิจัยสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
ดร.ปองกานต์ จักรธรานนท์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ กับงานวิจัยหัวข้อ ‘การเร่งปฏิกิริยาเชิงเคมีไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม’ กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลจากภาคพลังงานและภาคการผลิต ทำให้มีความคาดหวังที่จะใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ในการแก้ปัญหาเพื่อนำพาประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้
งานวิจัยชิ้นนี้ จึงมุ่งเป้าพัฒนาเซลล์ไฟฟ้าที่สามารถทำปฏิกิริยาทั้งสองได้อย่างควบคู่กัน เพื่อเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่า ตอบโจทย์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งเป้าพัฒนาเซลล์ไฟฟ้าที่สามารถทำปฏิกิริยาทั้งสองได้อย่างควบคู่กัน เพื่อเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการออกซิไดซ์ชีวมวลจากอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมกระดาษ ให้กลายเป็นวัสดุและสารเคมีที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ด้วย โดยใช้วิธีพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีความจำเพาะสูงสำหรับกระบวนการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2RR) และทดสอบตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวในเซลล์ไฟฟ้าที่สามารถขยายขนาดได้จากนั้นปรับปรุงคุณสมบัติของตัวเร่งให้ผลิตสารเคมีได้สูงเสถียร และทนทานต่อสิ่งเจือปนในสารตั้งต้น รวมไปถึงการคัดเลือกชีวมวลที่เหมาะกับการทำปฏิกิริยาเคมีเชิงไฟฟ้า พัฒนาระบบการออกซิไดซ์ชีวมวล
จากนั้นจึงพัฒนาระบบการทำปฏิกิริยาแบบควบคู่ระหว่าง CO2RR และการออกซิไดซ์ชีวมวลแล้วศึกษาความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์ พร้อมประเมินวัฏจักรชีวิตของเทคโนโลยี เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการเร่งปฏิกิริยาเชิงเคมีไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ และสามารถขยายขนาดการผลิตสู่ระดับโรงประลอง (pilot scale) เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมได้ และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมหนัก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมเคมีและพลังงานของประเทศไทย
วิจัยกำจัดของเสียทิ้งในภาคเกษตร
โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วลีพร ดอนไพร จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ กับงานวิจัยหัวข้อ ‘การใช้ประโยชน์ก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการเร่งปฏิกิริยาเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนมุ่งสู่ Net Zero Emission’ กล่าวว่า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ประเทศไทยจึงได้แสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับประชาคมโลกและมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608
หลายภาคส่วนจึงพยายามใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน โดยการเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกทั้งสองชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงผ่านกลไกการเกิดปฏิกิริยาต่างๆ จึงเล็งเห็นว่าปฏิกิริยาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมาก ได้แก่ ปฏิกิริยาการแตกตัวของมีเทนและปฏิกิริยาดรายรีฟอร์มมิ่ง เพราะผลิตทั้งพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดได้พร้อมกับใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งศึกษา 3 ส่วนด้วยกัน คือ
1.การใช้ประโยชน์จากของเสียเหลือทิ้งจากการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบรอบสอง (Secondary raw material) โดยนำเถ้าชานอ้อยซึ่งเหลือทิ้งจากโรงงานผลิตน้ำตาลทรายมาสังเคราะห์เป็นโซเดียมซิลิเกต พร้อมศึกษาองค์ประกอบและลักษณะโครงสร้างของซิลิกาที่สังเคราะห์จากเถ้าชานอ้อย
