ส่องความก้าวหน้าเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ตัวแปรผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

by ESGuniverse, 17 สิงหาคม 2567

ส่องความก้าวหน้าเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน จากงาน SustainAsia Week 2024 SETA ตัวแปรสำคัญผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

 

จาก ‘สภาวะโลกร้อน’ ทวีความรุนแรงมาสู่ ‘สภาวะโลกเดือด’ ยากที่มนุษย์จะควบคุม สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือทั่วโลกต่างพยายามพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จะช่วยให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเภท

ในงาน สัปดาห์แห่งความยั่งยืน SETA 2024 และ SustainAsia Week 2024 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 -17 สิงหาคม 2567 ได้นำเสนอเทคโนโลยีจัดแสดงไว้มากมาย ที่ฮอลล์ EH100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

ภายในงานนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Low Carbon & Sustainable ASEAN Economy’ โดย บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพลังงาน สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีผู้ร่วมแสดงนิทรรศการมากกว่า 300 บริษัท จาก 50 กว่าประเทศทั่วโลก ที่มุ่งมั่นการเปลี่ยนถ่ายการใช้พลังงานโดยเทคโนโลยีสะอาด ให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง

 

 

 

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ประธานการจัดงาน SETA 2024 และ SustainAsia Week 2024 เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในยุคที่อุตสาหกรรมพลังงานกำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต และผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

ทั้งนี้ หลังปี ค.ศ. 2040 เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ (CCS) และเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอน การใช้ประโยชน์และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ (CCUS) จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายดังกล่าว และที่สำคัญทยและนานาชาติ จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดและไฟฟ้าสีเขียว เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ลดมลพิษ และสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและเศรษฐกิจ

 

 

 

บริษัทรายเล็ก-ใหญ่ ในไทยและต่างประเทศ

ขนทัพเทคโนโลยีโชว์ความก้าวหน้า

บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือจระเข้ได้นำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเคมีก่อสร้างตัวใหม่ล่าสุด Crocodile Road Fix Express มอร์ตาร์สำหรับซ่อมพื้นผิวถนนคอนกรีตชนิดบางมาจัดแสดง พร้อมเล่าเส้นทางความยั่งยืนผ่านนิทรรศการ เฟรมเวิร์กสู่ความยั่งยืน (JORAKAY Sustainability Framework) ดำเนินการผ่าน 3 แกนหลัก ได้แก่ 1.JORAKAY GREEN PROCESS มุ่งทรานสฟอร์มการดำเนินงานขององค์กรโดยคำนึงถึงความยั่งยืน 2.JORAKAY GREEN PLANET ดำเนินงานโดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม 3.JORAKAY GREEN PEOPLE พัฒนาคนในองค์กรและริเริ่มโครงการ CSR ที่ช่วยยกระดับสังคม

โดย ดร.จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 32 ปีบนเส้นทางธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จระเข้ไม่เคยหยุดคิดค้นนวัตกรรมก่อสร้างที่ตอบโจทย์การใช้งาน ปลอดภัยต่อทุกชีวิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์ภาวะโลกเดือดที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน จระเข้ เร่งเดินหน้านโยบายด้านความยั่งยืนแบบครบลูปอย่างเต็มสูบ เพื่อเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการดูแลรักษาโลกใบนี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้ปักธงหลายโครงการสำคัญเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต

 

 

 

‘มิตรผล’ ต่อยอดทรัพยากรหมุนเวียนจากภาคเกษตร

ขณะที่กลุ่มมิตรผล โชว์เคสเผยศักยภาพด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากภาคเกษตรไทย ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจากวัสดุเหลือใช้และต่อยอดทรัพยากรหมุนเวียนจากภาคเกษตร

 

 

 

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มมิตรผลกล่าวว่า 'ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ’ คือปรัชญาหลักที่กลุ่มมิตรผลยึดมั่นในการดำเนินงานมาโดยตลอด ตั้งแต่ก้าวแรกของการทำธุรกิจที่ตั้งใจสร้างการเติบโตเคียงข้างทุกภาคส่วน อีกทั้งเล็งเห็นถึงความพร้อมและโอกาสของประเทศไทยในการสร้างพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน เนื่องด้วยประเทศไทยมีภูมิศาสตร์และความสามารถที่เอื้อต่อการทำอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของกลุ่มมิตรผลที่มองว่าภาคเกษตรคือหนึ่งกำลังสำคัญในการสร้างการพัฒนาอย่างมั่นคงให้กับประเทศ

จากการต่อยอดสู่การผลิตพลังงานและผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและผู้บริโภคที่เริ่มมองหาผลิตภัณฑ์จากวัสดุชีวภาพ (Bio-based) มาทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฐานจากปิโตรเลียม (Petroleum-based) ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

 

กลุ่มมิตรผลพัฒนาภาคเกษตรไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากภาคเกษตรด้วยแนวคิด เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า (From Waste to Value Creation) มานานกว่า 20 ปี โดยเริ่มจากการผลิตไฟฟ้าชีวมวลด้วยชานอ้อยที่เหลือจากโรงงานน้ำตาล อีกทั้งยังได้พัฒนาความรู้และเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อนำวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรอื่น ๆ เช่น ใบอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริม ซึ่งช่วยส่งเสริมการตัดอ้อยสดของเกษตรกรในฤดูเก็บเกี่ยว เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มความมั่นคงของเชื้อเพลิงชีวมวล และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

โดยที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผลรับซื้อใบอ้อย เป็นจำนวนรวมแล้วกว่า 1.7 ล้านตัน สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรกว่า 2.5 พันล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผลยังได้เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) จำนวน 10 โครงการ ทำให้มีคาร์บอนเครดิตสะสมกว่า 900,000 ตันคาร์บอนฯ ต่อปี

และได้รับการรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs) ซึ่งเป็นหนึ่งกลไกที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวเพื่อพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น

ด้าน ธุรกิจเอทานอล กลุ่มมิตรผลได้นำกากน้ำตาลหรือโมลาส ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล รวมถึงน้ำอ้อยมาเพิ่มมูลค่าด้วยการผลิตเป็นเอทานอลหลากหลายเกรดเพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกัน อาทิ ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ใช้ในรถยนต์ เอทานอลสำหรับอุตสาหกรรม เอทานอลสำหรับเภสัชกรรม รวมถึงเอทานอลเกรดสำหรับอุตสาหกรรม BCG อย่างการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับอากาศยาน (SAF) และอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ปิโตรเลียมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง

“ศักยภาพของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากภาคเกษตรไทย ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรและวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรมาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกรต้นทางที่จะมีรายได้ที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีจากอาชีพเกษตรกรรม โรงงานไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงงานเอทานอลก็สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียน เชื้อเพลิงชีวภาพ และวัตถุดิบชีวภาพต่างๆ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ให้สังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย"

‘สามล้ออีวี’ สำหรับใช้ภาคเกษตร

นอกจากนี้บริษัท ไอเดียอีวี มอเตอร์ จำกัด ภายใต้สโลแกน ‘รถไฟฟ้า ไอเดียดี มีแล้วรวย’ ซึ่งเป็นบริษัทที่จำหน่ายรถอีวีในไทยมากว่า 3 ปี หลัก ๆ คือสามล้อซึ่งมีมากกว่า 10 รุ่น ได้พัฒนายานยนต์โดยนำวัสดุ อะไหล่ต่าง ๆ เข้าจากประเทศจีน ขึ้นรูปเป็นสามล้อหลายรุ่น สำหรับใช้ในภาคเกษตรกรรม และในครัวเรือนเป็นหลัก ช่วยภาคเกษตรกรรมลดใช้น้ำมัน

 

 

 

จัดการขยะ ด้วยหลัก BCG Model

นวัตกรรมกำจัดขยะ ด้วยแนวคิด Zero Waste สอดรับ BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยเครื่องกำจัดขยะ CiviO

ปัญหาขยะอาหารเป็นประเด็นสำคัญ และมีส่วนทำให้เกิดก๊าซมีเทน กรมควบคุมมลพิษรายงานสถานการณ์ขยะและสถานการณ์มลพิษในไทย ปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยพุ่งสูงถึง 26.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5% เนื่องจากกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แรงงาน และการลงทุน

ทั้งนี้ ขยะอาหารถูกพบเป็นสัดส่วนหลักของขยะมูลฝอย ประมาณ 10.24 ล้านตัน หรือกว่า 38% ซึ่งสัดส่วนนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากข้อมูลผลสำรวจล่าสุดในปี 2564

 

 

 

นาราภัทร สุขวุฒิยา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ CiviO กล่าวว่า เครื่อง CiviO เปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย ลดการกำจัดขยะที่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีจุดเด่นคือ มีเครื่องบดสับภายในตัว (In-Build Shredder)สามารถใส่ขยะอินทรีย์ ได้ทุกประเภท รวมถึง โครงไก่ กระดูกไก่ ปลาทั้งตัว ผลไม้ทั้งลูก ดูแลรักษาง่าย การใช้งานง่ายใช้จุลินทรีย์ชนิดพิเศษเพื่อย่อยสลายเศษอาหาร ภายใน 24 ชั่วโมง ประโยชน์คือลดปริมาณขยะอินทรีย์ได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ และลดปริมาณก๊าซมีเทน ที่มีผลต่อภาวะเรือนกระจก สาเหตุ ภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตามเครื่องกำจัดเศษซากขยะนี้เมื่อถูกแปลงเป็นปุ๋ย ก็จะถูกนำไปใช้กับภาคเกษตร ซึ่งมองว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไปด้วย ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชผัก สาเหตุเกิดโลกร้อน