จุฬาฯ- มหิดล ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย นวัตกรรม แชร์หลักสูตร – สร้างสังคมประเพณี -ผุดนโยบายสาธารณะ แก้ปัญหาสังคมที่ยั่งยืน
หากพูดถึงการศึกษาไทย ณ เวลานี้การแข่งขันกันเติบโตเพื่อเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญลำดับแรกที่สถาบันการศึกษาจะต้องโฟกัส เพราะการแข่งขันบนเวทีโลกนั้นสำคัญยิ่งกว่า และสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องผนึกความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างคนออกไปเฉิดฉายแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ 2 มหาวิทยาลัยท็อประดับประเทศ อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จับมือกันเพื่อยกเครื่องการศึกษาครั้งใหญ่ โดยลงนามความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม สร้างกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาจากทั้งสองสถาบัน สามารถลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้
สร้างประเพณีเพื่อสังคม
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยวันนี้ไม่ใช่แค่การผลิตเรื่องการศึกษา แต่ต้องมองไปถึงมิติความยั่งยืน หรือมองไกล ทำอย่างไรให้มีความต่อเนื่อง การจับมือกันครั้งนี้เป็นการสร้างสังคมประเพณีของสองสถาบัน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคณาจารย์และบุคลากรเท่านั้น แต่นิสิตมีส่วนร่วมที่สำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดลมีปณิธานร่วมกันที่มุ่งหวังให้ความยั่งยืนหรือ Sustainability เป็นเรื่องของความรู้สึกและจิตใจของนิสิตนักศึกษา
ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญควบคู่กับคุณภาพของการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย โครงการความร่วมมือระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัยนอกเหนือจากโครงการวิจัยร่วมกันซึ่งจุฬาฯ และมหิดลได้ดำเนินการอยู่แล้ว ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีโครงการวิจัยในระดับลึกมากขึ้น โดยมีนวัตกรรมและ AI ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้นจะมีกิจกรรมในลักษณะกิจกรรมประเพณีเพื่อสังคมระหว่างจุฬาฯ และมหิดลซึ่งจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2568
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งจุฬาฯ และมหิดลมีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ความร่วมมือกันในครั้งนี้ทั้งสองมหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่าการสร้างพลังระหว่างนิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิสิตเกิดการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของความยั่งยืนคือการพัฒนาประชาคมโลก (Global Citizen)
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีความโดดเด่นด้าน Health Science และ Science and Technology การที่สองมหาวิทยาลัยมาร่วมมือกันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนิสิต นักศึกษา รวมถึงนักวิจัยของสองมหาวิทยาลัยจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม โดยมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนและ SDGs
ความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายในการผลิตคนที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์โลกยุคใหม่ โดยเฉพาะทักษะจำเป็นในอนาคต หรือที่เรียกว่า Transferable Skills ที่เป็นแนวทางการจัดการศึกษาในโลกยุคใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและฝึกฝน Soft Skill ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัยและกิจกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืนที่จะช่วยสานพลังในการสร้างผลกระทบเชิงบวกและความยั่งยืนให้กับประเทศ
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวต่อว่า ตอนนี้เกาหลีใต้ ไต้หวัน เขาพัฒนาเศรษฐกิจไปไกลเพราะว่าเขาร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ได้ดีกว่าเรา นโยบายที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลตอนนี้คือ เราต้องการให้มีอิมแพค ให้งานของเรามีผลกระทบกับประชาชนคนไทยจริง ๆ รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็เลยเป็นแนวคิดที่เราเห็นตรงกันว่าจะจับมือกัน ช่วยกันพัฒนาเพื่อให้เกิดการร่วมกันสานภารกิจ ในแง่ของงานวิจัย การผลิตบัณฑิต บุคลากรออกไปให้มีความตระหนักรู้ถึง SDGs และพัฒนาให้ชุมชนของประเทศไทย มีความเจริญอย่างยั่งยืนต่อไป
ความยั่งยืนสำคัญยังไงในโลกปัจจุบัน?
