การนิคมอุตสาหกรรม ปลุกผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม เดินทางสู่หมุดหมายความยั่งยืน

by ESGuniverse, 19 กันยายน 2567

การนิคมอุตสาหกรรม จัด ISB Forum & Awards 2024 ปลุกผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม ปฏิวัติอุตสาหกรรมลดพึ่งพาวัสดุที่เป็น virgin material ปรับตัวสู่พลาสติกชีวภาพ ก่อนที่ไทยจะถูกยุติการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

 

 

การเติบโตก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาองค์กรให้มีความก้าวหน้า สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นการช่วยในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรที่ใช้ในภาคผลิต โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน กลายเป็นกรอบสำคัญที่ธุรกิจบนโลกต้องยึดปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดงาน ISB Forum & Awards 2024 ภายใต้โครงการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กนอ. ปี 2567 (I-EA-T Sustainable Business 2024) โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ 'Inclusive and Sustainable Industrialization Towards New Growth' (การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุมและยั่งยืนสู่การเติบโตครั้งใหม่) เพื่อส่งเสริมแนวคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่แต่ละบริษัท แต่ละธุรกิจดำเนินงาน

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า การจัดงาน งาน ISB Forum & Awards 2024 ในปีนี้ เพื่อส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ไม่เพียงแต่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังคำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม (Inclusive Industrialization) เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมมีส่วนร่วมและเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมความหลากหลายในการทำงาน

2.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Industrialization) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเจริญเติบโตที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว

3.การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย (New Industrialization) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและมูลค่า ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใหม่

 

 

  

“ผมเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ต่างมีกิจกรรมโครงการเพื่อสังคม ตลอดจนความรู้ความชำนาญ และทรัพยากรที่สนับสนุนลงไปยังชุมชนโดยรอบ หากพัฒนาออกแบบแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งผลลัพธ์ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนความร่วมมือร่วมกัน การผนึกกำลังของภาคอุตสาหกรรมจะพลิกวิกฤติ ช่วยสร้างโอกาสการพัฒนาสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจับต้องได้ คุ้มค่า และเป็นรูปธรรม” นายสุเมธ กล่าว

ISB ส่งเสริมความพร้อมผู้ประกอบการ
ยกระดับมาตรฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยโครงการ ISB (I-EA-T Sustainable Business) ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อส่งเสริมความพร้อมของผู้ประกอบการในการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ในระดับสากล โดยในปี 2567 กนอ. ขยายผลกลุ่มเป้าหมายไปสู่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน มีผู้เข้าร่วมโครงการ ISB Roadshow กว่า 61 สถานประกอบการ และผู้เข้าร่วม BIA/SIA Workshop จำนวน 45 ราย ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ISB ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีการสนับสนุนงบประมาณในกิจกรรมทางสังคม รวม 575.87 ล้านบาท และเกิดผลตอบแทนทางสังคม (SROI) สูงถึง 4.87 เท่า คิดเป็นมูลค่ารวม 2,801.46 ล้านบาท

 

 

 

ทั้งนี้ ภายในงาน ISB Forum & Awards 2024 ได้มอบรางวัล ISB List จำนวน 16 รางวัลให้แก่ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม ผู้พัฒนานิคมฯ ผู้ประกอบการที่สะท้อนการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานผลสัมฤทธิ์ BIA และ SIA และมอบรางวัล ISB Awards 2024 แก่ผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวน 11 ราย และมอบรางวัลแก่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม ในบทบาท ISB Accelerator จำนวน 8 ราย

ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0
ไปพร้อมกับเป้าหมายความยั่งยืน

ทางด้าน ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องทบทวนว่า จะทำให้ธุรกิจของยั่งยืน หรือว่าโลกยั่งยืน หากโฟกัสไปที่โลกยั่งยืนเลย ธุรกิจอาจไม่ยั่งยืนก็ได้ ดังนั้นการก้าวเดินไปข้างหน้าจะต้องมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวมกัน หนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปอุตสาหกรรม

“คำนี้ได้ยินกันมานานมาก เช่น Thailand 4.0 ในสมัยรัฐบาลก่อน ๆ ที่ผ่านมาแล้วหลายปี โดยเฉพาะเรื่องการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ถึงตอนนี้คนที่สนใจเข้ามาทำอุตสาหกรรม 4.0 ไม่โตเลย หมายความว่ามีปริมาณน้อย และไม่เพิ่มขึ้น ยิ่งประเด็นความยั่งยืน SDGs เข้ามา คนก็ลืมคำว่า 4.0 ไปเลย โครงการหลายโครงการดีมาก เพราะระบบนิเวศอุตสาหกรรมไทยดี แต่มีข้อเสียคือเราไม่เอาจริง พอมีอะไรใหม่ ก็ไปตามเทรนด์ จนอาจสูญเสียบางอย่าง ผมมองว่าจำเป็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งแนวคิดเก่า และแนวคิดใหม่ๆ

