ส่องสวีเดนโมเดล ต้นแบบโลกจัดการขยะ ตั้งเป้าเป็นประเทศไร้เชื้อเพลิงฟอสซิล 100%

ส่องสวีเดนโมเดล ต้นแบบโลกจัดการขยะ ตั้งเป้าเป็นประเทศไร้เชื้อเพลิงฟอสซิล 100%

ส่องแนวคิด “สวีเดนโมเดล” ต้นแบบของโลกด้านการจัดการขยะ มุ่งเป้าสุดหิน 100% Fossil Fuel-Free! รับความท้าทายเป็นประเทศแรกของโลก สู่โอกาสของไทยในการพลิกฟื้น e-Waste

 

 

“ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของเสีย หากสิ่งนั้นอยู่ในที่ที่เหมาะสม” หลักการที่ “สวีเดน” หนึ่งในประเทศที่มีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก นำมาใช้อย่างจริงจังทั้งในระดับนโยบาย กฎหมาย ตลอดจนการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทำให้สวีเดนเป็นประเทศที่แทบจะปราศจากขยะ

 สวีเดน เป็นประเทศแรกของโลกที่ผ่านพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในปี 1967 ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศสวีเดนมากกว่า 60% กำเนิดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และสวีเดนมีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศไร้เชื้อเพลิงฟอสซิล 100% (fossil-free) ภายในปี 2045 ภายใต้นโยบายและกฎระเบียบที่เคร่งครัดและครอบคลุมหลากหลายมิติ อาทิ กรอบการทำงานด้านการพัฒนาแบบยั่งยืน ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการตลอดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์ ภาษีการฝังกลบขยะ และกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถรักษามาตรฐานระดับสูงในการบริหารจัดการขยะ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

 

 

 

ดึง “ผู้ผลิต- ผู้นำเข้า- ผู้จำหน่าย” ร่วมรับผิดชอบ 

หนึ่งในแนวทางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสวีเดนที่ใช้มาแล้วกว่า 20 ปี คือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ (Extended Producer Responsibility – EPR) 

อันนา ฮัมมาร์เกรน เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ล้วนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมไปถึงการเก็บกลับ รีไซเคิล และการกำจัด ซึ่งไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังผลักดันให้องค์กรต่างๆ คิดค้นนวัตกรรมและออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยความตระหนักถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่และความยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

 

 

ป้องกันการเกิดของเสีย ด่านแรกที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืน

สวีเดนมีลำดับขั้นในการจัดการขยะ โดยมุ่งเน้นทั้ง การลดการเกิดของเสีย และเพิ่มการใช้วัสดุซ้ำและรีไซเคิล ซึ่งสิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การป้องกัน (Prevention) ด้วยการลดปริมาณการเกิดของเสีย ซึ่งอาจทำได้ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้ทรัพยากรน้อย แต่ใช้งานได้นาน รวมถึงส่งเสริมกระบวนการผลิตและรูปแบบการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ลำดับต่อมาคือ การใช้ซ้ำ (Reuse) ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซม และปรับปรุงเพื่อยืดอายุการใช้งาน จากนั้นจะเข้าสู่ลำดับของ การรีไซเคิลวัสดุ (Material Recycling) โดยนำวัสดุหรือวัตถุดิบจากของเสีย กลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ แต่หากของเสียนั้นนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำไป สกัดเป็นพลังงานจากขยะ (Energy Recovery) เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบ และเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานหมุนเวียน และสุดท้ายคือ การฝังกลบ (Landfill) ซึ่งต้องพิจารณาให้เหลือน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ในปี 2023 ที่ผ่านมา สวีเดนมีของเสียและขยะชิ้นใหญ่ราว 1.6 ล้านตัน แต่ด้วยความสามารถและความเคร่งครัดในการจัดการขยะ ทำให้สามารถนำวัสดุจากขยะไปรีไซเคิลได้ถึง 40% ส่วนอีก 56% นำไปสกัดเป็นพลังงานหมุนเวียน เหลือเป็นขยะฝังกลบเพียง 4% เท่านั้น

 

 

ความร่วมมือ-กฎระเบียบ ฟันเฟืองสำคัญสู่ความสำเร็จจัดการขยะ e-Waste

เอกอัครราชทูตอันนา ฮัมมาร์เกรน กล่าวว่า ในการปรับปรุงกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับประเทศไทย การใช้นโยบายที่คล้ายกัน อย่าง EPR (Extended Producer Responsibility) จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ด้วยการใช้กฎระเบียบที่ให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบดูแลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งาน ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบที่มีโครงสร้างและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการจัดการขยะ e-Waste การสร้างระบบการเก็บกลับ และโครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลที่ดีขึ้นจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า วัสดุที่มีคุณค่าจะได้รับการกู้คืน และสารที่เป็นอันตรายจะถูกกำจัดอย่างปลอดภัย

การเข้าถึงชุมชนและรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม สามารถสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกวิธี และคุณค่าของการรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืนได้ 

“หนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้สวีเดนเป็นผู้นำระดับโลกด้านแนวทางปฏิบัติเรื่องขยะอย่างยั่งยืน คือ ความพยายามและความร่วมมือของภาคครัวเรือนชาวสวีเดนในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เช่น ขยะอาหาร บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี่ ซึ่งเมื่อถอดรหัสแรงบันดาลใจของสวีเดนแล้ว มองว่าประเทศไทยมีโอกาสในการเสริมสร้างแนวทางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้สภาพแวดล้อมเข้มแข็งมากขึ้น และอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน”

