ส่องแนวคิดธุรกิจท้องถิ่นจากภาคท่องเที่ยว และอาหาร โชว์ต้นทุนภูมิปัญญาสื่อสารชาวโลก

ส่องแนวคิดธุรกิจท้องถิ่นจากภาคท่องเที่ยว และอาหาร โชว์ต้นทุนภูมิปัญญาสื่อสารชาวโลก

ส่องแนวคิดธุรกิจท้องถิ่นจากภาคท่องเที่ยวและอาหาร ใช้ต้นทุนภูมิปัญญา ผสานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สื่อสารชาวโลก อย่าง ศิวาเทล โรงแรมใจกลางกรุง ช่วยเหลือเกษตรกร ฟื้นฟูธรรมชาติ กลายเป็นจุดเด่น ต้นแบบโรงแรมรักษ์โลก บลู มังกี้ ฮับ แอนด์ โฮเทล ชวนนักท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีกระบี่ ขณะที่ฝั่งอาหารแบรนด์เครื่องดื่มทานตะวัน หนุนเกษตรกรในท้องถิ่น ส่วนเฮือนคำนางจากขอนแก่น อนุรักษ์วิถีอีสาน

 

 

การทำธุรกิจให้อยู่รอดในยุคนี้ เป็นเรื่องที่ยากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก หากการดำเนินการไม่ดี ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัด ขาดจิตวิญญาณ ไม่มีตัวตนทางธุรกิจ อาจนำมาซึ่งความล้มเหลวได้ ดังนั้นธุรกิจจึงจำเป็นต้องหาหนทางเพื่ออยู่รอด เหมือนอย่าง 4 ธุรกิจจากโครงการพอแล้วดี The Creator ไม่ว่าจะเป็น โรงแรมศิวาเทล ที่ขึ้นชื่อเป็นโรงแรมรักษ์โลกย่านเพลินจิต กรุงเทพฯ, บลู มังกี้ ฮับ แอนด์ โฮเทล ศูนย์เรียนรู้และโรงแรมสีเขียวกลางเมืองกระบี่, ทานตะวัน ผู้ผลิตโอเลี้ยง ชากาแฟและน้ำผลไม้เข้มข้น สุพรรณบุรี และเฮือนคำนาง ผู้เสนอความวัฒนธรรม ภูมิปัญญาอีสาน ซึ่งทั้ง 4 ธุรกิจนี้ต่าง ดำเนินธุรกิจโดยยึดต้นทุนทางภูมิปัญญาที่ตนเองผสานกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างจุดแข็งเพื่อให้ธุรกิจสามารถคงอยู่ และเดินหน้าเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

 

 

ศิวาเทล 15 ปีที่ยืนอยู่คุณค่า 5 ดาวบูทิค 

แบรนด์ส่งความรู้ไม่ต้องแข่งเชนต่างชาติ 

อลิสรา ศิวยาธร โรงแรม ศิวาเทล  ( Sivatel Bangkok Hotel)  กล่าวว่า จุดเริ่มต้นธุรกิจเป็นแนวคิดโรงแรมสีเขียว (Green Hotel) ตั้งแต่วันแรก เมื่อ 15 ปีที่แล้วถือว่ามาก่อนกาล และตลาดยังไม่ตอบรับมากนัก ตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่มีธุรกิจโรงแรมรอบข้างเป็นกลุ่มนักธุรกิจ และมีห้าง จึงต้องมีการรีแบรนด์ เพื่อหากลุ่มเป้าหมายใหม่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนใจกลางเมือง แต่หลังจากได้เข้าไปเรียนรู้จากโครงการ พอแล้วดี น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในธุรกิจ ทำให้ค้นพบจุดยืนและคุณค่าที่แตกต่างในตัวเอง 

