พื้นที่ทุ่งทุนดราอาร์กติกกลายเป็นแหล่งมลพิษทางสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจย้อนกลับ

พื้นที่ทุ่งทุนดราอาร์กติกกลายเป็นแหล่งมลพิษทางสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจย้อนกลับ

นักวิทยาศาสตร์NOAA ได้ร่วมทำวิจัยกับทีมเก็บบันทึกสภาพอากาศทางภาคเหนืออันเย็นยะเยือก ค้นพบทุ่งทุนดรา ในอาร์ติก ได้ดูดซับมลพิษทางสภาพอากาศลงสู่ดินได้ จนกลายเป็นอาณาเขตเก็บกักสารพิษขนาดใหญ่ที่รอวันปะทุสู่โลก

 

 

รายงานฉบับล่าสุดเผยว่า พื้นที่ทุ่งทุนดราในอาร์กติกกลายเป็นแหล่งมลพิษทางสภาพอากาศ นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration-NOAA) และผู้ร่วมวิจัยได้บันทึกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภาคเหนือที่เย็นยะเยือก ขณะเดียวกัน สถาบันวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในอนาคต

ทุ่งทุนดราในอาร์กติก (Arctic Tundra)คือพื้นที่ใด

ทุ่งทุนดราในอาร์กติก (Arctic Tundra) คือ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยมักจะมีฤดูร้อนที่สั้นและฤดูหนาวที่ยาวนาน พื้นที่ทุ่งทุนดราในอาร์กติกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตขั้วโลกเหนือ ซึ่งครอบคลุมส่วนหนึ่งของแคนาดา, รัสเซีย, อลาสก้า และสแกนดิเนเวีย ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีพืชพรรณจำกัด เช่น หญ้า, มอสส์, และพืชพันธุ์ที่ทนทานต่อความหนาวเย็น และพื้นดินในพื้นที่เหล่านี้มักจะเป็นดินเยือกแข็ง (permafrost) ที่ไม่สามารถละลายได้หมดในฤดูร้อน

ทุ่งทุนดราในอาร์กติกมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศและการควบคุมสภาพอากาศโลก เนื่องจากมันทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนจากชั้นดินเยือกแข็งที่ปกคลุมดิน ซึ่งช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อภูมิอากาศร้อนขึ้น การละลายของชั้นดินเยือกแข็งทำให้คาร์บอนถูกปล่อยออกมาเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น

 

 

 

ทรัมป์ 2.0 สร้างความไม่แน่นอนให้กับ NOAA

รายงานสรุปอาร์กติกที่ได้รับการเผยแพร่ในช่วงสุดท้ายของการบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สร้างความไม่แน่นอนในภาพรวมของวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน NOAA และหน่วยงานวิทยาศาสตร์อื่นๆ ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในอนาคต หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีมุมมองต่างออกไม่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ได้เสนอแผนที่จะลดขนาดของรัฐบาลกลาง โดยมีการเรียกร้องให้ตัดงบประมาณจากการวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศ

การตัดสินใจในสภาคองเกรสจะเป็นปัจจัยสำคัญว่าอนาคตของ NOAA และการวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศจะเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้การประชุมประจำปีครั้งที่ 24 ของสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน (AGU) ที่จัดขึ้นในปีนี้ที่วอชิงตัน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต

 

 

ริชาร์ด สปินราด ผู้ดูแล NOAA พูดคุยกับเจมส์ โอเวอร์แลนด์ นักสมุทรศาสตร์ของหน่วยงานในระหว่างการประชุมประจำปีของสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกันที่วอชิงตัน ดี.ซี. เครดิต: Marianne Lavelle/Inside Climate News

 

 

เร่งดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบโลกร้อนในอาร์กติก

ริชาร์ด สปินราด (Richard Spinrad) หัวหน้าหน่วยงาน NOAA กล่าวว่า รายงานนี้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและเร่งด่วนในอาร์กติก ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในขณะนี้ และเรียกร้องให้มีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อลดปัญหา

รายงานนี้เผยถึงสถิติต่างๆ เช่น อุณหภูมิอากาศผิวน้ำที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองตั้งแต่ปี 1900 การตกของฝนที่มากที่สุดในฤดูร้อนปี 2024 และความเขียวขจีของทุ่งทุนดราที่สูงเป็นอันดับสองจากข้อมูลดาวเทียมในรอบ 25 ปี ขณะเดียวกัน ฤดูหิมะก็มีระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์

ทวิลา มูน รองหัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอาร์กติกในปัจจุบันว่าแตกต่างจากสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าเราไม่สามารถคาดการณ์ว่าภาวะนี้จะเป็น “ปกติใหม่” ตลอดไป แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

ทุ่งทุนดราอยู่ในสภาวะเสี่ยง

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในรายงานคือการเปลี่ยนแปลงของทุ่งทุนดราจากแหล่งกักเก็บคาร์บอนมาเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอน ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของไฟป่าและการเจริญเติบโตของพืชตามภาวะโลกร้อน ไฟป่าในอาร์กติกตั้งแต่ปี 2546 ส่งผลให้มีการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยปีละ 207 ล้านตัน เทียบเท่ากับการปล่อยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 200 แห่ง

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อภูมิภาคอาร์กติกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากคาร์บอนในดินใต้ชั้นดินเยือกแข็งของอาร์กติกมีจำนวนมากกว่าคาร์บอนในชั้นบรรยากาศปัจจุบันถึงสองเท่า

ขณะเดียวกันในสหรัฐฯ การล้มเลิกเป้าหมายการลดมลภาวะและการถอนตัวจากข้อตกลงปารีสภายใต้การบริหารของทรัมป์ ส่งผลกระทบต่อการวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงงบประมาณที่ตัดลงของ NOAA การตัดสินใจเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการวิจัยในอนาคต แต่ถึงอย่างไร NOAA ยังคงดำเนินการต่อไป โดยเน้นความสำคัญในการตอบสนองต่อคำร้องขอจากชุมชนและอุตสาหกรรมในอาร์กติก

แต่สุดท้ายเจมส์ โอเวอร์แลนด์ นักสมุทรศาสตร์ของ NOAA ที่ทำงานในโครงการสำรวจอาร์กติกมา 50 ปี กล่าวว่ายังมีงานต้องทำในอาร์กติก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไป และงานในรายงานประจำปีครั้งหน้าก็จะเริ่มต้นขึ้นทันที เพราะบรรยากาศและสภาพอากาศไม่หยุดนิ่งตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

 

ที่มา: https://shorturl.at/91sQV