โดยสวทช.หารือกันว่า อยากจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เพราะจะช่วยต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม ดิจิทัลทรานส์ฟอเมชั่น ออโตเมชั่น Smart Industry หรือแม้กระทั่งการใช้ IOT ต่าง ๆ”

 

 

 

ผศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า ในฐานะหน่วยงานวิจัย มองว่า การที่จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการ SMEs ยกระดับในด้านต่าง ๆ นักวิจัย คนทำงาน ต้องเข้าใจดีเอ็นเอของผู้ประกอบการที่แท้จริง สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นคือ อยากให้ทุกคนเดินตามข้อมูลข่าวสาร การจัดทำเป็นองค์กร สมรรถนะสูง ใช้ดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอด รวมถึงการทำดิจิทัลทรานส์ฟอเมชั่นที่ไม่จำเป็นต้องประหยัดทรัพยากร ถ้ามีการบริหารจัดการทรัพยากรได้ก็จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่พอดี คุ้ม ไม่สร้างของเสียสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิต ลดพึ่งพา Virgin Material

ด้าน ธันยพร กริชติทายาวุธ อนุกรรมการวุฒิสภาด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นเรื่อง BCG Economy โดยระบุว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทข้ามชาติหลายที่ ว่าการที่ธุรกิจจะยั่งยืนได้ ต้องมีคนมาซื้อสินค้าและบริการ แต่ทรัพยากรวันนี้เริ่มหายากและอาจจะหมดไป ทุกวันนี้โลกเผชิญวิกฤตน้ำ ที่ไม่ใช่แค่น้ำท่วม แต่ยังมีประเด็นการขาดแคลนน้ำ คุณภาพน้ำ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น จากวิกฤตที่กำลังเผชิญ สิ่งที่ภาคส่วนต่าง ๆ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ถ้าอยากจะลดใช้ทรัพยากร หรือลดการพึ่งพา จะมีโซลูชั่นอะไรที่ธุรกิจ อุตสาหกรรมสามารถพึ่งพา เปลี่ยนผ่านได้ เพราะอนาคตของธุรกิจ จำเป็นต้องลดการพึ่งพาทรัพยากร ถ้าหากสามารถลดการพึ่งพาวัสดุที่เป็น Virgin Material ได้ ด้วยการเปลี่ยนไปอาศัยการซื้อสินค้าและบริการจากชุมชน ที่สามารถจัดหาวัสดุที่สอง ที่จะมาทดแทน (Second material) ได้ หรือการนำเอาวัสดุที่เป็นส่วนสูญเสียเหลือทิ้ง (waste) ระหว่างโรงงาน นำมาเปลี่ยนผ่านเป็นวัสดุมือสอง (Second hand material) ได้ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็มีคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน BCG ของประเทศ ร่วมกับ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) และกระทรวงพาณิชย์ ทำงานด้านการจัดอบรม ให้ความรู้ ศึกษาต่าง ๆ ที่จะตอบโจทย์นประเด็นดังกล่าว ซึ่งที่กล่าวมาคือทิศทางที่จะช่วยให้อุตสาหกรรม ธุรกิจ ปรับตัว เพราะตอนนี้กำลังถูกดิสรัปหลายอย่าง ฉะนั้นจำเป็นต้องเอาตัวรอด

 

 

 

 แนวโน้มไทยยุติใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ธันยพร กล่าวต่อว่า เรื่องพลาสติก ตอนนี้ลูกค้าตระหนักถึงการใช้พลาสติก คำถามคือ ผู้ประกอบการยังต้องผลิตสินค้าที่ใช้พลาสติกหรือไม่ ตอนนี้ลูกค้าทั่วโลกตระหนักและมีทีท่าว่าประเทศไทยต้องขยับตัว จะต้องยุติการใช้การใช้วัสดุหรือพลาสติกที่เป็นใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เราจะช่วยผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร ในเมื่อเขาเป็นผู้ผลิตพลาสติก ดังนั้นอาจต้องช่วยผู้ประกอบการทำให้พลาสติกเป็นอีโคดีไซน์

“ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เคยบอกไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นฮับของพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ในภูมิภาค พลาสติกจะถูกห้ามใช้ในประเทศไทย ภายในปีไหนยังไม่รู้ แม้แนวโน้มมาแล้ว ดังนั้นอุตสาหกรรมไทยไม่สามารถผลิตสินค้าแบบเดิมต่อไปได้อีกแล้ว ถ้าเราต้องเปลี่ยนผ่าน เช่น ภาคการผลิต อาจจะต้องออกแบบใหม่เลย ไปดูว่า ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ความหนาของพลาสติก เราก็ต้องมาหาว่าการทำพลาสติกมีรูปแบบอื่นไหม เป็นต้น”