ผศ.ชล บุนนาค ชี้ทิศทาง SDGs หลังปี 2030 คืบหน้าต่ำ และหลายเรื่องต้องเพิ่มเพื่อความอยู่รอดมนุษยชาติ

by ESGuniverse, 9 กันยายน 2567

ผศ.ชล บุนนาค ชี้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ปลายทางปี 2030 UN ระบุอาจบรรลุแค่ 12% หลายเป้าหมายเท่าเดิม หรือถดถอยลง แต่ต้องเดินหน้าต่อ เพื่อความอยู่รอดมนุษยชาติ เสนอ 6 ประเด็นที่ไทยต้องขับเคลื่อนเร่งด่วน พร้อมอยากเห็นรัฐบาลรับผิดรับชอบต่อเรื่องนี้มากขึ้น

 

เนื่องจากในอดีตโลกมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงสังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต รวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันทุกปัญหายิ่งวิกฤตมากขึ้น จึงทำให้ปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้เสนอวาระการพัฒนา กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งหมด 17 เป้าหมายขึ้นมา เพื่อทำให้ปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ บนโลกดีขึ้นภายในปี ค.ศ.2030

ทว่าผ่านมาแล้ว 9 ปี ความคืบหน้าเป้าหมายต่าง ๆ กลับยังน้อย หนำซ้ำความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกลับเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้น การเข้ามาของเทคโนโลยี หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่อาจเป็นเหมือนดาบสองคม

 

 

 

ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ในงาน Sustrend 2025 ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ที่นานาประเทศในโลกให้การรับรองเมื่อปี ค.ศ. 2015 ซึ่งผ่านมาเกือบครึ่งทางแล้ว คาดว่า SDGs 17 ข้อ น่าจะไม่บรรลุเป้าหมายได้ในปี ค.ศ.2030 ทั้งนี้จากการประเมินของ UN ระบุว่ามีโอกาสที่จะบรรลุในปี 2030 เพียง 12% เท่านั้น ส่วนอีกประมาณ 30% อาจจะเท่าเดิมหรือถดถอยกว่าปี ค.ศ.2015

แม้ SDGs จะไม่บรรลุปี 2030 แต่ต้องไปต่อ

ดังนั้นทิศทางและเป้าหมาย SDGs หลังปี 2030 ในวงวิชาการระดับโลกมีการสรุปสิ่งที่น่าสนใจว่าทำไมจึงยังต้องไปต่อ 2 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก เพราะ SDGs คือเป้าหมายให้คนทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีชีวิตที่ดี และเป้าหมายที่อยากให้โลกยังเป็นระบบอุ้มชูชีวิตทุกชีวิตบนโลกได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อ UN หรือเป้าหมายเพื่อบางประเทศ แต่เป็นเป้าหมายเพื่อเราทุกคน ซึ่งแม้จะยังไม่บรรลุ แต่ก็ต้องไปต่อให้ถึง

ประเด็นที่สองคือ ความรู้ทางวิชาการ ความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี มีโซลูชั่นอยู่พอสมควร แต่สิ่งที่ยังไปไม่ถึงคือบริบทในช่วงที่ผ่านมา เช่น โรคระบาด โควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจ ภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งยังมีกลไกการขับเคลื่อนที่ยังไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น เช่น กลไกของ UN ยังไม่ได้ทำงานเต็มที่ กลไกภาครัฐยังคงทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือระบบมีปัญหา ดังนั้นเมื่อเรารู้อดีตได้เราก็ต้องมองเห็นทางออก

 

 

 

ต้องอัพเดทเป้าหมาย 17 ข้อเพิ่มเติม

ผศ.ชล กล่าวต่อว่า การที่โลกจะไปต่อได้ ในมุมวิชาการมีความเห็นที่หลากหลายมาก อย่างแรกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ จะยังคงเป็นฐานของเป้าหมายหลังปี ค.ศ. 2030 แต่ต้องมีการอัพเดทเพิ่มเติม เช่น รวมเรื่องปัญญาประดิษฐ์ AI เข้าไป หรือรวมเรื่องความขัดแย้งในโลก หรือเรื่องสันติภาพเพิ่มเติม พร้อมทั้งทำให้ตัวชี้วัดเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสอดรับกับความตกลงของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ (UNFCCC) มากขึ้น และรวมเอาประเด็นความท้าทายในภูมิภาคต่าง ๆ เข้าไปมากขึ้น อันไหนเสร็จแล้วให้เอาออกจากเป้าหมาย

