SCGP ชวนธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าบรรจุภัณฑ์ ทรานส์ฟอร์มลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

by ESGuniverse, 10 กันยายน 2567

SCGP ชวนธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าบรรจุภัณฑ์ ตามรอยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในส่วนขององค์กร -ผลิตภัณฑ์ รับมือกติกาโลกบีบ แบ่งปันบทเรียน ความท้าทาย แนวปฏิบัติ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดันองค์กรโตยั่งยืน

 

การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจทั่วโลกกำลังตื่นตัว เช่นเดียวกับประเทศไทย ณ วันนี้ภาคธุรกิจต่างเริ่มปรับตัว หาแนวทางการดำเนินธุรกิจรูปแบบต่างๆ มาลดผลกระทบดังกล่าว

โดยแนวทางที่ภาครัฐ-เอกชน พูดถึงกันมากในขณะนี้ คือ ‘การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ (Carbon Footprint) ทั้งจากภายในองค์กร และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเริ่มเป็นกติกาการค้าที่บางประเทศผู้นำเข้าบังคับใช้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก

ในงานสัมมนา ‘Sustainable Synergy for Decarbonization’ จัดขึ้นโดยบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดพื้นที่แห่งความร่วมมือทั้ง ผู้ผลิต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสถาบันการเงินในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ มาแลกเปลี่ยนมุมมองความท้าทาย และแนวทางการปฏิบัติ เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสร้างองค์กรยั่งยืนไปพร้อมกัน

 

 

 

เป้าหมาย SCGP ประเมิน CFO และ CFP

วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดประเด็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากธุรกิจไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่ง SCGP ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Sustainability Transformation ถือเป็นดีเอ็นเอของเอสซีจี โดย SCGP ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% ภายในปี 2030 และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ผ่านการดำเนินงานใน 2 ด้าน ได้แก่

การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร หรือ CFO (Carbon Footprint for Organization) โดยหันมาใช้พลังงานเชื้อเพลิง ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ติดตั้งโซลาร์รูฟ และใช้พลังงานชีวมวลแทนพลังงานถ่านหิน นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อใช้พลังงานน้อยลง และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน ปลูกต้นไม้สะสมจำนวน 2.3 ล้านต้น นำขยะพลาสติกมาหลอมเป็นเมล็ดพลาสติกใหม่ นำเศษเยื่อกระดาษจากกระบวนการผลิตไปทำสารปรับปรุงดิน 24,000 ตันต่อปี เพื่อนำไปปลูกต้นยูคาลิปตัส สำหรับผลิตกระดาษต่อไป

อีกด้านคือ การได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หรือ CFP (Carbon Footprint of Product) 128 ผลิตภัณฑ์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ที่สามารถระบุจำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นได้ และได้รับการรับรอง Carbon Footprint จากกระบวนการพิมพ์และขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษรวม 16 กระบวนการ ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ากระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยลูกค้าสามารถนำ CFP ไปใช้ต่อยอดคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดได้

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา ‘ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่ออกโดย SCGP (Private Declaration Label)’ เพื่อแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบรรจุภัณฑ์ โดยได้พัฒนา ‘ซอฟต์แวร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์’ ของผลิตภัณฑ์ พร้อมเอกสารรับรอง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าขอการรับรอง CFP ในกลุ่มสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย 100% ภายในปี 2027

“การได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ จะช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้สอดคล้อง กับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการบังคับใช้มากขึ้นในหลายประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสการขาย การเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ไปยังลูกค้ากลุ่มต่างๆ อีกทั้งยังสามารถต่อยอด ไปสู่การพัฒนาและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นับเป็นการช่วยเสริมศักยภาพ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทย ให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย”

นอกจากนี้ ในงานสัมมนายังได้แบ่งปันข้อมูลความท้าทาย และแนวปฏิบัติเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนจากองค์กรต่าง ๆ

 

 

 

คาโอ ยึดแนวปฏิบัติ ออกแบบผลิตภัฑ์
ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่บุกรุกป่า

สุทธิพงค์ ลิ่มศิลา Head of Corporate Strategy บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้แบ่งปันการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเปิดเผยว่า คาโอได้กำหนดกลยุทธ์ทางด้านความยั่งยืน ที่เรียกว่า Kirei Lifestyle Plan ไว้จำนวน 19 แนวทางปฏิบัติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพชีวิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อทุก ๆ คน และอื่น ๆใส่ใจในการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรม สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะดวกต่อการใช้งาน มุ่งใช้นวัตกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ง่ายขึ้น ทางด้านสิ่งแวดล้อมเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

