เปิดตัว โซลาร์เซลล์ บ้านอยู่อาศัย ฟังก์ชั่นเหมือนมีพาวเวอร์แบงค์ติดบ้าน

by ESGuniverse, 23 สิงหาคม 2567

โลกร้อนทำให้ธุุรกิจด้านพลังงานสะอาดเกิดขึ้นมากมาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือธุรกิจโซลาร์เซลล์ ที่ตลาดในไทยกำลังคึกคัก กับการดาหน้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ชูฟังก์ชั่นเทคโนโลยีและราคาค่าไฟที่คุ้มค่าการลงทุน

 

ปัจจุบันความต้องการโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยหลายปัจจัยทั้งค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเทรนด์การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ส่งผลให้ธุรกิจโซลาร์เซลล์ในวันนี้มีการแข่งขันสูง

โดยแต่ละแบรนด์โซลาร์เซลล์ ต่างใช้กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี และดีไซน์ การใช้งานต่าง ๆ มาจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ ทว่าสิ่งที่ผู้บริโภคกังวลไม่พ้นเรื่องของความคุ้มค่าทางการลงทุนเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในรูปแบบเดิม หรือแม้แต่การขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

โดย EnergyLIB (เอเนอร์จี้ลิบ) คือหนึ่งในหลายแบรนด์โซลาร์เซลล์ที่เปิดตลาดในไทย โดยแบรนด์นี้เน้นการติดตั้งในที่พักอาศัย เนื่องจากมองเห็นโอกาสตลาดพลังงานสำหรับภาคครัวเรือน หรือที่อยู่อาศัยในไทย ที่มีมูลค่าราว 60,000 ล้านบาท โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตของค่าไฟฟ้ามากถึง 30% ขณะที่การทำงานที่บ้าน ( Work from home) ยังคงได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ประกอบกับความนิยมใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย ทำให้แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมีแนวโน้มสูงมากยิ่งขึ้น ทำให้โซลาร์เซลล์ จะเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่บ้านอยู่อาศัยมองว่า หากต้องการลดค่าไฟฟ้าลง

 

 

 

นายทวนทอง ศรีวิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอเนอร์จี้ลิบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจากสภาพอากาศแปรปรวนสู่ภาวะโลกเดือด ทำให้ทุกประเทศต่างสนับสนุนพลังงานสะอาด ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจโซลาร์เซลล์ นับว่าตอบโจทย์ในการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด

ยุคค่าไฟแพง โลกเดือด
พลังงานสะอาดมาแรง

นายทวนทอง กล่าวต่อว่า บริษัทฯมุ่งเน้นการสร้างโอกาสและการเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์ด้านพลังงานแล้ว ยังตอบโจทย์สร้างสังคมยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน

“ในเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราได้สำรวจความต้องการของตลาด ว่าผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นมีความต้องการอะไร โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีการประเมินและคาดการณ์กันว่าการใช้ไฟฟ้าในปีนี้จะสูงมากกว่าปีที่แล้ว และมีแต่จะสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลว่าอัตราการใช้ไฟฟ้าต่อจากนี้ จะสูงเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ซึ่งโซลาร์เซลล์จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟ”

 

 

 

โซลาร์เซลล์แผงสีดำ
ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น

นายทวนทอง กล่าวว่า EnergyLIB เป็นระบบโซลาร์ที่มีโซลูชันครบวงจรสำหรับที่อยู่อาศัย โดยมีผลิตภัณฑ์ ‘EnergyLIB P1 All-In-One’ ที่มาพร้อมแผงโซลาร์เซลล์ (Black Magic) ที่เก็บพลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่อง All-In-One ที่ได้รวมอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ไว้ในเครื่องเดียว ทดสอบแล้วว่าจะช่วยลดค่าไฟได้ โดยผลิตพลังงานได้มากขึ้น 5% เทียบเท่าเปิดเครื่องปรับอากาศมากกว่า 4 ชั่วโมง และการใช้ไฟฟ้าได้ทั้งกลางวัน-กลางคืนจากแบตเตอรี่ เหมือนมีพาวเวอร์แบงค์ติดบ้าน

ด้านปลอดภัยสามารถมอนิเตอร์สถานะกระแสไฟฟ้าภายในบ้านเรียลไทม์ ผ่านแอปพลิเคชัน LIB Life

 

 

 

นอกจากนี้ ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์มีระบบเก็บพลังงานสำหรับครัวเรือนแบบครบวงจร ด้วยแนวคิด ‘Powering a Better World’ โดยผนึกกำลังกับไลเจนด์ (Ligend) เทคโนโลยีแบตเตอรี่ ภายใต้เซิ่งหงโฮลดิ้งกรุ๊ป (Shenghong Holding Group)

 

 

นโยบายกระตุ้นใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า นอกจากภาคการผลิตและการค้าแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังเติบโตแล้ว ปัจจุบันไทยยังมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือ โครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี

และการดำเนินงานแก้ไขกฎหมาย ให้ภาคธุรกิจภาคสามารถติดตั้งโซล่ารูปท็อปที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้

โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์