กระทรวง อว.รณรงค์บริโภคโปรตีนทางเลือก เคลื่อน Future food สู่เป้าหมาย 5 แสนล้านบาท

by ESGuniverse, 4 กันยายน 2567

กระทรวง อว. โดย สอวช. ผุดโครงการรณรงค์บริโภคอาหารโปรตีนทางเลือก หรือ Plant Based ในองค์กร ดูแลสุขภาพคนไทยห่างไกลโรค NCDs กระตุ้นการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย สู่เป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ในปี 2570 ชี้คนไทยบริโภคเนื้อสัตว์เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ สาเหตุโรค NCDs ความดันโลหิตสูง

 

 

ประเทศไทย ตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอาหารอนาคตของโลก (Future Food) แต่การจะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมนี้ในระดับโลกได้นั้น ต้องเกิดจากความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก

โดยในปัจจุบันเทรนด์การบริโภคอาหารแห่งอนาคตสำหรับคนไทยยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากข้อจำกัดด้านรสชาติ และราคาที่ยังคงสูง จึงเป็นเพียงทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพเท่านั้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้หลายหน่วยงานภาครัฐ เริ่มรณรงค์ให้คนในองค์กรหันมาบริโภคอาหารแห่งอนาคตมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เปิดตัวโครงการรณรงค์บริโภคอาหารโปรตีนทางเลือก หรือ Plant Based ในองค์กร

สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรม Future Food

นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า กระทรวง อว. โดย สอวช. ได้มีกิจกรรมรณรงค์บริโภคอาหารโปรตีนทางเลือก (Plant Based) ในกิจกรรมและการประชุมภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ และยังเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนไทยหันมาบริโภคอาหารประเภท Plant Based เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food ของไทยให้ได้ตามเป้าหมายที่ 500,000 ล้านบาท ในปี 2570

คนไทยเป็นโรค NCDs ส่วนหนึ่งเกิดจาก
ทานเนื้อสัตว์มากกว่าที่ร่างกายต้องการ

นางสาวสิรินยา กล่าวต่อว่า ข้อมูลจาก EAT Lancet ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ การเพาะปลูก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ระบุว่า แม้คนไทยจะทานเนื้อสัตว์น้อยกว่าหลายประเทศ แต่ก็ยังมีการบริโภคมากกว่าที่ร่างกายต้องการ และเป็นสาเหตุของโรค NCDs

บริโภคโปรตีนทางเลือก
ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์

นอกจากนี้ ภาคการเกษตรยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) คิดเป็น 1/3 ของทั้งหมด โดย 2/3 ของ GHG ที่ภาคเกษตรสร้างขึ้นนั้น มาจากปศุสัตว์หรือการผลิตโปรตีนสัตว์ ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านระบบการผลิตอาหารให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง มีความหลากหลาย มีประโยชน์ต่อสุขภาพและทุกคนเข้าถึงได้

  

 

 

Plant Based ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
น้อยกว่าเนื้อสัตว์

นางสาวสิรินยา กล่าวต่อว่า ข้อดีของอาหาร Plant Based ในด้านสุขภาพ คือ มีแคลอรี่ต่ำ คลอเรสเตอรอล 0% อีกทั้งยังมีวิตามินและไฟเบอร์ ในด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการในการผลิต Plant Based มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์ถึง 10 เท่า และใช้พื้นที่ น้ำ อาหาร น้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ ในด้านเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก Future Food ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

กลไกขับเคลื่อนอาหารอนาคตเติบโต

นอกจากนี้ความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ยังแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ

1.การตอบสนองสังคมสูงอายุ ลดภาระทางการแพทย์ ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ซึ่ง Future Food คิดเป็น 10% และ 57% ของผู้บริโภคทั่วโลกสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ

2.สร้างความมั่งคงทางอาหาร ท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายของไทยที่ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs emission) ภายใน ค.ศ. 2065

3.สร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีและส่งเสริมสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep-Tech Startup) ซึ่งประเภทของอาหารอนาคตไทย โดยเฉพาะในกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) อาทิ กลุ่มแมลงกินได้ รวมถึงโปรตีนจากนวัตกรรม เช่น เนื้อจากพืช ซึ่งรวมมีมูลค่าการส่งออก 6,500 ล้านบาท มูลค่าตลาดในประเทศถึง 43,500 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 8% ต่อปี

 

 

 

ส่วนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย นางสาวสิรินยา มองว่าจะต้องต่อยอดอุตสาหกรรมผ่านการดึงดูดการลงทุนกลางน้ำทั้งจากในและนอกประเทศ สร้างกลไก บริษัทธุรกิจเกษตร (Producer Company) พร้อมทั้งสนับสนุนการแปรรูปขั้นต้นและตรวจวัดคุณภาพ รวมถึงการต่อยอดการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ Future Food มีการพัฒนา R&D ครบวงจร สร้างสตาร์ตอัปกลุ่ม Future Food และพัฒนาทักษะกำลังคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม และการพัฒนาการตลาด Future Food ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น