อพท.ดันน่านชิงสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ด้านหัตถกรรม-ศิลปะพื้นบ้าน

by ESGuniverse, 19 สิงหาคม 2567

เมืองเก่าน่าน สานต่อรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก อพท.และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมส่งชื่อเข้าชิงสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UCCN) ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านไทย หวังก้าวสู่การเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก

 

ในปี 2566 ที่ผ่านมา ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน (Nan Old City) ได้รับเลือกให้เป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ด้านการจัดการขยะท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคมของเมืองเก่าน่าน จาก Green Destinations องค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนชั้นนำของประเทศเนเธอร์แลนด์

ภายใต้ความร่วมมือขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. และเทศบาลเมืองน่าน และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนท้องถิ่นในจังหวัด จึงได้ต่อยอดถึง ‘ยกระดับ’ การพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ก้าวสู่การเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลกตามกุศโลบาย ‘เมืองแห่งความสุขและสร้างสรรค์’ โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน พร้อมเข้าชิงเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในปี 2568

พัฒนาเมืองเก่าน่าน
ต้นแบบท่องเที่ยวยั่งยืนสากล

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน อพท. ได้ดำเนินการตามแนวทางเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) เพื่อพัฒนาและยกระดับให้พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

 

 

 

ในปี 2568 อพท. มุ่งผลักดันจังหวัดน่านเข้าชิงเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) ในด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เพื่อย้ำความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเพื่อสร้างต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับประเทศและในระดับสากลรวมทั้งส่งเสริมให้จังหวัดน่านเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ภายใต้ดำเนินโครงการตามกรอบและแนวทางหลักเกณฑ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และได้รับการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นเพิ่มคุณค่าแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน พร้อมจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก การบริการและความปลอดภัยในระดับมาตรฐาน เพื่อดึงดูดและสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว”

น่าน เติบโตยั่งยืน
มุ่งสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ในปี 68

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดน่านยังคงมุ่งมั่น เดินหน้านำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาของยูเนสโก มาใช้ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองน่าน โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมปราชญ์ ศิลปิน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รักษามรดกทางภูมิปัญญาของเมือง ผู้ที่จะส่งต่อองค์ความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

 

 

 

ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานด้านงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ส่งเสริมให้ศิลปิน ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานและนำเสนอขายสินค้า หัตถกรรมท้องถิ่น เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่านและ หัตถกรรมพื้นบ้าน และได้ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านกับการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์

น่าน เมืองแห่งความสุข สร้างสรรค์
เตรียมพื้นที่ให้เยาวชนกลับมาทำงานในท้องถิ่น

ขับเคลื่อนให้เยาวชนในพื้นที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์ และต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) รองรับการกลับมาทำงานที่บ้านเกิดของเยาวชนในอนาคต สร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพในพื้นที่น่านและเกิดการผลักดันโมเดลสู่การกระจายไปยังพื้นที่อำเภอต่างๆ ในจังหวัดน่าน ภายใต้ความร่วมมือของ อพท.น่านหน่วยงานรัฐ เอกชนและชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

โดยในปัจจุบันมีแกนนำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดน่านกว่า 36 คน มีผลประกอบการของเยาวชนในปี 2566 ที่สามารถสร้างรายได้จากการออกบูธกิจกรรมสร้างสรรค์และจำหน่ายสินค้ากว่า 1.7 ล้านบาท และส่งผลให้ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลองค์กรส่งเสริม คนดี คนเก่ง คนกล้า และรางวัล PATA Gold Awards ประจำปี 2563 สาขาการส่งเสริมพลังเยาวชน ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association : PATA)

ยกระดับศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์
ปราศจากความแตกต่าง อนุรักษ์ภูมิปัญญา

ด้วยการดำเนินการพัฒนาศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในด้านปราชญ์ ศิลปิน และครูภูมิปัญญา ยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่านเชิงสร้างสรรค์ โดยร่วมกับ บริษัทดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่และกาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม เรื่องภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเงินของจังหวัดน่าน

 

 

 

ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยน ผลักดันโครงการฝึกอบรมแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สามารถต่อยอดภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินสู่รุ่นต่อไป ส่งผลให้ได้ อพท. รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประเภทราชการ ส่วนกลาง ระดับดี ประจำปี 2566 (Human Rights Awards 2023)

น่าน พร้อมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

จากผลสำเร็จในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน โดยความร่วมมืออย่างดียิ่งของภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทีมท่องเที่ยวน่าน ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประกอบกับชุมชนในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วม และจิตสำนึกในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

รวมถึงจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่าง ยั่งยืนเมืองเก่าน่าน ได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยว ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรางวัลด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน มีการจัดการด้านความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวและการบริหารจัดการการ ท่องเที่ยวตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ภายใต้แนวคิด ‘น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต’ ซึ่งในการพัฒนาทุก ด้านที่กล่าวมาล้วนเป็นรากฐานสำคัญให้เมืองน่านมีความพร้อมเข้าชิงเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในปี 2568 ต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเมืองสร้างสรรค์ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก้แล้วทั้งสิ้น 7 เมือง ได้แก่ ภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร, เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน, กรุงเทพมหานคร เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ, สุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน, เพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร, เชียงราย เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ และสุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี