บลูมเบิร์กรายงานว่า ภัยธรรมชาติรุนแรง ส่งผลให้อุตสาหกรรมประกันภัยโลก อาจต้องจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นถึง 40%

by ESGuniverse, 4 กันยายน 2567

ความเสี่ยงต่อทรัพย์สินจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการขยายตัวของเมือง อาจทำให้การแบกรับความเสียหายจากภัยธรรมชาติต่อปีของอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลก เพิ่มขึ้น 40% ตามรายงานฉบับใหม่

 

 

จากภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ตามการวิเคราะห์ของบริษัทเวริสก์ (Verisk) ซึ่งเป็นบริษัทสร้างแบบจำลองความเสี่ยง พบว่าการสูญเสียประจำปีอาจเพิ่มขึ้นเป็น 151,000 ล้านดอลลาร์(5,158,160 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 40% สูงกว่าการสูญเสียประจำปีเฉลี่ย 106,000 ล้านดอลลาร์ (3,621,000 ล้านบาท) จากค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้จากการคาดการณ์การสูญเสีย 151,000 ล้านดอลลาร์นั้น ในจำนวนนี้ 119,000 ล้านดอลลาร์ (4,065,000 ล้านบาท) ไม่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของพืชผล

พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง ไฟป่า น้ำท่วม
ภัยพิบัติบริษัทประกันรับความเสี่ยงหนัก

เวริสก์ กล่าวว่า แม้คาดว่าเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดจะเกิดจากพายุเฮอริเคนหรือแผ่นดินไหว แต่พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง พายุโซนร้อนพิเศษ ไฟป่า และน้ำท่วม ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ โดยคิดเป็นครึ่งหนึ่งของความสูญเสียมูลค่า 119,000 ล้านดอลลาร์ตามที่คาดการณ์ไว้

การคำนวณของบริษัทชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของการสูญเสียต่อปีประมาณ 1% อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีนัยสำคัญมากขึ้นในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ รายงานดังกล่าวระบุ


อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลต่ออันตรายในชั้นบรรยากาศเกือบทั้งหมด รวมถึงพายุหมุนเขตร้อน แต่ผลกระทบนั้นเกิดขึ้นโดยตรงและชัดเจนกว่า เช่น ไฟป่า น้ำท่วม และพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง ตามที่เวริสก์ ระบุ

แม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ทางธรรมชาติครั้งใดที่ทำให้บริษัทประกันภัยต้องสูญเสียเงินมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ (341,600 ล้านบาท)ในปีที่แล้ว แต่จากรายงาน ก่อนหน้านี้ ที่เผยแพร่โดยบริษัท เอออน พีแอลซี (Aon Plc) พบว่ามีพายุฝนฟ้าคะนอง 37 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งสร้างความเสียหายอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ (34,100 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของพายุ 14 ครั้งในหนึ่งปีอย่างมาก บริษัทนายหน้าประกันกล่าว

ความท้าทายสำหรับ เวริสก์ และคู่แข่งคือการสร้างแบบจำลองพายุฝนฟ้าคะนองและภัยพิบัติขนาดเล็กอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและก่อให้เกิดความเสียหายโดยรวมมากขึ้นได้อย่างแม่นยำ

แม้ว่าจะมีความเข้าใจที่ดีว่าสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ส่งผลต่อไฟป่าและน้ำท่วมอย่างไร แต่ความสัมพันธ์กับพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงนั้นยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์" เวริสก์ กล่าว