ใน 1 ปี คนทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยคนละ 4-5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

by ESGuniverse, 2 สิงหาคม 2567

รายงานอ้างอิงข้อมูลจาก Our World in Data ปี 2022 ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 4-5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดย บรูไน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นประเทศในอาเซียน ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนสูงสุด ขณะไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระดับกลาง เฉลี่ย 3.8 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อคนต่อปี แต่หากเทียบ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม ถือว่าไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าอยู่มาก

 

 

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวิกฤตระดับโลก การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับบุคคลจึงความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละคนมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร และมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยเท่าไหร่ ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับบุคคลมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ได้รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจาก Our World in Data ปี 2022 พบว่า ค่าเฉลี่ยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรทั่วโลก อยู่ที่ค่าเฉลี่ยประมาณ 4-5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังแตกต่างกันอย่างมากระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) พบว่า ประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบุคคล มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ

  1. บรูไน 24 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
  2. สิงค์โปร 8.9 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
  3. มาเลเซีย 8.6 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี


ไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เฉลี่ย
3.8 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อคนต่อปี

ส่วนประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับกลาง แต่ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม แล้วถือว่าประเทศไทยยังถือว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงกว่าอยู่มาก

โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับบุคคล เช่น

1.การใช้พลังงานในที่พักอาศัย (ประมาณ 20-30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคล) คนที่อาศัยในเมืองใหญ่มักจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าคนในชนบท เนื่องจากการใช้พลังงานและการบริโภคที่สูงกว่า

2.การเดินทางและการขนส่ง (ประมาณ 25-35% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคล) ผู้ที่มีรายได้สูงมักจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า เนื่องจากการบริโภคและการเดินทางที่มากกว่า เช่น การใช้รถยนต์ส่วนตัว การเดินทางโดยเครื่องบิน เป็นต้น

3.อุปนิสัยการบริโภค (ประมาณ 15-25% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคล) การกินอาหารในชีวิตประจำวัน อาหารมังสวิรัติหรือวีแกนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 0.8 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เมื่อเทียบกับการรับประทานเนื้อสัตว์ หรือการเลือกใช้สินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอีกด้วย

4. การจัดการขยะ (ประมาณ 3-5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคล) การทิ้งขยะของบุคคลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการฝังกลบ หรือแม้แต่การเผาขยะ ไม่คัดแยกขยะรีไซเคิลก็ส่งผลต่อการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น

ไทยรอเวลาใช้กฏหมาย
คุมปล่อยก๊าซเรือนกระจก รายประเภทธุรกิจ

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีกฏหมายบังคับเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ.Climate Change กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา ซึ่งภายในกฏหมายนี้ จะกำหนดนโยบายเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่การมีมาตรการจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี (TAX Incentive) ในการลดย่อนภาษีให้กับผู้ลงทุน ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำในหลายสาขา ๆ ไม่ใช่แค่ในภาคอุตสาหกรรม แต่ยังรวมถึงภาคอาคารพาณิชย์ ภาคอสังหาริมทรัพย์ โครงการบ้านที่อยู่อาศัยต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าว จะกำหนดกลไกการจัดการคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอนของภาคอุตสาหกรรมบางประเภท จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในสัดส่วนเท่าใด รวมถึงการใช้ภาษีคาร์บอน การส่งเสริมคาร์บอนเครดิตบางประเภท เพื่อเชื่อมโยงกับการจำกัดสิทธิ์คาร์บอนของภาคอุตสาหกรรม

คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การเข้าใจถึงปริมาณและแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคลเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกเดือด แม้ว่าค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต่อหัวประชากรจะอยู่ที่ 4-5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี แต่มีความแตกต่างอย่างมากในแต่ละประเทศ แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตสู่วิถียั่งยืนมากขึ้น ย่อมช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคลได้อย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบัน TGO จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Net Zero Man ให้คนไทยได้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับบุคคลด้วยตัวเอง ซึ่งภายในแอพ จะคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งปี และยังสามารถชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกภายในแอพเพื่อเป็นคนไทยหัวใจไร้คาร์บอนโดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งระบบปฏิบัติการระบบ Android และ iOS