2.การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการเปลี่ยนก๊าซมีเทนเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจำพวกไฮโดรเจนและผลิตภัณฑ์คาร์บอน
3.การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจำพวกไฮโดรเจนและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ผ่านปฏิกิริยาดรายรีฟอร์มมิ่ง
งานวิจัยนี้จะก่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้กลไกนาโนเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดมลพิษจากกระบวนการผลิต ลดต้นทุนการกำจัดกากของเสีย สร้างการผลิตที่ยั่งยืน สะอาด และมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือต้องการนำก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์
อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สามารถนำของเสียเหลือทิ้งจำพวกเถ้าชานอ้อยมาเพิ่มมูลค่า สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตอบโจทย์เร่งด่วนของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
เห็นทิศทางประเทศไทยส่งเสริมงานวิจัยเพื่อเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น
ดร.ปองกานต์ กล่าวว่า หากมองภาพรวมการสนับสนุนทุนวิจัยในไทย มองว่า การใช้เงินลงทุนกับงานวิจัย คิดเป็นสัดส่วน GDP ค่อนข้างน้อย คาดว่าน่าจะยังน้อยกว่า 2% ของ GDP ประเทศ แต่ว่าก็มีการพัฒนาขึ้นทุกปี จากที่เธอทำงานวิจัยมากว่า 7 ปี เริ่มมองเห็นทิศทางที่ดีขึ้น เพราะทั้งภาครัฐ เอกชน เริ่มมีการตื่นตัวและเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะเอกชน ลงทุนกับงานวิจัยเยอะมาก จากเมื่อก่อนจะลงทุนแค่กับงานวิจัยที่ใกล้เคียงกับธุรกิจเขาเท่านั้น แต่ ณ ตอนนี้เริ่มเห็นขยายการส่งเสริมออกมามากขึ้น อาจเพราะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี จึงทำให้เอกชนต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อเข้ามากอบกู้ชีวิต ในอุตสาหกรรมหลายอย่างของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าทั้งหมด หากไม่ทำอะไรเลย ก็จะยิ่งแย่ลง ขณะที่นักวิจัยเองต่อไปก็ต้องปรับตัวเพื่อให้งานวิจัยสามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำงานวิจัยชิ้นนึงให้สำเร็จได้ ค่อนข้างยากมาก ๆ เช่นกัน การรวมกลุ่มของนักวิจัยให้ใหญ่ขึ้น และสื่อสารกับคนที่จะนำงานวิจัยไปใช้จริง ๆ จึงมีความสำคัญ และการคิดโจทย์ร่วมกับคนที่จะนำงานวิจัยไปใช้ ควรจะต้องเริ่มเป็นจุดแรก ซึ่งตอนนี้นักวิจัยก็พยายามที่จะสื่อสารให้เข้าใจมากขึ้น เพื่อให้ผลงานถูกนำไปใช้จริงได้ สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศ
เช่นเดียวกับ รองศาสตราจารย์ ดร.อัญญานี มองว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย มักจะได้รับงบประมาณมาจากภาครัฐ หน่วยงานรัฐ มากกว่าเอกชน ทั้งนี้นักวิจัยก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุทธศาสตร์ประเทศเช่นกันว่าประเทศไปในทิศทางไหน เพราะทุนวิจัยจะไปทางนั้นด้วย แม้ว่านักวิจัยบางท่านอาจไม่ได้ถนัด หรือตรงสาย ก็ต้องมาดูถึงความสามารถในการต่อยอดความรู้ของตนเอง ว่าสามารถใช้งานได้หลากหลายหรือไม่ เพื่อให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือความต้องการในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อให้สามารถมีทุนในการพัฒนาต่อไป
ส่วน ดร.วลีพร มองว่า วิทยาศาสตร์ยังคงสำคัญ หลายเทคโนโลยียังคงต้องพึ่งพาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างแข็งแรง การที่ประเทศจะก้าวไปสู่ระดับโกลบอลได้ ก็ต้องมีฐานวิทยาศาสตร์ที่แข็งแรงเช่นกัน ตอนนี้ประเทศไทยก็เริ่มมีทิศทางการสนับสนุนนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น แต่ยังไม่มาก ทั้งนี้กลุ่มนักวิจัยเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของโลก หาจุดแข็งให้เจอ เพื่อที่เราจะได้เป็นต้นแบบ หรือเป็นผู้นำของโลก