โรงแรมได้ใช้จุดขาย ที่มีคุณค่าที่สร้างความแตกต่างโดยไม่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งขนาดใหญ่รอบข้าง ซึ่งเป็นเชนโรงแรม 5 ดาว ไม่เช่นนั้นจะต้องหาจุดขายเพื่อแข่งขันตลอดเวลา รู้ตน ประมาณตน จึงใช้จุดขายเป็นชุมชนอาหาร ออแกนิก ที่เลือกเกษตรกรกว่า 40 ราย รวมถึงมีเครือข่าย 60 ชุมชน  เข้ามาอยุู่ในร่มเงาในการส่งสินค้าและอาหารปลอดภัย ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพให้กับคนในโรงแรม ฟื้นฟูคุณค่าให้กับมามีชีวิตชีวา พร้อมกันกับมีการพัฒนา อบรม พนักงาน เริ่มต้นประหยัดพลังงาน ไม่มีพลาสติก Single Use และมีการแยกขยะอาหาร รวมถึงปลูกผักภายในโรงแรม   

“จากวันที่มองหาจุดขายตลอดเวลาก็ค้นพบจุดยืน จากคิดว่าเป็นคนตัวเล็กจะแข่งขันกับคนตัวใหญ่ อย่างไร ไม่เน้นแข่งขันกับโรงแรมห้าดาว เราเน้นขายคุณค่า  เป็นโรงแรมแห่งความสุขสมดุล ทั้งพนักงาน และตัวเรา แบ่งปันความสุขอย่างยั่งยืน ไม่ได้ทำให้ผลกำไรอย่างเดียว แต่เน้นทำให้ลูกค้ามีความสุข สมดุล ทุกวัน พนักงาน ชุมชน เกษตรกร เติบโตไปด้วยกัน ร่วมฟื้นฟูอนุรักษ์ ธรรมชาติไปด้วยกัน เป็นการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนโลก” 

หลักการวิธีคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปรับใช้กับวิธีคิดการทำธุรกิจ คือการหาวิธีการทำอย่างไรให้ดีพอสำหรับลูกค้า ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ชวนให้ย้อนกลับมาคุยกับแนวคิดความตั้งใจในการทำธุรกิจของตัวเอง และคนในครอบครัว รวมถึงพนักงาน เพื่อให้คนทุกคนภายในธุรกิจได้ส่งมอบสิ่งที่ดี มีคุณค่า อยู่รอดได้มีผลกำไร แล้วพาชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้ดีเติบโตไปด้วยกัน

“ค้นพบจุดยืน เป็นโรงแรมแห่งความสุขสมดุล แบ่งปันความยั่งยืน ไมได้ทำให้ผลกำไร ทำให้ลูกค้ามีความสุข อยากให้น้องๆ ที่ทำงานมีความสุขบนความสมดุล ชีวิต จากวันที่เราตามหาจุดขายใหม่เพื่อแข่งขันในตลาดตลอดเวลา น้อมนำ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาบริหารธุรกิจ แบรนด์ค้นพบจุดยืน ไม่ต้องแข่งขันกับเชน 5 ดาว อีกต่อไป มีความสุขทุกวันเมื่อเห็นพี่น้องพนักงานมีความสุขและเติบโตไปด้วยกัน บนเวทีที่ฟื้นฟูนอนุรักษ์ไปด้วยกัน พัฒนาสู่การเป็นโรงแรมศูนย์เรียนรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นไปด้วยกัน” 

ทั้งหมดเกิดจากวิธีคิดที่ได้จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือการรู้จักประมาณตน เป้าหมายของแบรนด์คือการส่งมอบความสุข  

 

บลู มังกี้ ฮับ แอนด์ โฮเทล ศูนย์เรียนรู้ 

โรงแรมสีเขียว สร้างสรรค์ กลางเมืองกระบี่ 

วิชุพรรณ ภูเก้าล้วน ศรีสัญญา  บลู มังกี้ ฮับ แอนด์ โฮเทล ( Blu Monkey Hub & Hotel) เมืองกระบี่ เล่าว่า เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวทำด้านการท่องเที่ยว ต้องการเดินตามนโยบายจังหวัดที่เน้นการท่องเที่ยวเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยวสีเขียว จึงเรียนรู้และศึกษาจากโรงแรมที่ได้รับรางวัลด้านสีเขียว มาปรับใช้โรงแรมเดิมในครอบครัวที่รีโนเวทใหม่ภายใต้เชน บลู มังกี้ คอนเซ็ปต์ ครีเอทีฟ โฮเทล เน้นแนวคิดสร้างสรรค์ โดยการพัฒนาตลาดที่ตอบโจทย์คนที่มาเที่ยวกระบี่ ต้องการพักในเมือง เพื่อชมวิถีในตัวเมือง ถนนคนเดิน ป่าชายเลน และสร้างคุณให้ธุรกิจใจกลางเมืองที่เป็นเครือข่ายในชุมชนเมืองกระบี่ มีการพัฒนากิจกรรม เมนูอาหารเช้า อาหารท้องถิ่น 

