สางปัญหาเรื้อรัง โมเดลกวาด ‘ขยะ’ ในไทย หมุนกลับไปเป็น ‘ทรัพยากร’

by ESGuniverse, 19 กันยายน 2567

แผนการจัดการขยะของไทย ที่ไม่เคยสำเร็จได้จริง ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นทางผลิต พลาสติก อาหาร เสื้อผ้าสิ่งทอ พร้อมใจกันผลิต บริโภคและคืนกลับสู่ทรัพยากร

 

คนหนึ่งคน สร้างขยะประมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งรวมถึงขยะพลาสติก และคนหนึ่งคนสร้างขยะอินทรีย์ อีก 2.2 กรัมต่อวัน ที่กลายเป็นปัญหาในการจัดการทั้งต้นทาง กลางทางและ ปลายทาง

ขยะอาหารหรือขยะอินทรีย์ คือขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว ในปัจจุบันเป็นประเภทขยะที่มีปริมาณมากที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ โลกปัจจุบันถูกควบคุมด้วยปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคอาหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดขยะอาหารที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือต้องมีการจัดการที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพเพื่อให้ลดผลกระทบที่ตามมาได้

ชาตรี เอี่ยมโสภณา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) เอสซีจี ให้มุมมองว่า เอสซีจีตั้งใจ ผลักดันในเรื่องการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Sustainability Development Goals) มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจที่จะต้องเติบโตไปพร้อมกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงจะทำให้เกิดความยั่งยืน ในเรื่องของการจัดการขยะ ประเทศไทยมีขยะอยู่สัก 20 ล้านตันและทุกคนมีส่วนทำให้เกิดขึ้น ซึ่งปริมาณของขยะที่นำกลับมาใช้ได้มีแค่ 50% ที่เหลือถูกกำจัดแบบถูกวิธีและไม่ถูกวิธีบ้าง

“วันนี้คาดหวังว่าถ้าเราคิดใหญ่ทำใหญ่ก็อยากทำให้เกิดขึ้นได้จริง ต่อยอดให้ประเทศของเราดำเนินการจัดการขยะได้อย่างดีขึ้นและยั่งยืน”

 

 

 

ขยะต้นทางโลกร้อน
ความหลากหลายชีวภาพเสียสมดุล

ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยถึงปัญหาขยะว่าอยู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เป็นเรื่องที่พูดบ่อยที่สุดจนยากในการจัดการ แม้จะพูดกันมายาวนาน แต่ก็ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งที่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะเข้าใจและไม่ต้องเข้ามาพูดตอกย้ำให้คนในประเทศได้เข้าใจ เป็นสิ่งใกล้ตัวที่ทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน

ปัจจุบันในต่างประเทศตื่นตัวกับการแก้ไขปัญหาการโลกร้อนใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ความหลากหลายทางชีวภาพ, มลพิษ

ทั้งนี้ผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดขึ้นชัดเจนและทวีความรุนแรงมากขึ้น

ขณะที่ความหลากหลายทางชีวภาพ ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนขึ้น จึงทำลายสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ความอ่อนไหวด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตบางชนิดจึงสูญพันธ์ บางชนิดกลับเติบโตมีชีวิตรอด และเข้ามาอยู่ในประเทศไทย อย่างปลาหมอคางดำ เพราะประเทศไทยมีพื้นฐานจากเกษตรกรรม ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่เปลี่ยนไปถึง 70% เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องตื่นตัว

ปัญหามลพิษ ที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดน เช่น PM 2.5 ได้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่ต้องร่วมมือกันจัดการ และปัญหา ไมโครพลาสติก

หลากหลายแหล่ง
ไมโครพลาสติกปนเปื้อน
ภัยเงียบฉุดสุขภาพ

ส่วนหนึ่งของปัญหา Climate Change นั้นเกิดจาก ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากไมโครพลาสติกที่มีอนุภาคขนาดเล็กที่ย่อยสลายยาก แพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อม ทำลายระบบนิเวศทั้งดิน แหล่งน้ำ สะสมในห่วงโซ่อาหาร เมื่อสัตว์น้ำเข้าไปกินก็กระจายอยู่ในเซลล์ร่างกายของสัตว์ โดยเมื่อคนนำไปบริโภคอาหารและน้ำดื่ม จึงเกิดการปนเปื้อนมลพิษเข้าสู่ร่างกาย

