สนพ. เผยครึ่งปีแรก ภาพรวมภาคพลังงานปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง 2.5%

by ESGuniverse, 18 กันยายน 2567

สนพ. เผยครึ่งปีแรกปี 67 ภาคพลังงานของไทยปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง 2.5% เทียบกับปีก่อน แต่หากแยกประเภทการใช้พลังงาน พบว่า ภาคการผลิตไฟฟ้ายังปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น 5.8% สวนทางภาคขนส่ง อุตสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจอื่นๆที่มีสัดส่วนลดลง ด้านภาพรวมไทยปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่สูงกว่าสหภาพยุโรป

 

 

‘ภาคพลังงาน’ ถือเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประเทศไทย โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อ 19 ม.ค.2566 ระบุว่า ภาคพลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด สัดส่วน 69.06 % หรือคิดเป็นปริมาณ 257,340.89 GgCO2eq (กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียมเท่า) รองลงมาคือภาคการเกษตร สัดส่วน 15.69% ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ สัดส่วน 10.77% และ ภาคของเสีย สัดส่วน 4.48%

ดังนั้นหากภาคพลังงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ ย่อมทำให้ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ต้องร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและธุรกิจไทย

ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก จากการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม - มิถุนายน 2567) พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 121.9 ล้านตัน CO2 ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทว่าหากแยกเป็นประเภทการใช้พลังงาน พบว่า ภาคการผลิตไฟฟ้ายังปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น 5.8% สวนทางภาคขนส่ง อุตสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจอื่นๆที่มีสัดส่วนลดลง

โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงมากที่สุดถึง 16.8% ขณะที่ไทยปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก สูงกว่าสหภาพยุโรป

 

 

 

ภาพรวมการปล่อย CO2 จากการใช้พลังงาน
ครึ่งปีแรก ลดลง 2.5%

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม - มิถุนายน 2567) พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 121.9 ล้านตัน CO2 ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน

 

 

 

การผลิตไฟฟ้ายังปล่อยคาร์บอนฯเพิ่มขึ้น 5.8%

โดยในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ (ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ) มีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงที่ 16.8 % 1.2 % และ 1.5 % ตามลำดับ ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้าปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น 5.8%

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงใน 6 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า ภาพรวมการปล่อยก๊าซ CO2 แยกรายชนิดเชื้อเพลิง รวมทั้งสิ้น 121.9 ล้านตัน CO2 ซึ่งลดลงจากทุกชนิดเชื้อเพลิง

 

 

 

ครึ่งปีแรก ถ่านหิน/ลิกไนต์
ลดปล่อยคาร์บอนฯได้มากกว่าเชื้อเพลิงอื่น

โดยน้ำมันสำเร็จรูป มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 52.9 ล้านตัน CO2 ลดลง 1.1% ก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 40 ล้านตัน CO2 ลดลง 0.3% และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 28.9 ล้านตัน CO2 ลดลง 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาคอุตสาหกรรม ปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงมากสุด 16.8%

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 121.9 ล้านตัน CO2 ลดลง 2.4% โดยภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 41.5 ล้านตัน CO2 ลดลง 1.2% ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 25.6 ล้านตัน CO2 ลดลง 16.8%

ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 48.1 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้น 5.8% และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 รวม 6.7 ล้านตัน CO2 ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

 

ไทยปล่อยคาร์บอนฯต่อการใช้พลังงาน
ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่สูงกว่าสหภาพยุโรป

“หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานอยู่ที่ 2.05 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศจีน) ประเทศจีน และประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ 2.29 2.34 2.79 และ 2.12 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ”

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ที่ 1.95 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้