“เดิมทีตัวเมืองกระบี่จะไม่ใช่เป้าหมายนักท่องเที่ยว แต่เป็นกลุ่มที่เข้ามาทำธุรกิจ ประชุม อบรมสัมมนา แต่เมื่อมีการพัฒนารีโนเวท ให้มีกิจกรรม ในตัวเมือง ที่เน้นชมเสน่ห์ วัฒนธรรม ในตัวเมืองก็สามารถเพิ่มกลุ่มคนที่ต้องการความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว” 

แนวคิดมุ่งเน้นการโกกรีน พัฒนากิจกรรม นำขยะทะเลมาสร้างมูลค่า งานศิลปะ จัดทำเวิร์คช็อป ให้คนมาพัก กลุ่มครอบครัว มีลูก ได้มีโอกาสได้พักผ่อนทำกิจกรรม เสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกันกับทัวร์ จัดชมความงามของป่าโกงกาง มีเมนูพิเศษอาหารประจำท้องถิ่น เช่น ข้างสังหยด นี่คือวิถีโรงแรมที่สามารถพัฒนาสู่ความยั่งยืนได้โดยการปรับตัว ‘การประมาณตน’ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปรับใช้กับโมเดลธุรกิจโรงแรม นำตึกเก่ามาพัฒนาต่อยอด เชื่อมโยงกับชุมชน ค้นหาจุดแข็งคุณค่าที่ตอบโจทย์กับลูกค้าเชื่อมโยงกับประโยชน์ของชุมชน ที่ช่วยให้ตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นด้านการสร้างความรู้ให้กับผู้บริโภค เช่น กินพอดี ไม่กินเหลือ ร่วมมือช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม พลาสติก หรือ แยกขยะ 

 

 

นวัตกรรมน้ำผลไม้-เวย์โปรตีนพร้อมดื่ม 

ยืดอายุเก็บรักษาได้นาน 

สุนิติ เกิดสงกรานต์ ทายาทรุ่นที่ 2 บริษัท ตะวันบอตต์แอนด์แคน จำกัด จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากรุ่นอากงที่ทำน้ำมะเน็ด ซึ่งเป็นน้ำอัดลมที่อัดคาร์บอเนตไดออกไซด์เข้าไป แต่คนไทยเรียกเพี้ยนไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นน้ำมะเน็ด จนวันหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามา เราสู้ไม่ได้ ก็ล้มเลิกกิจการไป อากงก็มาทำร้านกาแฟในชุมชน หมู่บ้าน 

จนมาถึงรุ่นพ่อผม เริ่มตั้งบริษัทขึ้นมา ผลิตน้ำหวานเข้มข้นใน ‘แบรนด์ทานตะวัน’ แล้วก็มาทำโอเลี้ยงบรรจุขวด เพราะว่าเดิมทีที่เราเป็นร้านกาแฟโบราณ ลูกค้าเดินมาซื้อกาแฟเป็นถุงไปกิน ก็เลยเกิดไอเดียทำกาแฟใส่ขวดให้สามารถซื้อกลับไปเก็บไว้กินที่บ้านได้ คุณพ่อมีแนวคิดว่าสินค้าชนิดนี้น่าจะมีอายุการเก็บรักษาได้นาน พัฒนามาจนกลายเป็นโอเลี้ยงทานตะวันที่มีอายุการเก็บรักษานานถึง 1 ปี โดยไม่ต้องแช่เย็น จากนั้นก็มาทำชาดำเย็น 

