โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ตั้งศูนย์วิจัยให้นักเรียนต่อ ยอดความรู้ สู่นวัตกรรมคว้ารางวัลในเวทีโลก

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ตั้งศูนย์วิจัยให้นักเรียนต่อ ยอดความรู้ สู่นวัตกรรมคว้ารางวัลในเวทีโลก

เมื่อเจนแซด และเจนอัลฟ่า เป็นนักเปลี่ยนแปลงอนาคตสิ่งแวดล้อม ภาคการศึกษาจำเป็นต้องปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน “โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน” ตั้งศูนย์วิจัยในโรงเรียน ให้นักเรียนต่อยอดความรู้ สร้างนวัตกรรมใหม่ จนคว้ารางวัลชนะเลิศ บนเวทีใหญ่ระดับโลกสำเร็จ 

 

 

การสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม นับว่ามีความสำคัญอย่างมากท่ามกลางสถานการณ์โลกเดือด มนุษย์ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน และคนรุ่นต่อไปต้องเผชิญผลกระทบตั้งแต่วัยเยาว์ คนรุ่นใหม่จะสามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและช่วยโลกใบนี้เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ภาคการศึกษา ต้องมีบทบาทช่วยปลูกฝังพฤติกรรมและกระบวนการเรียนรู้ที่จะให้เด็กๆ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต

 

 

 

 

 

การรับรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังต่ำ

กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ประกอบด้วย 38 ประเทศ ทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา พบว่ามีเพียง 40% ของผู้ใหญ่ในกลุ่มนี้ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าน้อยและน่าเป็นห่วง 

นอกจากนี้ OECD ยังมีบทบาทในการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานนานาชาติ PISA ซึ่งวัดความรู้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในนักเรียนวัยรุ่น

ผลการประเมิน PISA ในปี 2018 แสดงให้เห็นว่านักเรียนไทยมีความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทำให้ประเทศไทยและประเทศสมาชิก OECD อื่น ๆ ต้องเร่งเสริมทักษะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาความรู้ในเชิงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

“เจนแซด VS เจนอัลฟ่า” นักเปลี่ยนแปลงอนาคตสิ่งแวดล้อม 

เจนแซด (Gen Z) อาจมีบทบาทที่โดดเด่นกว่า เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้บริโภคที่มีอิทธิพลและสามารถเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจได้ ในขณะที่เจนอัลฟ่า (Gen Alpha) จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และอาจเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

เจนแซดและเจนอัลฟ่า ต่างเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มีจุดเด่นแตกต่างกันในด้าน “กรีนคอนเซปต์” (Green Concept) ตามรายงานจาก Pew Research Center และ Forbes ระบุว่า

เจนแซด (เกิดระหว่างปี 2538-2552) มักถูกเรียกว่า “นักเคลื่อนไหวเชิงสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากตระหนักสูงในภาวะโลกร้อน และสนับสนุนแบรนด์ที่ยั่งยืน โดยกว่า 73% ยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างการรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง

ในขณะที่ เจนอัลฟ่า (เกิดตั้งแต่ปี 2553) เติบโตมากับการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งคาดว่าจะผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และเติบโตขึ้นมาในโลกที่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา และเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ 

ในปี 2030 เจนเนอเรชั่นของกลุ่มอัลฟ่า มากกว่า 50% จะมีส่วนร่วมเคลื่อนแนวคิดความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และกลายเป็นบุคลากรที่มีมูลค่าการตลาดสูงที่สุดภายใน 5 ปีข้างหน้า 

การให้ข้อมูลที่เหมาะสมและการจัดการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาแนวคิดและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน

 

 

 

 

 

ภาคการศึกษา กับบทบาทปลูกเมล็ดพันธุ์ความยั่งยืน

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาโครงการที่มุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรม และความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และก่อตั้งศูนย์วิจัยที่ช่วยสนับสนุนแนวคิด ให้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และอนาคตของโลก 

อาจารย์วิชัย สีสุด รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมการศึกษาและแผนงาน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดเผยว่า แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องการบุคลากรที่มีความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีสีเขียว ภาคโรงเรียนและการศึกษาก็ให้ความสำคัญกับการจัดการในระดับอุดมศึกษาที่มีความสำคัญมาก

สำหรับบริบทของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ให้ความสำคัญในการผลักดัน ความรู้เท่าทันทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental literacy) ของนักเรียน โดยเชื่อว่าความรู้เท่าทันทางด้านสิ่งแวดล้อมคือพื้นฐานสำคัญที่สุดของการสร้างอนาคต

โดยภาคการศึกษาสามารถควบคุมแนวทางการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ นักเรียนจะมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ซึ่งมีโครงการต่าง ๆ ที่นำความรู้มาปฏิบัติ เช่น โครงการ “กรีนโมเดล” ที่มุ่งเน้นให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียวร่วมกัน แม้พื้นที่ของโรงเรียนจะมีจำกัด แต่ก็มีความพยายามในการเปลี่ยนพื้นที่ที่มีอยู่ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่เพียงแต่ในโรงเรียน แต่ยังรวมถึงพื้นที่ในชุมชนรอบข้าง ผ่านการปลูกป่าและโปรเจ็กต์อื่น ๆ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น

