ราช กรุ๊ป รุกศึกษากรีนไฮโดรเจน เทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR

by ESGuniverse, 27 สิงหาคม 2567

ราช กรุ๊ป เปิดแผนกลยุทธ์ เน้นลงทุนโครงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ในไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย จับมือพันธมิตรศึกษา กรีนไฮโดรเจน ดาตาเซ็นเตอร์ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR ระบุ SMR เป็นเทคโนโลยีน่าสนใจนำสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่ประชาชนต้องยอมรับ รัฐต้องสนับสนุน

 

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้สำความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากมีเทคโนโลยีรองรับไม่ดีพอ มาเป็นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่จากแหล่งพลังงานที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะพลังงานสะอาด เนื่องจากประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้มีความต้องการพลังงานมากขึ้น ซึ่งนับเป็นความท้าทายของเอกชน โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน

หนึ่งในนั้นคือบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้า ประกาศหนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593

โดยวางกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงาน เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศเป้าหมาย อีกทั้งยังเดินหน้าศึกษาโมเดลและเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการนำร่องด้วย

 

 

 

นำ AI เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ-บุคลากร

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเป้าหมายการเติบโตนับจากนี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องสำคัญ กล่าวคือ

1.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักและกระจายอยู่ในหลายประเทศ โดยจะนำดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการติดตามการดำเนินงานและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนว่าพนักงานทุกคนจำเป็นจะต้องรู้จัก และใช้ AI เป็นด้วย

2.บริหารโครงการในมือที่มีอยู่แล้วให้เสร็จตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 15 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,773 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 เวียดนาม และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ออสเตรเลีย กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น รวม 40 เมกะวัตต์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในครึ่งหลังของปี 2567

นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โครงการที่ดำเนินการสำเร็จในครึ่งแรกของปี 2567 ได้แก่ โรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 392.7 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไพตัน อินโดนีเซีย กำลังการผลิต 742 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าคาลาบังก้า ฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 36.36 เมกะวัตต์

3.การลงทุนขยายธุรกิจ โดยได้ปรับกลยุทธ์ลงทุน มุ่งเน้นโครงการที่อยู่ในแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศได้กำหนดกรอบการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไว้ชัดเจนแล้ว ซึ่งครอบคลุมกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ

ศึกษารูปแบบพลังงานใหม่ ๆ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) และการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Reactor Modular: SMR)

สำหรับระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ บริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ สนับสนุนเป้าหมายของภาครัฐที่จะเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดที่พึ่งพาได้ และเป็นแหล่งพลังงานในอนาคตที่มั่นคงของประเทศ

ส่วนโครงการกรีนไฮโดรเจน ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต

โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม

สนใจลงทุนผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยี
นิวเคลียร์ขนาดเล็ก หากประชาชนยอมรับ

นายนิทัศน์ กล่าวต่อว่า การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ขนาดเล็ก เป็นเทคโนโลยีการผลิตจากนิวเคลียร์ ที่มีการพัฒนาและดีไซน์ให้มีขนาดเล็กกำลังผลิตประมาณ 70-350 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม โดยเป็นเทคโนโลยีที่ประกอบสำเร็จรูปจากโรงงาน สามารถนำมาวางใช้งานเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าได้ทันที มีอายุการใช้งาน 20 ปี ไม่ต้องเปิดฝาครอบเพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิง จึงปลอดภัยจากการรั่วไหลของรังสี เมื่อหมดอายุการใช้งานก็ส่งคืนไปยังประเทศผู้ผลิตทันที

โดยเรื่องนิวเคลียร์ อยู่ในร่างแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าของ ประเทศไทย หรือแผน PDP (Power Development Plan) ซึ่งเบื้องต้นจะบรรจุโรงไฟฟ้า SMR ไว้ช่วงปลายแผน ปี 2080 เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าของไทย ขนาด 600 เมกะวัตต์

 

 

 

“SMR เป็นเทคโนโลยีใหม่มาก ในบางประเทศพึ่งสร้าง เรามีเวลาอีก 10 ปีที่จะดำเนินการด้านนี้ เพราะอย่างแรกต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนก่อน เราต้องให้ความรู้ ควบคู่กับการหาศักยภาพ หรือความเหมาะสมในการลงทุน ศึกษาเทคโนโลยี ซึ่งผมมองว่า เรื่องผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์นั้นถือเป็นคีย์ซัคเซสสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพราะต้นทุนถูก แต่ทั้งนี้ต้องมาจากความต้องการของประชาชนก่อน ทำได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยหรือกฏเกณฑ์ต่างๆ ถ้ารัฐไม่ซัพพอร์ต ก็ทำไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นเราจะต้องรอดูอีกหน่อยถึงความนิยมทั่วโลก หรือไทยจะได้รับความไว้วางใจหรือไม่ เราพยายามหาเทคโนโลยีที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งไม่ง่าย ต้องมีใบอนุญาต”

นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีความสนใจในเรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งราชกรุ๊ปมีทีมพัฒนา Non power ก็มีการเชิญผู้ลงทุนไปดู 2 พื้นที่ที่เรามีในประเทศ เป็นต้น เชื่อมั่นว่าการเดนหน้าตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้จะทำให้ราชกรุ๊ป เดินหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสามารถขยายธุรกิจสร้างการเติบโต ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน