PMAT ชี้เทรนด์ HR ยุคใหม่พัฒนาองค์กรยั่งยืน ด้วยการสร้างสุขภาวะที่ดีแก่พนักงาน

by ESGuniverse, 6 กันยายน 2567

สมาคมจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ชี้บทบาท HR ยุคใหม่ ต้องเป็นมากกว่าการบริหารคน หากต้องการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิต ลดความเครียด สร้างความสุข ตอบโจทย์ความยั่งยืน

 

กรอบแนวคิดเรื่องของ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ESG ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่ของแผนกใดแผนกหนึ่งในองค์กรเช่นกัน เพราะทุกคนต้องเข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่งานบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource - HR) ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องการบริหารคน จัดการเรื่องสวัสดิการ ค่าตอบแทนแล้ว

บทบาทที่สำคัญในยุคนี้ HR ต้องดูแลเรื่องความสุขของพนักงานในองค์กรด้วย รวมถึงหาแนวทางสร้างสมดุลระหว่างเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน

 

 

 

สุดคนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคมจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวบนเวที ESG DNA ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ผ่านมา ถึงประเด็นนี้ว่า เรื่อง ESG สำคัญกับงาน HR อย่างไร และมีประเด็นใดที่ต้องให้ความสำคัญ หากต้องการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องของความเครียดที่มากขึ้นของคนวัยทำงาน จากการแข่งขันรอบด้าน ท่ามกลางเศรษฐกิจฟื้นตัวเปราะบาง บีบให้คนต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับเทรนด์ work-life balance ที่คนรุ่นใหม่ถามหา

ดังนั้นบทบาทของ HR จึงต้องหาจุดสมดุลให้กับพนักงานในองค์กรระหว่างเรื่องงาน และชีวิต เพื่อให้เกิดความสุข ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน

แก่นของงาน HR
คือการสรรหาคนที่มีศักยภาพ
ขับเคลื่อนองค์กรเติบโต

สุดคนึง ย้ำว่า เรื่องความยั่งยืนไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับบริษัทอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับคนในองค์กรสายงานอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะ HR ที่มีบทบาทหลักคือการสรรหาทาเล้นต์ด้านต่าง ๆ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร สร้างองค์กรให้เติบโต

“ตอนนี้ต้องบอกว่าองค์กรที่ได้รางวัลด้านความยั่งยืน ยิ่งต้องการคนที่มีทักษะความรู้ด้านนี้ ส่งผลให้ตลาดแรงงานตอนนี้ ตำแหน่ง Green ทั้งหลายเป็นที่ต้องการมาก และค่าตัวก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นสกิลที่สำคัญของโลก จึงเป็นโอกาสที่ทุกคนต้องรู้ และเข้าใจ”

สุดคนึง ยังกล่าวถึงบทบาทของ HR อีกว่า ต้องการพัฒนาพนักงานในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเรื่องของ Hard skill, Soft Skill ตลอดจน Human Skill การสรรหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนคนในองค์กร ซึ่งบทบาทด้านนี้ยังถือเป็นแก่นรากที่สำคัญของงาน HR

ความเครียดจากงานคือผลกระทบ
จากความไม่ Good Health and Well Being

ในส่วนของมิติความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะทางด้านสังคม สุดคนึง กล่าวว่า เรื่องของ Good Health and Well Being เป็นประเด็นสำคัญในยุคนี้อย่างมาก เพราะโลกปรับตัวครั้งใหญ่นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา ถ้าในมิติการทำงานเกิดเทรนด์ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเดินทางมาออฟฟิศ (Work From Anywhere) การทำงานผ่านออนไลน์ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความยืดหยุ่นสูงอันดับต้น ๆ ของโลก แต่การทำงานแบบยืดหยุ่นนี้อาจทำให้เกิดความท้าทายสำหรับผู้นำองค์กรในการวัดผลและติดตามประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ผู้นำองค์กรจึงต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าการมองเห็น หรือ Visibility ที่องค์กรของพวกเขาต้องการเพื่อให้ประสบความสำเร็จนั้นเป็นอย่างไร

“ไทยมีเรื่องดี ๆ มากมาย แต่บางครั้งก็มองไม่เห็น เพราะมองเห็นแต่ปัญหาที่รุมเร้าอยู่ แต่ถ้ามองเชิงเปรียบเทียบ เช่นในฝั่งอเมริกา มีข้อมูลระบุว่า คนอเมริกา พูดจาด้วยคำพูดกระทบจิตใจในสถานที่ทำงานมากกว่า 17 ล้านครั้งต่อวัน นั่นคือผลกระทบด้าน Good Health and Well Being ไทยมีเช่นกันแต่ยังไม่หนักเท่าประเทศอื่น”

สังคมที่ทำงานคือสังคมใกล้ตัวสุด

สุดคนึง กล่าวอีกว่า บทบาทของ HR จะต้องตระหนักเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในมิติด้านสังคม และสังคมในที่ทำงานเป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด จึงต้องกลับไปดูคนในองค์กร เพราะจริง ๆ สังคมที่ใกล้ตัวและกระทบกับเรามากที่สุดก็คือคนในองค์กร

“เพราะ งาน (Work) เป็นตัวกำหนด ชีวิต (Life) ส่งผลให้คนเกิดความกังวล เครียด ซึมเศร้า และไม่มี Good Health and Well Being เดิมเราคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว พนักงานต้องไปจัดการกันเอง บริษัทให้ค่ารักษาพยาบาล ให้ตรวจสุขภาพประจำปี ดิฉันมองว่ายังไม่พอ อนาคตของงาน HR จะต้องมีออกแบบองค์กร ลดความเครียด สร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตให้ดี”

สร้างโมเดลวัดสุขภาวะมนุษย์เงินเดือน

สุดคนึง ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ PMAT ได้ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังจัดทำ Well Being โมเดลในแบบฉบับคนไทย จึงอยากเชิญชวนองค์กรและ HR เข้าร่วมกับประเมินเรื่องการมีสุขภาวะที่ดีในที่ทำงาน พร้อมจัดมอบรางวัล เพราะเชื่อว่าการกระตุ้น ส่งเสริม ให้รางวัล จะทำให้เรื่องราวดี ๆ ได้ขยายวงกว้างมากขึ้นในบริบทของประเทศไทยของเรา