“หน้าร้อนจะขายดีมาก แต่ช่วงหน้าฝน หน้าหนาว จะไม่ค่อยเท่าไหร่ ต่อมาก็มีการพัฒนาทำผลไม้กระป๋องเริ่มต้นจากแห้วกระป๋อง เนื่องจากที่สุพรรณบุรีเป็นแหล่งผลิตแห้วขนาดใหญ่ของไทย จึงใช้ต้นทุนที่มีมาทำแห้วกระป๋อง รวมถึงทำกระจับกระป๋องด้วย ซึ่งตอนนี้นับว่าหายาก เนื่องจากการทำเกษตรไม่มีคนสานต่อตอนนี้ลูกหลานไปเรียนในกรุงเทพ ไม่มารับช่วงต่อทำเกษตร ก็เลยทำให้วัตถุดิบเหล่านี้เริ่มลดน้อยลงไป”

สุนิติ กล่าวต่อว่า ที่กล่าวมาก็เป็นวิวัฒนาการของเราเรื่อย ๆ เป็นอาหารอนาคตเล็ก ๆ จนมาถึงรุ่นผม ผมมองว่าทุกวันนี้โจทย์ของมนุษย์ที่มีต่ออาหารไม่ใช่แค่อาหารอร่อย อย่างแรกจะเริ่มมองถึงประโยชน์ของอาหารที่เรารับประทานมากขึ้น ถัดมาคือเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคง ซึ่งเกี่ยวกับวัตถุดิบ เช่นกระจับ และแห้ว ที่ไม่ค่อยมีแล้ว บริษัทก็พยายามเข้าไปช่วยส่งเสริม วิธีการ ทำอย่างไรให้เขาทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น ก็พยายามส่งเสริมให้ลูกหลานมาทำเกษตรกรรมเรื่องนี้ต่อไป และสุดท้ายเป็นเรี่องยั่งยืน จะทำอะไรก็ตามต้องไม่สร้างความเสียหายให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม 

ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มพัฒนาอะไรใหม่ ๆ เช่น ทำน้ำผลไม้เข้มข้น ที่เกิดจากแนวคิดที่ว่า บางครั้งคนเราอยากดื่มน้ำปั่น น้ำชง แต่กลัวอ้วน จึงพัฒนาน้ำผลไม้เข้มข้นขึ้น โดยมีน้ำตาลเพียงแค่ 4% เท่านั้น ดื่มได้ไม่ต้องกลัวอ้วน และทำเวย์โปรตีนพร้อมดื่ม เป็นรายแรกและรายเดียวในเอเชียที่ทำเวย์โปรตีนพร้อมดื่มที่อายุเก็บรักษานาน 1 ปี โดยไม่ต้องแช่เย็น 

 

 

เฮือนคำนาง ศูนย์เรียนรู้ต้นทุนภูมิปัญญาอีสาน 

ณัฎฐภรณ์ คมจิต เฮือนคำนาง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นนักเขียน นักสื่อสาร ไม่ได้มีพื้นฐานด้านธุรกิจเลย แต่มีต้นทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอีสาน จึงสร้างเฮือนคำนางขึ้นมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของอีสาน เกี่ยวกับอาหารอีสานเพื่อบอกโลกว่าอีสานมีอะไรดี โดยกิจกรรมภายในเฮือนคำนางมีทั้งร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์จากอีสาน ใช้เวลาในการลองผิดลองถูกเป็นเวลากว่า 17 ปี กว่าจะสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา 

จนวันหนึ่งได้เข้าไปเรียนที่โครงการพอแล้วดี จึงมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นว่าสิ่งที่ทำมีความหมายต่อตนเอง และคนอื่น ๆ ด้วย โดยเฮือนคำนางได้เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นทุนด้านเกลืออีสาน ซึ่งภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีความชื้นในอากาศน้อย เกลืออีสานมีความหลากหลายมาก แต่ละถิ่นแต่ละที่มีความดีงามแตกต่างกัน เราอยากจะบอกสิ่งนี้ให้โลกได้รู้ และสื่อสารความดีงามเหล่านี้มาใส่ไว้ในอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อบอกโลก 

นอกจากนั้นอีสานยังมีวัฒนธรรมของการเก็บอาหารสำหรับรับประทานในวันถัดไป หรือมีกินในอนาคต เช่น การนำปลามาหมัก จนกลายเป็นปลาร้า หรือการหมักดอกผัก เฮือนคำนางเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้คนได้มาเรียนรู้ต้นทุนภูมิปัญญาของคนอีสานทั้งสิ้น