WWF ประเทศไทย จับมือ LINE MAN และ Foodpanda ร่วมกันลดใช้พลาสติก

by ESGuniverse, 16 กันยายน 2567

ปัญหาขยะพลาสติกจากการบริโภคอาหาร เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจที่ใช้พลาสติก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF) จึงจับมือกับ LINE MAN และ foodpanda ร่วมลดการรั่วไหลของพลาสติกสู่ธรรมชาติ เป็นตัวกลางสื่อสารให้ร้านค้าและผู้บริโภค ร่วมลดขยะผ่านฟีเจอร์เลือกไม่รับช้อนส้อม - เครื่องปรุง

 

 

ปริมาณขยะพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความนิยมใช้บริการร้านอาหารในรูปแบบฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ซึ่งเติบโตมาตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าโควิด-19 จะซาไปแล้ว แต่พฤติกรรมผู้บริโภคกลับยังคุ้นชินจากการสั่งอาหารฟู้ดเดลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชั่น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าปี 2566 การชะลอตัวของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ลดลงเพียง 0.8-6.5 % เท่านั้น สะท้อนถึงความนิยมใช้บริการเดลิเวอรี่ และยิ่งมีผู้ใช้มากเท่าไหร่ ปริมาณขยะพลาสติกจะมากขึ้นตามมา จึงเป็นเหตุผลที่วันนี้ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร จำเป็นต้องปรับตัว ลดขยะพลาสติก เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการย่อยสลายพลาสติก ซึ่งต้องใช้เวลาหลายร้อยปี

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) จึงได้ผนึกกำลังภาคเอกชนร่วมลดการรั่วไหลของพลาสติกสู่ธรรมชาติ หวังขับเคลื่อนการปรับรูปแบบและกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้โครงการลดพลาสติกขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลอย่าง Plastic ACTion (PACT) พร้อมประกาศความร่วมมือครั้งแรกกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ LINE MAN Wongnai และ foodpanda มุ่งส่งเสริมการลดใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี ภายใต้แนวคิด ‘ลด-เพิ่ม-แลกเปลี่ยน’

 

 

 

นายรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย กล่าวว่า ขยะพลาสติกเป็นประเด็นปัญหาระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน ทุกปีมีการผลิตพลาสติกถึง 430 ล้านตันทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทย มีขยะพลาสติกถึง 75% หรือราว 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ ทำให้เสี่ยงต่อการรั่วไหลสู่ธรรมชาติ และสามารถตกค้างอยู่ในมหาสมุทรได้เป็นเวลาหลายร้อยปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์

ดังนั้นการแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก จึงเป็นภารกิจที่ WWF ให้ความสำคัญ และมุ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและบริโภค รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ของพลาสติก

WWF ดำเนินการลดพลาสติก ผ่านโครงการ PACT ริเริ่มขึ้นโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศสิงคโปร์ (WWF Singapore) และขยายไป เกาหลีใต้ ฮ่องกง โคลัมเบีย เปรู เอลกวาดอร์ และไทย ภายใต้โครงการ ‘No Plastic in Nature Initiative’ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาพลาสติกอย่างยั่งยืน ผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้ นวัตกรรม และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในการผลิตและบริโภคอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่จำเป็น

โดยในประเทศสิงคโปร์ WWF ได้จับมือกับองค์กรธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี 2019 ในการริเริ่มฟีเจอร์ ‘ไม่รับช้อนส้อมพลาสติกแบบอัตโนมัติ’ บนแอปพลิเคชัน และสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้มากกว่า 1 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์

โครงการ PACT
ตั้งเป้าลดพลาสติกให้ได้ 30% ใน 6 ปี

ดร.บุญชนิต ว่องประพิณกุล ผู้จัดการโครงการ Plastic Smart Cities WWF ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สำหรับโครงการ PACT มีเป้าหมายในการลดพลาสติกให้ได้ 30 % ภายในปี 2030 หรือ อีก 6 ปีข้างหน้า และลดการใช้พลาสติกใหม่ ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และความร่วมมือของภาคธุรกิจและส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกัน

WWF จับมือเอกชน ลดการรั่วไหลพลาสติกสู่ธรรมชาติ

ที่ผ่านมา WWF ประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคีในพื้นที่ นำร่องโครงการ Plastic ACTion ผ่านความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น 38 รายในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ ใน 4 เมืองทางภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย สงขลา และหาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการ Plastic Smart Cities โดยให้คำปรึกษา สนับสนุนเครื่องมือ ทักษะในการวัดและประเมินผลข้อมูล สนับสนุนด้านการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสร้างเครือข่ายให้แก่ธุรกิจตลอดห่วงโซ่เพื่อดำเนินมาตรการ PACT อย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ ซึ่งจะขยายไปใน ภูเก็ต พัทยา นครราชสีมา และจังหวัดอื่นๆ ต่อไป โดยตั้งเป้าต่อยอดความร่วมมือกับภาคธุรกิจอื่นๆ และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายระยะยาวระดับโลกขององค์การฯ ในการลดขยะพลาสติกลง 30% ภายในปี 2030

ร่วมมือกับผู้ให้บริการฟู้ดเดริเวอรี่เป็นกลุ่มแรก

ดร.บุญชนิต เสริมว่า สำหรับความร่วมมือกับ LINE MAN และ foodpanda ธุรกิจแพลตฟอร์ม ฟู้ด เดลิเวอรี่ มองว่าสามารถสร้างผลกระทบได้เยอะมากในระบบ เพราะการรับประทานอาหารเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนเรา เมื่อก่อนผู้บริโภคจะเป็นคนไปซื้อข้าวที่ร้านอาหาร เมื่อมองดูทุกวันนี้ แพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี่ ได้กลายเป็นตัวกลางของผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงทั้งร้านอาหารและผู้บริโภคได้ เนื่องจากมีข้อมูลในมือและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ทดลอง หาฟีเจอร์ที่เหมาะสมตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค

“กรณีศึกษาจากการลงพื้นที่พบร้านขนมจีนไก่ทอดคนคอน ทางร้านค้าคิดมาตลอดว่าขนมจีนต้องกินคู่กับผัก จึงเอาใจลูกค้าด้วยการให้ผักเยอะ ๆ พอมีแอปพลิเคชั่นที่สามารถใส่ตัวเลือกรับได้ ร้านค้าลองใส่ตัวเลือกให้ลูกค้าสามารถเลือกผักที่อยากกิน ผักอะไร มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ร้านค้าพบคือคิดผิดมาตลอด เพราะมีลูกค้าเยอะมากที่ไม่ได้อยากกินผัก หรือเลือกกินแค่นิดเดียว ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้ขยะอาหารลดลง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นและลดต้นทุนร้านค้าได้อีกด้วย”

LINE MAN ใช้ฟีเจอร์ ไม่รับช้อนส้อม-เครื่องปรุง

ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายนโยบายสาธารณะ และรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai เปิดเผยว่า ในฐานะการดำเนินงานธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี่ ตระหนักถึงขยะพลาสติกที่เกิดจากการขนส่งอาหาร จึงได้พัฒนาปุ่มไม่รับช้อนส้อมบนแพลตฟอร์มของเรา ที่มีการเพิ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งตัวเลขในปี 2023 สามารถลดขยะไปได้ประมาณ 3,000 กว่าตันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

“ไลน์แมนพยายามเฝ้าสังเกตเปอร์เซ็นต์ของคนที่กดปุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ และทำยังไงที่จะสามารถเพิ่มได้อีก เช่นการทำให้เห็นชัดขึ้นในการจูงใจ ทำอย่างไรให้ร้านค้าใส่ใจเห็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการบอก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวแต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของร้านค้าได้ด้วย”