สำหรับขยะนั้นมาจากหลากหลายแหล่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย ขยะพลาสติก ขยะอาหาร เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดขยะ สัดส่วน 40-50% รวมถึงแฟชั่นจานด่วน (Fast Fashion) เสื้อผ้าที่สวมใส่สุดท้ายกลายเป็นขยะ ยังรวมถึงขยะจากช่วงโควิดประมาณอีก 24-25 ล้านตันต่อปี ถ้าสภาวะปกติก็ประมาณ 28-29 ล้านตันต่อปี


“อันตรายจากพลาสติก ที่กลายเป็นไมโครพลาสติก กระทบต่อทรัพยากรบนโลก ซึ่งขยะที่ตกค้างจากช่วงโควิดยังสะสมและไม่ถูกกำจัดสะสมในสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก”

ดร.วิจารย์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย จะต้องส่งเสริมการจัดการหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อเนื่อง สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกทะเลลงไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2570 ผ่านโมเดลความร่วมมือภาครัฐและเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจน องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงภาคีเครือข่ายในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ผ่าน “PPP Plastics”

ผ่านการดำเนินการใน 6 ด้านหลัก ประกอบด้วย
1 ด้านนโยบาย
2 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
3 ด้านนวัตกรรม
4 ด้านการศึกษาและการสื่อสาร
5 จัดทำฐานข้อมูล
6 บริหารจัดการงบประมาณ

PPP Plastics รวมพลังเศรษฐกิจหมุนเวียน

ดร.วิจารย์ ยังกล่าวถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือผ่าน PPP Plastics เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งตอบสนองต่อทิศทางนโยบายทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (EPR) กฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรฐาน PCR และข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในการขับเคลื่อนงานในอนาคต PPP Plastics จะจัดตั้งเป็นสมาคม PPP Plastics เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ที่ผ่านมามีโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า โดยการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูล และการลงทะเบียนซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าที่เชื่อมโยงกันในระดับประเทศ และอบรมให้ความรู้แก่ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อนำวัสดุรีไซเคิลคุณภาพดีกลับเข้าสู่ระบบการผลิต”

 

 

เร่งกำจัดขยะปลายทาง
ย้อนศรสู่ปณิธานแยกขยะต้นทาง

ทางด้าน ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เสริมว่า ประเทศไทยประกาศแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ผลลัพธ์ในระยะที่ 1 เน้นการจัดการขยะที่ปลายทางแต่ไม่สำเร็จแต่ที่ เพราะไม่สามารถรองรับขยะได้แล้ว ในส่วนของระยะที่ 2 จึงปรับการจัดการใหม่โดยเริ่มจากการจัดการที่ต้นทาง คัดแยกขยะ เก็บขนแบบแยกประเภท ทำให้ปัญหาขยะที่ถูกจัดการไม่ถูกเหลือแค่ 25-30% เท่านั้น ซึ่งขยะส่วนแรกที่มากที่สุด คือ ขยะอาหาร (Food Waste) เป็นเรื่องสำคัญที่หากลดได้จะลดปริมาณขยะได้เยอะมาก

นอกจากนั้นยังมีกฎหมาย เนื่องจากว่าไม่สามารถที่จะใช้มาตรการแรงจูงใจได้อีกแล้ว เพราะการจูงใจได้แค่ส่วนหนึ่งหากเต็มใจที่จะทำ แต่กฎหมายคือการบังคับไม่ว่าจะเป็นเอกชนภาครัฐหรือภาคประชนต้องทำให้ได้ เป้าหมายในอนาคต คือ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะต้องเข้าระบบในการกำจัดขยะที่ถูกต้อง 100% และลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงทะเล ร้อยละ 50 ในปี 2570