โดยในปัจจุบัน คาโอพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยเลือกใช้ Bio PET และวัสดุที่เป็น Mono Material รวมถึงเพิ่มการใช้ Flexible Packaging (บรรจุภัณฑ์ชนิดถุงหรือฟิล์ม) แทน Rigid Packaging (บรรจุภัณฑ์ชนิดขวด) เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกลง 50-70% เพิ่มสัดส่วนการใช้ Green Carton by SCGP เป็น 100% ภายในปี 2567

หรือแม้แต่การคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบ ที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่บุกรุกป่า โดยคาโอมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 100% ภายในปี 2025 และลดการปล่อยคาร์บอนใน Scope 1 (การปล่อยคาร์บอนทางตรง) และ Scope 2 (การปล่อยคาร์บอนทางอ้อม) ให้ได้ 55% และลด CFP ในผลิตภัณฑ์คาโอ ทั้งหมดให้ได้ 22% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2040 และ Carbon Negative ภายในปี 2050

หนุนเอสเอ็มอีลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะที่ตัวแทนหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยุทธนา เจียมตระการ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม เผยว่า หอการค้าไทยมีสมาชิกกว่า 1.4 แสนรายทั่วประเทศ จากผลสำรวจเมื่อ 4 ปีก่อนพบว่า มีสมาชิกเพียง 30% ที่ตระหนักถึง ESG ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย

โดยเห็นว่า การจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเอสเอ็มอี ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น เอสเอ็มอีควรเริ่มศึกษาข้อมูลจาก พรบ.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มีทั้งหมด 14 หมวด 177 มาตรา เพื่อทำความคุ้นเคย ซึ่งจะเป็นทั้งเครื่องมือและกลไกสำคัญ ในการนำผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีสู่จุดหมาย Net Zero รวมถึงมาตรฐานการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Taxonomy ระบบการซื้อขายสิทธิคาร์บอนเครดิต (Emission Trading System) เป็นต้น

ธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าต้องปรับตัว ลดปล่อยคาร์บอน

เชวง เศรษฐพร Head of Credit Product Development ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารเป็นมากกว่าผู้สนับสนุนด้านสินเชื่อ โดยมุ่งให้บริการลูกค้าเอสเอ็มอี ด้วยการจัดเตรียม สินเชื่อธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยให้วงเงินกู้สูงสุด 100% ของมูลค่าโครงการ ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกที่ 3.50% ต่อปี ปีที่ 3-5 อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำสุด 4.75% พร้อมสิทธิ์เข้าสมัครโครงการ Krungsri ESG Academy ให้ลูกค้าได้เรียนรู้และสนับสนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านได้อย่างรู้ลึก ทำได้จริง

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีกลไกสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โครงการ Krungsri ESG Awards มอบรางวัลให้ผู้ประกอบการที่มีโครงการเพื่อความยั่งยืนที่โดดเด่น สร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มเติม รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรใน ESG ecosystem ของกรุงศรีด้วย

 

 

 

 ส่วน สายชล อนุกูล ผู้จัดการโรงไฟฟ้าและไบโอแก๊ส บริษัทโชคยืนยงอุตสาหกรรม จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการได้ยกตัวอย่างการปรับแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนกล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีน้ำเสีย จึงจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อนำน้ำเสียมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อนำกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ผลิตกระแสไฟฟ้าภายในโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 60% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

โดยน้ำเสียส่วนหนึ่งจะถูกนำไปบำบัดและใช้ปลูกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยผลผลิตที่ได้ 60% จะแบ่งให้ชุมชนโดยรอบ และอีก 40% บริษัทฯ นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ SCGP ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มขนาด 5 เมกะวัตต์ คิดเป็น 20% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ในอนาคตมีเป้าหมายให้เป็นโรงงานที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% โดยจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพ หรือติดตั้งโซลาร์ฟาร์มหรือโซลาร์ลอยน้ำเพิ่ม

ขณะที่ธเนศ เมฆินทรางกูร Commercial Director บริษัทไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE มองว่า ESG เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืน หากไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้จะสูญเสียความสามารถการแข่งขัน เนื่องจากมีกฎหมายเตรียมบังคับใช้ โดยการลดคาร์บอนในธุรกิจโลจิสติกส์ ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ( EV ) เท่านั้น แต่รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งให้ดียิ่งขึ้น เช่น การจัดเส้นทางขนส่งใหม่ ใช้เรือขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยปัจจุบัน WICE อยู่ในระหว่างเตรียมการให้บริการขนส่งเชื้อเพลิงวูดเพลเลท (wood pellets) จาก สปป.ลาว มายังประเทศไทย และส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิต Green Energy