ดร.มาลียา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ คือ ปุ่มไม่รับเครื่องปรุง แนวคิดนี้ค่อนข้างท้าทายกับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของคนไทย แต่ปรากฏว่า สองเดือนที่ผ่านมาหลังใช้ฟีเจอร์นี้ ช่วยให้ประหยัดเครื่องปรุงได้มากถึง 20 ล้านซอง

ขณะเดียวกัน ก็ได้ปรับเรื่อง ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แอปพลิเคชั่นจะช่วยโปรโมทร้าน หรือขึ้นแบรนด์เนอร์ในหน้าแรก ส่งเสริมร้านให้ผู้บริโภคสามารถอุดหนุนพร้อมทั้งช่วยสิ่งแวดล้อม


เช่นเดียวกับ Foodpanda ที่มีฟีเจอร์สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องการรับช้อนส้อมพลาสติก

นางสาวจุฑารัตน์ มณิปันตี ผู้จัดการอาวุโสฝ่านสื่อสารองค์กร และรัฐกิจสัมพันธ์ Foodpanda ประเทศไทย กล่าวว่า Foodpanda เริ่มใช้ฟีเจอร์ ไม่รับช้อนส้อมพลาสติกเพื่อลดขยะในประเทศอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา โดยลูกค้ากว่า 85% ที่กดปุ่มไม่รับช้อนส้อม สามารถลดจำนวนพลาสติกไปได้ 246 ตัน ในปีที่ผ่านมา

ทั้งยังสร้างรับรู้ ผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกับลูกค้าใหม่ เรียกว่า onboarding Render section มีการประชาสัมพันธ์กับลูกค้าและพันธมิตรในปัจจุบัน รวมทั้งไรเดอร์ ภาคประชาชนทั่วไป พยายามโฟกัสเรื่องรณรงค์ และเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกคนมาใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือก เช่น กระดาษที่ย่อยสลายได้ 100 % หรือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของผู้ใช้บริการ Foodpanda เลือกดูการจำกัดขยะที่ถูกวิธีก่อนถูกนำไปรีไซเคิล ไม่ทำให้ขยะพลาสติกกลายเป็นขยะกำพร้าจนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ รวมทั้งให้ร้านค้าพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการใช้บรรจุภัณฑ์สิ่งแวดล้อมมาแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมมือกับ เกรซ (Grace) ผลิตกล่องอาหารจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ 100% ขึ้นมาทดลองใช้งาน 1,500,000 กล่อง โดยมอบให้ร้านค้าพันธมิตรทั่วไทย กว่า 4,000 ร้านนำไปใช้และมาแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้งานกันต่อไป

“แม้การเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมของหลาย ๆ บริษัทอาจจะคล้ายคลึงกัน เราไม่อยากให้คิดว่าทำซ้ำกันหรือไม่ได้ริเริ่มอะไรใหม่ ๆ อยากให้มองอีกมุมว่าการที่เราทำเรื่องเดียวกัน คล้ายคลึงกันและทำไปพร้อม ๆ กัน เป็นการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจ ยิ่งเรามุ่งมั่นพูดในเรื่องเดียวกัน เสียงก็จะยิ่งดังขึ้น”

 

 

 

ในท้ายที่สุด การประกาศพันธสัญญาครั้งนี้จะเป็นส่วนขับเคลื่อนพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะการแก้ไขปัญหาขยะจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ไม่ใช่เพียงแค่ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม แม้การขนส่งอาหารให้ได้คุณภาพจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนให้ใช้ภาชนะที่ดี ไม่ให้อาหารเสียรสชาติหรือหกก่อนถึงมือผู้บริโภค แต่ส่วนเล็ก ๆ ที่เราทุกคนร่วมทำได้ คือ เลือกไม่รับขยะใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือจำกัดขยะอย่างถูกวิธี และการนำมาใช้ซ้ำ