แบบสำเรวจ SCB EIC พบเอสเอ็มอี เริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อ ESG ยกระดับธุรกิจโตยั่งยืน

by ESGuniverse, 11 กันยายน 2567

SCB EIC จัดทำ ‘แบบสำรวจเชิงลึก’ สะท้อนความสามารถในการแข่งขันและการเตรียมความพร้อมของเอสเอ็มอีรับมือกับความท้าทายรอบด้าน พบ เอสเอ็มอี เริ่มหันมายกระดับศักยภาพธุรกิจเติบโตยั่งยืน มีเริ่มมุมมองเชิงบวกต่อกระแส ESG แม้ว่าในระยะสั้นจะกำลังเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง

 

 

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประเทศ นอกจากจะมีจำนวนผู้ประกอบการกว่า 90% ของจำนวนผู้ประกอบการในไทยแล้ว ความสำคัญยังอยู่ที่การเชื่อมโยงกลไกการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในหลากหลายมิติ ทั้งบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน กระจายรายได้สู่ภาคประชาชน การขับเคลื่อนตลาดแรงงาน และเป็นซัพพลายเชนให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การระบาดของโควิด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า เพราะเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่เปราะบาง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนไปต่างๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง

ล่าสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณชิย์ (SCB EIC) ได้จัดทำ ‘แบบสำรวจเชิงลึก’ สะท้อนถึงความสามารถทางการแข่งขันและการเตรียมความพร้อมของเอสเอ็มอี เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากรอบด้าน โดยได้แบ่งผลวิเคราะห์ออกเป็นประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้

 

 

 

ความเชื่อมั่นเอสเอ็มอี ยังอยู่ระดับต่ำ
กังวลหนี้ครัวเรือนสูง-กำลังซื้อแผ่ว

1.มุมมองความเชื่อมั่นของธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ในระดับต่ำ เพราะความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นสัญญาณความกังวลใจต่อปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้านำเข้า

ทั้งนี้การเรียกคืนความเชื่อมั่นให้แก่เหล่าธุรกิจเอสเอ็มอี ควรเริ่มจากการเพิ่มบทบาทของภาครัฐและภาคการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายส่งเสริมการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เร่งและเพิ่มการลงทุนภาครัฐ ลดความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง

ขณะที่ในระยะยาว ควรมีมาตรการสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออกเพิ่มเติมสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ

 

 

 

เอสเอ็มอี เผชิญความท้าทาย
ต้นทุนสูง ขาดความสามารถรักษาฐานลูกค้า

2.การดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีไทย กำลังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนการผลิตการดำเนินงานสูงและผันผวน ประกอบกับปัญหากลยุทธ์การตลาดและกระบวนการผลิตล้าสมัย อีกทั้งยังขาดความสามารถในการรักษาฐานลูกค้า เพราะเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในแต่ละขนาดวิสาหกิจมีการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยธุรกิจขนาดย่อม (Micro) จะเน้นมาตรการลดค่าใช้จ่ายเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กและกลางส่วนใหญ่จะหันมายกระดับธุรกิจผ่านการพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิต และการตลาดให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

 

 

 

เอ็มเอสอี เริ่มหันยกระดับศักยภาพธุรกิจระยะยาว

3.เอสเอ็มอีไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพธุรกิจในระยะยาว โดยจะเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพสูง โดยแนวโน้มการพัฒนาธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาด้านต้นทุน ความล้าสมัยของกระบวนการทำงาน และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากรอบด้าน

โดยพบว่าอุตสาหกรรมที่มีความตื่นตัวมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ทั้งนี้แหล่งเงินทุนหลักสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ยังคงพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นหลัก จะมีเพียงวิสาหกิจขนาดย่อม (Micro) ที่จำเป็นต้องอาศัยแหล่งเงินทุนจากกำไรสะสมของธุรกิจและทรัพย์สินของผู้ประกอบการ เนื่องจากส่วนใหญ่เผชิญปัญหาความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันและการจัดทำบัญชียังไม่เป็นระบบ

 

 

 

เอสเอ็มอี มีมุมมองเชิงบวกต่อกระแส ESG
กำหนดแผนดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน

4.ธุรกิจเอสเอ็มอี มีมุมมองเชิงบวกต่อกระแส ESG และส่วนใหญ่ได้กำหนดแผนการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายความยั่งยืนแล้ว ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างในอุตสาหกรรมปั๊มน้ำมัน จำหน่ายเคมีภัณฑ์ รับเหมาและขายวัสดุก่อสร้าง นับว่าตื่นตัวกับกระแสดังกล่าวมากที่สุด โดยการปรับตัวจะเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

 

 

 

ทั้งนี้การปรับตัวของเอสเอ็มอีให้สอดรับกับกระแส ESG จำเป็นต้องอาศัยโครงการจัดอบรมให้ความรู้และโครงการมีที่ปรึกษาที่กระจายตัวอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดย่อมและธุรกิจในจังหวัดเมืองรองยังเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือเหล่านี้ได้ค่อนข้างจำกัด จนมีส่วนทำให้การปรับตัวทำได้ค่อนข้างยากและมีต้นทุนสูง

 

 

 

ระบุปัจจัยเชิงโครงสร้างมีแนวโน้มทวีความรุนแรง
กระทบขีดแข่งขันเอสเอ็มอี

SCB EIC ยังระบุอีกว่า แม้ไทยจะกำลังเผชิญกับบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อที่เปราะบาง แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้คาดว่าจะทยอยคลี่คลาย สวนทางกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง อาทิ การถูกตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิต/การดำเนินงานล้าสมัย ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง

โดยปัจจัยเหล่านี้จะฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาว หากเอสเอ็มอีไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทัน โดยกระบวนการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของ SME ต่อจากนี้ ควรมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ การพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์และมีคุณภาพสูง รวมถึงการวางแผนธุรกิจให้สอดรับกับเป้าหมายความยั่งยืน ESG ซึ่งจะขยายโอกาสในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น