กระทรวงพลังงาน เร่งปลดล็อก ผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เคลื่อนอนาคตไทยสู่พลังงานสะอาด

by ESGuniverse, 16 กันยายน 2567

กติกาการค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อมบีบ ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวสอดคล้องกับกติกาโลก โดยเฉพาะการเตรียมออกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นมาตรการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปรับตัวสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ในไทยที่ศักยภาพการผลิตไฟฟ้า มากกว่าลม และน้ำ

 

 

ในปัจจุบัน แนวทางการพัฒนาพลังงานในโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ (Global Warming) จากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก ก่อความเสียหายให้โลก ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรมที่ต้องปรับตัวตามสภาพอากาศ น้ำท่วม ภัยแล้งที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

โดยสิ่งที่น่ากังวลประการหนึ่งคือ ประเทศไทยติดอันดับ TOP 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจาก Global Warming มากที่สุดในโลก ทำให้หลายภาคส่วน ทั้งรัฐ และเอกชนต้องมีมาตราการในเรื่องความยั่งยืน เร่งปรับ เปลี่ยน มาผลิตและใช้พลังงานสะอาด เพื่อคงระดับความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจ อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

ในเวทีสัมมนา “พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่” ในวาระครบรอบ 60 ปีเดลินิวส์

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืน’ ว่า ความยั่งยืนด้านพลังงาน คือ ความยั่งยืนผู้ประกอบการ และประชาชนผู้ใช้พลังงาน เพราะความยั่งยืนผู้ประกอบการคือ มีกำไร ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องเข้าถึงได้ หมายถึง ราคาต่ำ มีความเป็นธรรม

ดังนั้น จึงต้องหาจุดสมดุลของทั้งสองสิ่ง ขณะที่ผู้ใช้พลังงานภาคธุรกิจ จะต้องช่วยให้ลดต้นทุนด้านพลังงาน เพื่อดึงดูดนักลงทุน เพราะอัตราค่าไฟฟ้าเป็นสิ่งแรก ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติพิจารณาการลงทุน เช่น ประเทศเวียดนามค่าไฟถูก เพราะต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ เนื่องจากยังใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง จึงแข่งขันต้นทุนต่ำได้ ขณะที่ประเทศไทยอัตราการถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าลดลง ส่วนใหญ่ เน้นก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนจึงสูงกว่าประเทศคู่แข่ง

พลังงานสะอาด ทางรอดยั่งยืน

โดยเห็นว่าท้ายที่สุด ทางรอดของธุรกิจจะต้องมุ่งไปสู่การส่งเสริม ‘พลังงานสะอาด’ สอดคล้องกันกับเทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ จึงต้องหาวิธีการตอบโจทย์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันกันช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้บริโภค จึงถือว่ามีความสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้พลังงานสะอาดเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในไทย มี 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.การผลิตไฟฟ้าจากน้ำ 2.ผลิตไฟ้าจากลม 3.ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด

“ลมและน้ำในประเทศไทยไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้า ดังนั้น แสงแดด จึงเป็นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหลัก ที่ขับเคลื่อนอนาคตให้ไทยไปสู่พลังงานสะอาดได้”

พลังงานสะอาด-ค่าไฟฟ้าเป็นธรรม
ธุรกิจรอด เศรษฐกิจรอด

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้าไปช่วยประชาชนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการลดภาารระค่าไฟฟ้า โดยการตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องบริหารจัดการอย่างปัจจัย

“หากไทยควบคุมต้นทุนผลิตด้านไฟฟ้าได้ พร้อมกันกับ ลดมลภาวะ ลดต้นทุน โดยการส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มกิจการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะจากแสงแดด จะนำไปสู่การกำหนดค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม จนภาคธุรกิจอยู่รอด และเติบโตได้ ตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ การผลิตไฟฟ้ามาจากเอกชนเก็บไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ขณะที่ไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติทำให้ต้นทุนสูง จึงต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับภาคธุรกิจ และภาคการผลิต โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด”

รื้อ ลด กฎระเบียบ ปลดล็อกพลังงานสะอาด

รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ยังยอมรับว่า อีกสิ่งสำคัญคือการจัดการใบอนุญาตกิจการพลังงานสะอาด โดยการผ่อนคลายข้อจำกัด กฎเกณฑ์ กติกา และกฎกระทรวง