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวอีกว่า เมกะเทรนด์ในโลกที่สำคัญมากคือเรื่อง Climate change การเอาแต่ผลประโยชน์เพื่อตนเอง โดยที่ไม่ได้คิดจะดูแล Planet เป็นเรื่องใหญ่มาก ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว ให้ความใส่ใจสภาพแวดล้อม เราจะต้องผลิตบัณฑิตที่มีความตระหนักรู้เรื่องนี้ออกไป เพราะไม่อย่างนั้นถ้าอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอีก 2 องศาในภายระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า เราจะเจอกับความเดือดร้อนมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น ในประเทศอื่นๆ เขาได้ปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลโลกใบนี้อย่างมากมาย ผลผลิตของประเทศเราที่จะส่งออกต่างประเทศ มันต้องเป็น Green ถ้าไม่เช่นนั้นเราจะขายของในประเทศเขาไม่ได้ ถ้าบัณฑิตที่เราผลิตออกไปขาดความตระหนักเรื่องนี้ จะทำให้เราแข่งขันกับเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องผสานความรู้เชิงวิชาการหลายด้าน ตลอดจนประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการผลิตอย่างยั่งยืน ในประเทศของเรา ต้องไปดูแลภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย
สร้างคนเจน S ตระหนักรู้ความยั่งยืน
2 มหาวิทยาลัยแชร์หลักสูตร เรียนร่วมกัน
เป้าหมายของเราก็อยากจะสร้าง Gen S (Gen Sustainability) ที่ตระหนักรู้ถึงความยั่งยืน เราอยากปลูกฝังให้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา สิ่งที่สองสถาบันจะร่วมผลักดันคือการเรียนการสอนร่วมกัน โดยที่ให้เด็กปี 1-2 ได้แชร์กัน โดยเกิดหลักสูตรฝั่งละ 5 หลักสูตร ชักชวนให้นักศึกษามหิดล ลงทะเบียนเรียนที่จุฬาฯ ขณะที่จุฬา ก็มาลงทะเบียนเรียนกับมหิดล แต่ตัดเกรดตามสถาบันต้นสังกัดของตนเอง ไม่ต้องห่วงเรื่องการตัดเกรด เพราะยึดตามหลักเกณฑ์สถาบันตนเอง ไม่ต้องกังวลเรื่องการเงินหน่วยกิตแลกกันไปมาให้เกิดความวุ่นวาย
มหิดลอาจจะชำนาญด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จะเน้นการพัฒนาชุมชนโดยมีโรงพยาบาลชุมชนเข้ามาร่วมกับโครงการนี้ 70 โรง ไม่ใช่ให้นักศึกษาที่ลงทะเบียนเข้ามามาฝึกงานกับโรงพยาบาลชุมชน แต่ให้เขามีส่วนร่วมในการลงไปช่วยเหลือดูแลชุมชนตามอำเภอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตรอินทรีย์ การลดมลพิษ การกำจัดขยะ การทำไบโอดีเซลจากน้ำมันเหลือใช้ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นพลังงานสะอาด การดูแลแหล่งน้ำ เป็นเรื่องที่มีพื้นที่ต่าง ๆ ทำอย่างมากมาย ฯลฯ
อย่างการร่วมมือทางวิชาการ จะเน้นการสร้างนโยบายสาธารณะ โดยการศึกษาข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำมาแก้ไขปัจจุบัน อย่างเช่น ปัญหาการเสียชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งจากความประมาทและไม่ตั้งใจ คำถามคือ เราจะปล่อยให้ปัญหาในประเทศ เป็นแบบนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องเลยหรือ?
ดังนั้นเราจะร่วมกันหาทางออกที่สำคัญของประเทศ โดยศึกษาข้อมูลงานวิจัย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีคนทำไว้มากมาย แต่เราแค่นำมาร่วมกันเสนอให้กับรัฐบาล ผมเชื่อว่าถ้าสองมหาวิทยาลัยใหญ่เสนอ คิดว่ารัฐบาลน่าจะฟังเสียงเรา ฯลฯ คาดว่ามีสารพัดเรื่องที่เราน่าจะทำร่วมกันได้ ผลักดันจนเป็นกฏหมายใหม่บังคับใช้ ให้การศึกษากับประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นต้น