เปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียว แผนพลังงาน-แผนลดคาร์บอน ต้องกลมกลืน ต่อยอดรากฐานเกษตร

by ESGuniverse, 18 กันยายน 2567

การเปลี่ยนผ่านพลังงานให้สอดคล้องกับพันธสัญญา COP เป้าหมายลดคาร์บอน 30-40% ภายในปี 2030 วาระของไทยมุ่งสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065 สิ่งสำคัญคือแผนพลังงาน และแผนการลดคาร์บอน ต้องสอดคล้องกัน หมายรวมถึงการใช้จุดแข็งภาคการเกษตรไทย จากความหลากหลายทางชีวภาพ มาสร้างความต่าง เคลื่อนทัพไทยพร้อมเพรียงกัน อย่างผู้ชนะ

 

 

การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties หรือ COP) เวทีที่สมาชิกกว่า 195 ประทศร่วมกันลงนามคำมั่นสัญญาเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่การลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 (พ.ศ..2593) และลดคาร์บอน 30-40% ในปี 2030 (พ.ศ.2573) ตามเป้าหมายข้อตกลงสำคัญหลายฉบับ เช่น ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 (พ.ศ. 2558) กำหนดเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมทิศทางการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของไทยจึงต้องเริ่มต้นจากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ลดการพลังงานฟอสซิล

ดร.บุตรา บุญเลี้ยง Head of ESG Strategy and Initiatives บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว Green transition ของไทย ในปัจจุบันยังขาดการวางแผนไปสู่เป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดอย่างชัดเจน แม้จะมีแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Thailand Power Development Plant -PDP) แต่ในแผนพลังงานนั้นเป็นเพียงการจัดแบ่งกรอบสัดส่วนการใช้พลังงานตามประเภทเชื้อเพลิง ที่ตอบโจทย์ด้านความมั่นคงพลังงานเป็นหลัก ไม่ได้เชื่อมโยงกับแผนทั้งประเทศทำให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน ยังมองไม่เห็นภาพอนาคตที่ชัดเจน

เมื่อแผนเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียวไม่ชัดเจน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับ กระทรวง กรม กอง ไม่สามารถเชื่อมต่อแผนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาครอบคลุมครบทุกมิติของความยั่งยืนในอนาคตได้

“แม้แผนประเทศทางกระทรวงทรัพย์ฯ กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutraility) ในปี 2050 และคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 แต่แผนด้านภาคพลังงาน กลับยังไม่สอดคล้องกัน นำไปสู่การวางแผนภาคประชาชน เอกชน รวมถึงภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม ที่ยังไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน”

พลังงานสะอาด แค่อยู่รอด !
พลังงานชีวภาพ ทำให้ชาติ ชนะ

ดร.บุตรา ยังระบุว่า แนวทางสำคัญที่รัฐควรส่งเสริมต่อเนื่อง นอกจากแผนการพัฒนาพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) พึ่งพาพลังงานหมุนเวียน แสงแดด ลม คือ ‘แผนการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Biofuel)’ ที่ต่อยอดมาฐานรากภาคการเกษตร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ BCG ประะกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด แค่ทำให้เราอยู่ได้ แต่ไม่ได้ทำให้เราชนะ แต่หากเราสามารถนำพลังงานชีวภาพมาใช้ได้ และไบโอเคมิคอลส์ จะทำให้ประเทศไทยแข็งแรงขึ้น แต่หากเราพึ่งพาพลังงานแค่ลม แสงแดด และน้ำ เราก็จะเหมือนคนอื่น เราไม่ได้ชนะ ไม่ได้ใช้จุดแข็งที่บ้านเรามีมาต่อยอด บ้านเรามีพื้นฐานภาคการเกษตร มีความหลากหลายทางชีวภาพ”

เจาะกลยุทธ์ปั้นอุตสาหกรรมชีวภาพ
สินค้าสีเขียวแข่งตลาดโลก

ทัศนะนี้ยังสอดคล้อง กับตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ เอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมชีวภาพได้หารือไปในทิศทางเดียวกันว่า ขณะนี้ นโยบายภาครัฐ หน่วยงานกำกับต่าง ๆ ยังขาดการสนับสนุนด้านนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพอย่างชัดเจน ทำให้ขาดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนและแผนรองรับนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งสำคัญจึงต้องเริ่มต้นจากการวางนโยบายให้ชัดเจนเป็นและขับเคลื่อนให้เป็นยุทธศาสตร์เดียวกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การขาดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมชีวภาพที่ชัดเจน ยังเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตบนฐานเทคโนโลยีชีวภาพไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ทำให้สินค้าดังกล่าวของไทย ยังมีต้นทุนสูง ขาดความสามารถในการแข่งขัน

“ต้นทุนต่อหน่วยสินค้ามีราคาสูงทำให้ราคาจำหน่ายในท้องตลาดแข่งขันยาก ยิ่งเพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลับยิ่งแข่งขันในตลาดปกติไม่ได้ ดังนั้นภาคนโยบายจึงต้องเอื้อให้สินค้าสีเขียวมีแต้มต่อสามารถแข่งขันได้ เพื่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเข้าถึงสินค้า ไปพร้อมกับการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้แข่งขันได้”

นอกจากนี้จะยังต้องสร้างการรับรู้ว่าสินค้าที่พัฒนาบนฐานเทคโนโลยีชีวาพเป็นสินค้าคุณภาพจากประเทศไทย ที่มีจุดแข็งในเรื่องนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่าให้กับผู้ผลิต กับผู้ใช้ และดีต่อโลก ภาครัฐจึงต้องมีส่วนสร้างการตระหนักรู้ และสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ผลิต และผู้ใช้สินค้าสีเขียว รวมถึงการขับเคลื่อนการสร้างระบบนิเวศสีเขียวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม