เปิดทางรอดธุรกิจยุคพลังงานสะอาด ร่วม RE100 เคลื่อนตามบริษัทใหญ่โลก ก่อนตกขบวน

by ESGuniverse, 12 กันยายน 2567

เวทีสัมมนา ‘พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่’ แชร์ประสบการณ์ธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดระดับโลก แนะผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวรับมือกติกาการค้าโลกใหม่ สู่การใช้พลังงานสะอาดทั้ง 100 % (RE100) ภายในปี 2040 เคลื่อนตามเป้าหมายโกลบอลคัมพานี สู่ Net Zero ในฐานะที่เป็นหนึ่งในซัพพลายเชน ก่อนจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

 

 

‘พลังงานสะอาด’ ถือเป็นอีกแนวทางสำคัญในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งเชื้อเพลิงดังกล่าวมีส่วนทำลายชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนขึ้น หากเทคโนโลยีการผลิตยังไม่ดีพอ ในการเก็บกัก ดักจับสารระเหยจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้

ทำให้ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ รวมถึงเวทีการค้าระดับทวิภาคี เริ่มพูดถึงการลด-เลิก ‘การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล’ โดยนำมาเป็นหนึ่งในมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้บรรดาผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ จากทั่วโลก ต้องถามหาความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ‘การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทั้ง 100% หรือ RE 100’ จากประเทศที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตสินค้า รวมถึง ฐานการผลิตในไทย ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งผลักดันในเรื่องดังกล่าว

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็ต้องเร่งปรับตัว สู่การใช้พลังงานสะอาดเช่นกัน โดยไม่มองเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะเมื่อบริษัทใหญ่ระดับโลก ล้วนมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ย่อมกระทบต่อบริษัทที่เป็นซัพพลายเชนทั่วโลก รวมถึงในไทย ที่ต้องดำเนินการตามเป้าหมายนั้นเช่นกัน หากยังต้องการทำการค้ากับบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ต่อไป

ในการสัมมนาหัวข้อ ‘พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่’ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติด้านพลังงานสะอาด เจาะลึกแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานสัมมนา โดยมีไฮไลต์สำคัญจากกลุ่ม RE 100 ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือระดับโลกในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด 100% มาแบ่งปันประสบการณ์สู่ผู้ประกอบการไทย

 

 

 

ทั่วโลกลงทุนพลังงานสะอาด
เทคโนโลยีสีเขียวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียวจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ข้อมูลจาก Energy Transition Investment Trends 2024 ของบลูมเบิร์ก คาดว่าจากมูลค่าทั่วโลกประมาณ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2023 จะเพิ่มเป็น 4 – 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2030 ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ภาวะโลกร้อน และเหตุผลทางธุรกิจ

ปัจจัยแรก ภาวะโลกร้อน ได้ส่งผลต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างความเสียหายให้กับโลก คิดเป็นมูลค่าราว 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2000 – 2019) ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรมที่ต้องปรับตัวตามสภาพอากาศ น้ำท่วมที่มีความถี่เพิ่มขึ้น และที่น่ากังวลประการหนึ่งคือ ประเทศไทยติดอันดับ TOP 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุดในโลกด้วย

ปัจจัยที่สอง เหตุผลทางธุรกิจ ปัจจุบันจะเริ่มเห็นนโยบายที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องเริ่มลดปริมาณคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่ดำเนินการ เช่น การออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่ผลักดันเก็บภาษีในผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และไฟฟ้าบางชนิด ที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรปหรือ CORSIA เริ่มออกนโยบายให้อุตสาหกรรมการบินต้องเริ่มใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ซัพพลายเชน ต้องเคลื่อน Net Zero
ตามเป้าหมายของ ‘โกลบอล คัมพานี’

ปัจจุบัน บริษัทขนาดใหญ่ เช่น Tesla, Apple ต่างมีเป้าหมายในการเข้าถึง Net ZeroEmissions ทั้งห่วงโซ่การผลิตภายในปี 2030 นั่นหมายความว่า ธุรกิจที่จะเข้าร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ๆ เหล่านี้จะต้องใช้พลังงานสะอาดทั้ง 100% ด้วย

แนวโน้มที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป แม้ว่าธุรกิจจะไม่ได้ส่งออกไปยุโรป หรือเป็นคู่ค้ากับบริษัทที่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ซึ่งประเทศไทยก็เริ่มกล่าวถึงเรื่องการจัดเก็บภาษีคาร์บอน และการเตรียมออกกฎหมายพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศไทย เหล่านี้จะเริ่มมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจในไทยอย่างแน่นอน

 

 

 

แนะผู้ประกอบการไทย ชู Go Green
ยุทธศาสตร์องค์กร ปลดล็อก เข้าสู่ตลาด

อย่างไรก็ดี ในการกระตุ้นหรือผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงยุคโลกรวนนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญที่ต้องเผชิญ กล่าวคือ ผู้ประกอบการยังมองว่าเรื่องธุรกิจพลังงานสะอาดหรือธุรกิจแบบสีเขียว (Green) ไม่ได้เป็นเรื่องหลักที่องค์กรต้องให้ความสำคัญลำดับแรกๆ เพราะธุรกิจของตนไม่ใช่ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Green และยังมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะดำเนินการ ที่สำคัญคือมีราคาแพงทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้นไปอีก

“การทลายกำแพงความคิดในเรื่อง Go Green เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนผ่านให้สำเร็จ Green จะต้องถูกวางเป็นกลยุทธ์ในอนาคตขององค์กร Green จะเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายหากทำถูกทาง และที่สำคัญ Green จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและปลดล็อกข้อจำกัดการเข้าสู่ที่ตลาดสำคัญที่มีข้อจำกัด” นายอธิป กล่าว

 

 

 

RE 100 เร่งเปลี่ยนผ่านสู่โครงข่าย
คาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2040

นายโทบี้ วอร์คเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของ RE 100 จากลอนดอน สหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า การสัมมนามุ่งนำเสนอทฤษฎีแห่งการเปลี่ยนแปลงของ RE 100 ที่เน้นความร่วมมือกันขับเคลื่อนภารกิจเร่งการเปลี่ยนแปลง การขยายสู่โครงข่าย เพื่อให้ของการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยส่งเสริมนโยบายด้านการตลาดที่สำคัญ ทั้งเพิ่มสนับสนุนความพร้อม และความสามารถในการจ่ายพลังงานหมุนเวียน โดยมีกรณีศึกษาระดับภูมิภาคเอเชียจากญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นบทเรียนเพื่อนำมาประยุกต์กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย

สำหรับ RE 100 เป็นโครงการเครือข่ายที่เริ่มด้านพลังงานทดแทนระดับองค์กรระดับโลกของ Climate Group โดยรวบรวมธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 400 รายที่มุ่งมั่นจะใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานหมุนเวียน 100% ภารกิจคือการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่โครงข่ายคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2040

เพื่อสนับสนุนภารกิจดังกล่าว กิจกรรมของกลุ่มจะเน้นส่งเสริมไปในพื้นที่ที่องค์กรยังไม่มีการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือมีแต่ยังค่อนข้างน้อยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งการเข้าร่วมจะเป็นเสมือนการส่งสัญญาณความต้องการต้องที่ชัดเจนไปยังภาครัฐของแต่ละประเทศให้ตระหนักถึงศักยภาพในการลงทุนที่เกี่ยวข้อง และพร้อมเร่งขจัดอุปสรรคด้านนโยบายเพื่อบริษัทต่างๆ สามารถจัดหาพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 100% ได้อย่างรวดเร็วและราคายุติธรรม โดยมีพื้นที่ในภูมิภาคที่สำคัญ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ และสำหรับในประเทศไทย ก็หวังจะดึงความร่วมมือจากสมาชิกทั่วโลกที่มีสาขาสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยด้วย

“แม้จะยังบอกไม่ได้ถึงตัวเลขการลดปริมาณคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกของสมาชิกเนื่องจากขนาดของสมาชิก และขนาดกำลังการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ตัวเลขที่อ้างอิงถึงได้คือ ขนาดความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมของสมาชิกกว่า 400 รายมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าต่อปีของทั้งประเทศฝรั่งเศส และใกล้เคียงกับความต้องการใช้ไฟของเยอรมนีอีกด้วย โดยมีกำลังการผลิตเกิน 550TWh (เทระวัตต์-ชั่วโมง) ต่อปี และสมาชิกให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนได้ 100% ภายในปี 2050 ซึ่งในจำนวนนี้รวมแบรนด์ยักษ์ใหญ่ อย่าง Apple, Sony, Samsung Electronics, AB InBev และ Google” นายโทบี้กล่าว