“เรามีความเชื่อแบบนี้และมองเห็นสิ่งที่นักเรียนผลักดันและทำได้ วันนี้นอกจากโปรเจคที่ทำในโรงเรียนนักเรียนเองสามารถสร้างโปรเจค ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติได้อย่างเมื่อปีที่แล้ว มีนักเรียนที่ส่งผลงานวิทยาศาสตร์ ในการแข่งขัน  ไอเซฟ (ISEF)  ที่เป็นการแข่งขัน วิทยาศาสตร์ในระดับโลก” 

 

 

โครงการอบรมบ่มเพาะ DNA นวัตกร

 

ตั้งศูนย์วิจัยในโรงเรียน ให้นักเรียนลงมือทำจริง

ศูนย์วิจัยเริ่มต้นจากกลุ่มอาจารย์และนักเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์และชีววิทยา เพื่อสร้างผลงานนวัตกรรม หลังจากนั้นศูนย์นี้ได้เติบโตขึ้น มีอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมงาน นักเรียนที่สนใจในการวิจัยสามารถใช้ศูนย์นี้เป็นเส้นทางในการสร้างต้นแบบนวัตกรรมได้

ศูนย์วิจัยก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แม้ว่าแนวคิดในการนำวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์ผลงานจะเริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นกว่า 10 ปี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ระดับประถมปีที่ 1 จนถึงมัธยมปีที่ 6 เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ในระยะยาว

 

 

 

 

คว้ารางวัลชนะเลิศ โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นักเรียน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศ โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในงานแข่งขัน Regeneron ISEF 2023 จากการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความยั่งยืน

โดยคว้ารางวัลที่ 1 สำหรับผลงาน “แมลงช้างปีกใส”  ในหัวข้อ การเพิ่มอัตราการรอดของแมลงช้างปีกใส (Mallada basalis) จากพฤติกรรมการฟักและการเลือกกินอาหาร  โดยนายปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น รุ่น 170, นายทีปกร แก้วอำดี รุ่น 171, และนายปัณณธร ศิริ รุ่น 172 ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการรอดของแมลงได้ถึง 5.8 เท่า 

เนื่องจากวงจรชีวิตของแมลงช้างปีกใสสั้นและมีอัตราการรอดที่ต่ำ แต่การวิจัยนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของแมลง และสามารถเพิ่มการกำจัดวัชพืชในกระบวนการเกษตรของประเทศไทย เป็นแบบอย่างที่ดีในการนำไปใช้ในด้านการเกษตรชีวภาพ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการควบคุมวัชพืช

 

 

 

แค่สอนให้แยกเด็กขยะไม่เพียงพอแล้วใช่หรือไม่

อาจารย์วิชัย สีสุด เผยว่า โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการสร้างจิตสำนึกและการเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้กับนักเรียน เพื่อให้พวกเขาสามารถจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น นวัตกรรมถือเป็นทางออกที่สำคัญ เพราะเมื่อเด็กมีทักษะในการสร้างสรรค์และเป็นนวัตกรที่ดี พวกเขาสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตและอาชีพได้อย่างสร้างสรรค์

การปลูกฝังแนวคิดเหล่านี้ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะช่วยให้นักเรียนมีมุมมองที่ดีเมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยและสามารถพัฒนาต่อยอดไปจนจบการศึกษา นอกจากนี้ โรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนได้ออกนอกห้องเรียน เพื่อสร้างผลงานที่มีประโยชน์ต่อสังคม ไม่เพียงแค่การประดิษฐ์ แต่เป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่าที่จะทำให้พวกเขาก้าวสู่การเป็นนวัตกรที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

 

 

 

 

หลักสูตรที่ควรเพิ่มเข้ามาในโรงเรียน

อาจารย์วิชัย กล่าวว่า ควรเน้นนักเรียนไปที่การพัฒนาทักษะการคิดแบบนวัตกรรม ซึ่งไม่ใช่เพียงการสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ต้องมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาและสร้างประโยชน์ด้วย

  1. การคิดแบบนวัตกรรม นักเรียนควรเรียนรู้วิธีการคิดที่ไม่หยุดนิ่ง และสามารถสร้างแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
  2. การตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ การเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามที่สำคัญและมองหาคำตอบที่หลากหลาย เพื่อให้ได้มุมมองที่กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
  3. การพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ นักเรียนควรได้ฝึกฝนการนำความรู้ที่เรียนมาไปปรับใช้ในสถานการณ์จริง เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญและการใช้งานของความรู้ในชีวิตประจำวัน

“ปีนี้เป็นปีที่ 25 ที่ผมทำงาน แล้วผมก็เห็นภาพชัดเจนว่าสภาวะการศึกษา ตามมาตรฐานของกระทรวงที่กำหนดไว้ไม่เพียงพอ เราเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการนำความรู้มาสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องเผชิญกับเมกะเทรนด์ เช่น การใช้ AI และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าเราไม่สามารถสอนตามหนังสือเนื้อหาได้ เราจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ให้เน้นการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียน เพื่อให้พวกเขาสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้”

 

ที่มาภาพ : Bangkok Christian College