 

 

 

นิวเจน พลังขับเคลื่อนความก้าวหน้าการจัดการขยะ e-waste

เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่ต่อการพัฒนาแนวทางการจัดการขยะรวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยยกตัวอย่าง ชาวสวีเดนที่มีความกระตือรือร้นในการแยกและรีไซเคิลวัสดุ ด้วยความเข้าใจในประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข แนวความคิดนี้ สามารถปลูกฝังให้เยาวชนไทย ผ่านการบูรณาการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมกับหลักสูตรการเรียน มุ่งเน้นการรีไซเคิล e-Waste และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนรุ่นต่อไปเข้าใจวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในประเทศไทย ยังสามารถออกแบบโมเดลธุรกิจที่ส่งเสริมการบริโภคอย่างรับผิดชอบ และสนับสนุนเทคโนโลยีการจัดการขยะ ด้วยการร่วมมือกับธุรกิจในท้องถิ่นและบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ในการพัฒนานวัตกรรมโซลูชันจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

 

 

ทรู เทคคอมปานีไทย กับการจัดการขยะ e-Waste

ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะเทคคอมปานีไทย ตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีแบบครบวงจร และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งทั้งแบรนด์ทรูและดีแทคต่างเป็นช่องทางจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ โครงการ e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ จึงเกิดขึ้นและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมลดปริมาณขยะฝังกลบให้เป็นศูนย์ โดยไม่เพียงเป็นช่องทางรับทิ้งขยะและจัดการขนส่งไปสู่ระบบการรีไซเคิลที่ถูกวิธีอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเท่านั้น 

แต่ยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาร่วมคิดค้นและลงมือทำ กับโครงการ “e-Waste HACK BKK 2024” ที่ได้ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และองค์กรพันธมิตร ดึงความเป็นนวัตกร พลิกฟื้นขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง พร้อมปลุกความตื่นตัวและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จุดพลังความเป็นนวัตกรที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและคุณค่าต่อสังคม

“กิจกรรมต่างๆ อย่าง e-Waste HACK BKK 2024 เป็นเวทีที่ยอดเยี่ยมสำหรับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางเทคนิคในการพัฒนาโซลูชันที่สามารถนำไปทำจริงได้ เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการศึกษา ความร่วมมือ และนวัตกรรม สวีเดนสามารถร่วมมือกับประเทศไทย เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” เอกอัครราชทูตอันนา ฮัมมาร์เกรน กล่าว

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง 

เศษซากความเจริญก้าวหน้าเทคโนโลยี

รายงาน Global E-waste Monitor (GEM) 2024  ขององค์การสหประชาชาติ เผยว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบันทึกไว้ถึง 5 เท่า

ในปี 2022 มีการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากเป็นประวัติการณ์ถึง 62 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 82% จากปี 2010 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 32% เป็น 82 ล้านตันในปี 2030 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ถูกทิ้งพร้อมปลั๊กหรือแบตเตอรี่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีสารพิษหรือสารอันตราย เช่น ปรอท ซึ่งสามารถทำร้ายสมองและระบบประสานงานของมนุษย์ได้

รายงานคาดการณ์ว่าอัตราการรวบรวมและรีไซเคิลที่บันทึกไว้จะลดลงจาก 22.3% ในปี 2022 เหลือ 20% ในปี 2030 เนื่องจากความพยายามในการรีไซเคิลมีความแตกต่างกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก

ความท้าทายที่ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างผลิตภัณฑ์กว้างขึ้น ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การบริโภคที่สูงขึ้น ตัวเลือกในการซ่อมแซมที่จำกัด วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่สั้นลง การใช้ไฟฟ้ามากขึ้นของสังคม ข้อบกพร่องในการออกแบบ และโครงสร้างพื้นฐานการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เพียงพอ

 

 

สหรัฐฯ ผลิต e waste มากที่สุด

สถิติการสำรวจล่าสุดยังแสดงให้เห็นอีกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ผลิตขยะ e-waste มากที่สุด คือ 7.1 ล้านตัน และจีนมาเป็นอันดับสองที่ 6.0 ล้านตัน ปริมาณ e-wasteที่มากเช่นนี้ ชี้นำว่าในทุกวินาที จะมีคนทิ้งเครื่องคอมพิวเตอร์ 800 เครื่องลงถังขยะ ในความเป็นจริงสิ่งที่เรียกว่า e- waste มีหลายอย่างที่เป็นโทษมากกว่าขยะปกติทั่วไป เพราะขยะอีเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีชิ้นส่วน ซึ่งทำด้วยแร่ธาตุ และสารประกอบต่างๆ มากมาย ที่เป็นพิษต่อสุขภาพ ถ้าถูกกำจัดโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม สารพิษก็จะหวนกลับมาทำลายสุขภาพของคนและสภาพแวดล้อมของชุมชนในที่สุด

เช่น ตะกั่ว ซึ่งเวลาขยะถูกเผา ตะกั่วที่มีอยู่ในชิ้นส่วนของอุปกรณ์จะระเหิดกลายเป็นไอ ให้ผู้คนสูดหายใจเข้าปอด และถ้าร่างกายได้เก็บสะสมฝุ่นตะกั่วในปริมาณมาก ระบบหายใจและระบบขับถ่ายจะทำงานบกพร่อง