“ประเทศไทยมีความยากที่ ระบบ กฎเกณฑ์ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าอนาคตข้างหน้าค่าไฟจะเป็นอย่างไร ต้องรื้อระบบทิ้งทั้งระบบ ถ้าอยากติดไฟที่บ้านทำไมต้องไปขออนุญาต เปลี่ยนเป็นแจ้งให้ทราบได้ไหม เพื่อลดความยุ่งยาก ลดภาระให้ประชาชน ไม่ต้องเดือดร้อนใคร ถ้าปล่อยให้อยู่แบบนี้ ไม่มีใครรอด รัฐบาลก็ไปไม่รอด จึงจำเป็นต้อง รื้อ (กฎเกณฑ์ไม่เป็นธรรม) ลด(กฎระเบียบข้อบังคับ) ปลด (ขั้นตอนยุ่งยาก) สร้าง(กฎหมายร่วมกันที่ดีขึ้นกว่าเดิม) โดยขณะนี้เรื่องที่รอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เช่น การใช้ไฟฟ้าไม่ต้องขอใบ รง.4 สำหรับใช้ไฟฟ้าในบ้านและสถานประกอบการ แต่กฎกระทรวงไม่แน่นอน เพราะเปลี่ยนรัฐมนตรีก็เปลี่ยนกฎได้”


เล็งรื้อกฎหมายให้ครัวเรือน ติดโซลาร์เซลล์หลังคาบ้าน
ไม่ต้องขออนุญาตรัฐ

นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวว่า สิ่งที่ต้องจัดการให้ยั่งยืนอีกด้าน คือการ รื้อกฎหมายให้ครัวเรือนสามารถติดไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้เองในหลังคาบ้านตัวเอง โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะต้องไปขออีกหลายหน่วยงาน

“ทำไมต้องขออนุญาต กระทรวงอุตสาหกรรม กทม. กฟภ. กฟน. อยากติดก็ทำตามนี้ก็จบ และมาตรวจสอบว่าทำตามนี้หรือไม่ โตแล้ว ตอนพวกเราเด็ก ๆ จะออกข้างนอกก็ต้องขออนุญาต ถูกต้อง เป็นธรรมดา เป็นเจ้าของกิจการต้องไปบอกไหม และทำไมระบบประเทศไทย เลี้ยงประชาชนเหมือนเด็ก 6 ขวบไม่โตสักที แบบนี้สมควรรื้อทิ้งหรือไม่ เพื่อลดภาระและปลดทิ้งต่าง ๆ ที่เป็นพันธนาการชีวิต และสร้างระบบสังคม สร้างกฎหมายร่วมกันที่ดีขึ้นกว่าเดิม ดีกว่าควบคุมไปทุกอย่าง เกิดปัญหาพลังงานสะอาด เรื่องความยั่งยืนและเรื่องของความอยู่รอดธุรกิจ”

รองนายกฯและรมว.พลังงาน กล่าวว่าแนวทางการ การรื้อ ลด ปลด สร้าง รื้อระบบสร้างกฎหมายใหม่ เพื่อทำให้ประชาชน ผู้บริโภค ผู้ประกอบการมีความยั่งยืน เป็นทางรอดของธุรกิจและประชาชน วางระบบที่ถูกต้อง เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้ไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้าประชาชน ธุรกิจ ทุกคน


โอกาสใช้พลังงานสะอาด
เพื่อความอยู่รอดของทุกคน

โทนี่ วอร์คเกอร์ (Mr.Toby Walker) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของ RE 100 เปิดเผยว่า การตั้งเป้าใช้พลังงานสะอาด 100% ในสมาชิกกว่า 430 แห่งทั่วโลก โดยสนับสนุนให้สมาชิกสามารถเข้าถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนได้

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ชี้ให้เห็นว่า เรื่องพลังงานสะอาดไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป แม้ว่าธุรกิจจะไม่ได้ส่งออกไป ยุโรป หรือเป็นคู่ค้ากับบริษัทที่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความ ยั่งยืน (Sustainability) เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ซึ่งประเทศไทยเริ่มกล่าวถึงเรื่องการจัดเก็บภาษีคาร์บอน และการเตรียมออกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหล่านี้จะเริ่มมีผลกระทบ ต่อผู้ประกอบธุรกิจในไทยอย่างแน่นอน