“ทางเอสซีจี ช่วยเยอะมากในเรื่องของการผลิต ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับมาใช้ต่อได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และต้องเริ่มต้นที่ตัวเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพยายามลดและคัดแยก อาจจะไม่ต้องมีขยะถึง 5 ใบ แค่แยกแห้งกับเปียกก็พอแล้ว ถ้ามีถังหมักชีวภาพยิ่งช่วยลด food waste ได้ด้วย”

ปรับไมด์เซ็ท ‘ขยะ’ คือ ‘ทรัพยากร’ หมุนเวียนกลับมาใช้
กรณีศึกษาการจัดการขยะในต่างประเทศ

คุณกฤษดา เรืองโชติวิทย์ Head of Circular Economy บริษัท เอสซีจี เคมิคอลล์ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงกรณีศึกษาการจัดการขยะในต่างประเทศ แม้ว่าสถานการณ์ขยะทั่วโลกจะเป็นเรื่องรุนแรง แต่ประเทศเยอรมันเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีการจัดการขยะที่ดี เพราะมีนโยบายที่เข้มแข็ง ไม่ใช่แค่ภาคบังคับแต่ยังสนับสนุน ทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต ตามไปจนถึงต้นทางยังปลายทาง สร้างจิตสำนึกเรื่องกระแยกขยะเป็นหน้าที่ของทุกคน มีการแยกถังขยะอย่างเป็นระบบ 6 สีที่เข้มงวด มีกฎปรับหากแยกไม่ถูกต้องหรือแม้แต่การเก็บค่ามัดจำขวดประเภทต่างๆ ผ่านนโยบาย Pfand จึงเป็นหนึ่งวิธีที่จูงใจให้ประชาชนอยากรีไซเคิลขยะและมีส่วนแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ต่อด้วยประเทศเกาหลีใต้ ประชาชนจ่ายค่าขยะตามปริมาณที่ทิ้ง อีกทั้งมีการแยกขยะผ่านสีถุงที่ทิ้งทำให้ง่ายต่อการจัดการที่ปลายทาง โดยเฉพาะขยะอาหาร ทำให้ทุกคนพยายามกินอาหารให้พบเพื่อลด Food Waste สังเกตเวลาที่ทานร้านอาหารในประเทศเกาหลีใต้การทานที่บ้านจะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า เพราะต้องผ่านกระบวนการกำจัดหลายขั้นตอน

โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนในไทย

พิชชากร ฤกษ์สกุลเรือง นักวิเคราะห์นโยบาย การบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยว่า ขยะของอาหารในแต่ละคนสร้างไว้ที่ 200 กรัมต่อวัน ถ้าไม่ทำอะไรก็จะไปลงเอยที่บ่อฝังกลบ

โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนในไทย จึงช่วยคัดแยกขยะเปียกจากเศษอาหาร โดยการนำถังขยะตัดก้นไปฝังดินไว้ เมื่อมีเศษอาหารจากการบริโภคก็นำมาใส่ถัง ปิดฝาไว้และเมื่อมีขยะมากขึ้นก็กวน พอเข้าสู่กระบวนย่อยสลายก็จะกลายเป็นปุ๋ย และกระบวนการย่อยสลายแบบใช้อากาศนี้จะไม่ให้เกิดก๊าซ มีเทน ที่อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกนั้นเอง

โครงการนี้ได้ขยายไปทั้ง 66 จังหวัดทั่วประเทศไทย ด้วยการดำเนินงานของ องค์บริหารจัดการก๊าซ อบก. เข้าไปตรวจสอบว่ามีการดำเนินงานจริงและถูกต้อง ทำให้ได้รับรองคาร์บอนเครดิต และสามารถขายได้มากกว่า 2 ล้านบาท เม็ดเงินส่วนนี้กลับไปที่กรมประครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินงานถังขยะเปียก

คุณพิสิทธิ์ แช่ลิ้ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอส เอ็นจิเนียริ่ง คอลซัลแตน์ จำกัด เสริมถึงการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มี 4 ลักษณะ ได้แก่ การฝังกลบ (Sanitary Landfills), การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง (RDF), การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และการกำจัดขยะด้วยความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้า