ต่อมาคือ การทำ SDGs ต้องให้เห็นภาพอย่างเป็นระบบมากขึ้น ด้วยการนำสุขภาพของมนุษย์มาเป็นตัวเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เป็นต้น และที่สำคัญคือการปฏิรูประบบการขับเคลื่อน เช่น ให้ UN ยังดำเนินการได้ ภายใต้บริบทใหม่ที่ดีในหลายขั้วการเมืองในภูมิรัฐศาสตร์ และทำให้บทบาทของประเทศที่พัฒนาแล้วมีบทบาทที่เข้มแข็งและเข้มข้นมากขึ้น ในการสนับสนุนการพัฒนา SDGs ให้ไปต่อได้ และอยากให้มีการทบทวนแต่ละเป้าหมายให้ถี่มากขึ้น และปรับตัวเป้าหมายให้มีความท้าทายมากขึ้น แบบเดียวกันกับเป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำมา

ในส่วนของของกลไกขับเคลื่อน เช่น การเงินเพื่อการพัฒนา ต้องมีการปฏิรูปการเงินระหว่างประเทศที่เดิมทีสนับสนุนการค้าเสรี ให้สนับสนุนการค้ายั่งยืนมากขึ้น สุดท้ายคือทำอย่างไรให้เรื่องการขับเคลื่อนในปัจจุบัน คิดถึงคนในอนาคตมากขึ้น (Future Generation) เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญของความยั่งยืน ทำอย่างไรให้ทุกประเทศมีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนนี้จะต้องเจรจาคู่ขนานมากขึ้น เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลแต่ละประเทศ จะต้องหารือกันว่าจะมีแนวทางอย่างไรสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดให้ต้อง วางแผนนโยบายรองรับความเสี่ยงในอนาคตมากขึ้น

เสนอไทยต้องขับเคลื่อน 6 ประเด็น

ส่วนของประเทศไทย ผศ.ชล ยังได้กล่าวว่า SDG MOVE ได้ทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการศึกษาประเด็นวิกฤต SDGs ของไทย เพื่อให้รู้สาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น และควรไปอย่างไรต่อ โดยพบว่าประเทศไทยต้องขับเคลื่อนอย่างมียุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่ 6 กลุ่มประเด็น คือ

1.การเปลี่ยนผ่านระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น

2.การเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น ระบบในที่นี้รวมถึงเรื่องพลังงาน อุตสาหกรรม หรือการท่องเที่ยว ให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น

3.การรับมือกับภัยพิบัติ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้น้ำท่วม เป็นปัญหาของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยซ้ำ โจทย์คือรัฐบาลไทยจะหาแนวทางรับมือจากภัยพิบัติที่จะมีแนวโน้มถี่ขึ้นทุกวัน

4.ความหลากหลายทางชีวภาพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศ และระดับภูมิภาค

5.สุขภาพและสุขภาวะ ประเทศไทยทำได้ดี แต่มีอีกหลายอย่างที่เป็นข้อกังวล เช่น คุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา วรรณโรค โรคไม่ติอต่อ NCDs ภัยบนท้องถนน ประเด็นนี้คือวิกฤตของไทยมาหลายปี

6.ระบบอภิบาลและการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

อยากเห็นวาระ SDGs ถูกพูดถึงในรัฐสภามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผศ.ชล กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอเชิงกลไกเราต้องทำให้การเงินเพื่อการพัฒนากลายเป็นวาระสำคัญของ Thailand SDG Roadmap ของสภาพัฒน์ และหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการพัฒนาเรื่องนี้ มีการใช้เงิน เป็นกลไกที่นำมา สนับสนุนภาคประชาสังคม ชุมชน ให้มาขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ด้วย รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมากขึ้น

ตลอดจนกลไกรับผิดรับชอบของภาครัฐในการขับเคลื่อน ปัจจุบันรัฐบาลขับเคลื่อนไม่มีการรายงานในรัฐสภาใด ๆ

“เราอยากเห็นตรงนี้ให้เกิดขึ้น และเป็นวาระที่รัฐบาลต้องรับผิดรับชอบต่อการบรรลุเรื่องนี้ด้วย และการเสริมสร้างศักยภาพฎ

ไม่น่าเชื่อว่า 9 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีกลไกในการเสริมสร้างศักยภาพ หน่วยงานรัฐ เอกชน ในการทำความเข้าใจเรื่อง SDGs ให้พร้อมเข้าไปขับเคลื่อน และการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยังไม่ถูกจัดเข้าไปในระบบการศึกษาไทย เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อน SDGsในอนาคต และทำให้การทำงานภาครัฐมีความต่อเนื่อง ไม่อยู่กับที่ แม้มีการเปลี่ยนตัวของผู้คน 

“ผมเชื่อว่าทิศทาง SDGs หลังปี 2030 เรายังมีหวัง และต้องทำกันต่อไปเพื่อคนทั้งโลก”