ส่องมาตรการปลุกขาลงตลาดทุนไทย ผ่านการลดหย่อนภาษี ESG และปรับเกณฑ์ทัดเทียมสากล

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ , 31 กรกฎาคม 2567

ตลาดหุ้นไทยหมดเสน่ห์จริงหรือ นี่คือแนวคิดจากนักวิเคราะห์, นักลงทุนที่ลงทุนรอคอยความหวังกับตลาดหุ้นไทยมาระยะหนึ่ง จนต้องโยกเงินไปหาตลาดทุนใหม่ในต่างประเทศ ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า

 

 

ข้อมูลจาก Share2Trade ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี จนถึง 25 กรกฎาคม 2567 ไปแล้ว 119,038.29 ล้านบาท


ปัจจัยการเทขายหุ้นมีหลากหลายประการ แต่ปัจจัยหลัก ๆ คือผลตอบแทนต่ำ โดยในปี 2567 ผลตอบแทนช่วงต้นปีอยู่ที่ -3.18% และมีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ -9.51% (As of 22 พ.ค. 2567)


หุ้นไทยขาลง พร้อมวิกฤติศรัทธา
กังขา หลักธรรมาภิบาลในธุรกิจ


เมื่อพิจารณาตลาดทุนประเทศอื่น ๆ พบว่ายังคงมีอัตราเติบโต อาทิ S&P 500 และ Nasdaq ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 142% และ 237% ตลาด N 30 ของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 104%, Nikkei 225 ของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 117% , China A50 ของจีน เพิ่มขึ้น 69%, FTSE 100 ของอังกฤษ เพิ่มขึ้น 11%


ยังไม่รวมถึงข่าวสั่นสะเทือนวงการหุ้นหลายตัวในตลาดหุ้นไทย สร้างบาดแผลให้นักลงทุนรายย่อย และสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้ตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ คดีการซื้อขายหุ้น MORE หรือ บมจ.มอร์ รีเทิร์น และล่าสุด หุ้น EA หรือ บมจ. พลังงานบริสุทธ์ หุ้นที่เคยมีมูลค่ามากที่สุดติด 1 ใน 20 อันดับของตลาดหุ้นไทย กลับถูกกล่าวโทษคดีทุจริตในผู้บริหาร เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธา และเกิดข้อกังขาในการกำกับดูแลด้าน ESG ในตลาดหุ้นไทย


ขณะเดียวกันที่ผ่านมายังพบว่า หุ้นกลุ่ม ESG ยังมีสัดส่วนน้อย ไม่จูงใจนักลงทุน แม้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีกองทุน ESG Fund หรือ กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน ที่เริ่มเปิดตัวในปลายปี 2566 ที่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี ซื้อได้สูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนหุ้นในกลุ่มESG แต่กลับยังไม่จูงใจ มีบริษัทที่อยู่ในการซื้อขายหลักทรัพย์ SET ESG ในปัจจุบัน 114 ราย จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 697 บริษัท จึงทำให้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ได้ผ่านร่างกฎกระทรวง มาตรการยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ในประกาศให้เพิ่มแรงจูงใจเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% จากเดิม 1 แสนบาท เพิ่มเป็น 3 แสนบาท และยังลดระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนกองทุน ESG ที่คนมองว่ายาวนานเกิน จากเดิม ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปี ลดลงมาเหลือเพียง 5 ปี


นักลงทุนไทยแห่ลงทุนต่างประเทศ
เหตุหุ้นไทยขาดเศรษฐกิจหมุนตามเทรนด์โลก


ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด กล่าวว่า เกิดกระแสการนักลงทุนไทยขยายไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น จนถึงปัจจุบันมีมูลค่าถึง 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 6 แสนล้านบาท เพราะตลาดหุ้นในต่างประเทศให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นไทย ในช่วง 5-6 ปี หุ้นไทยยังอยู่ที่เดิม ขาดหุ้นใหม่ หรือการลงทุนใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ตามทิศทางทั่วโลก ที่มีเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล เข้ามาทำให้เพิ่มการเติบโต อย่างเช่นหุ้นในสหรัฐ

“นักลงทุนต้องไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นไทย จึงมีกระแสการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะหุ้นไทยอยู่ที่เดิม ขณะที่ต่างประเทศ และทั่วโลกมี New Economyใหม่ ๆ ในหลายเซ็กเตอร์ แต่ประเทศไทยไม่มีเลย ยังวนเวียนกับเซ็กเตอร์การเงิน การธนาคาร พลังงาน เทเลคอม ที่เป็นหุ้นใหญ่ อาจจะมี หุ้นเดลต้า ที่มีพอร์ตใหญ่ในกลุ่มดิจิทัล เข้ามากระตุ้นตลาดบ้าง แต่หากเป็นหุ้นที่ยังไม่เชื่อมต่อกับผู้บริโภค (End User) ก็ต้องดรอปไปเมื่อถึงเวลาหนึ่ง”

 

 


ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่นักลงทุนอาจจะรู้สึกอึดอัดกับภาพรวมตลาด จึงต้องเริ่มหันไปลงทุนในต่างประเทศ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า หุ้นในไทยที่เติบโตมีเพียงเซ็กเตอร์ ท่องเที่ยว และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และการดูแลรักษาพยาบาล ขณะที่ประเทศกลุ่มเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นเทรนด์โลก อย่าง หุ้นพลังงาน หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล ต่างหันไปลงทุนในตลาดจีน สหรัฐ และประเทศอื่น ๆ

“ในประเทศไทยธุรกิจที่อาจจะยังเติบโตได้เป็นท่องเที่ยว มีฮอสพิทอลลิตี และธุรกิจเมดิคอล แต่หากเป็นหุ้นในกลุ่มดิจิทัลและกลุ่มพลังงานสะอาด (Clean Energy) จะต้องไปอเมริกา หรือ จีน”


เศรษฐกิจสีเขียวมาแน่
เทรนด์ลงทุนทั่วโลกคัดทิ้งธุรกิจล้าสมัย


แม้การลงทุนด้าน ESG จะเป็นระดับเริ่มต้น ที่ยังไม่เกิดการสร้างผลกระทบแทนสูงสุด แต่ถือเป็นช่วงที่น่าสนใจ แม้จะบางรัฐบาลจะเบรกบางช่วง แต่ห้ามไม่ได้เพราะเศรษฐกิจสีเขียวคือ เทรนด์ที่ทั่วโลกมุ่งไปในทุกรัฐบาลที่เริ่มลงทุนในด้านESG มากขึ้น เหมือนจีน ต่างมุ่งส่งเสริมการลงทุนธุรกิจใหม่ เช่น Clean Energy


“ในไม่ช้าทั่วโลกต้องมุ่งไป ห้ามไม่ได้เพราะเศรษฐกิจสีเขียว เป็นเทรนด์ อาจจะเบรกช่วงหนึ่งแต่ห้ามไม่ได้ คล้าย ๆ วันหนึ่งเทรนด์เปลี่ยนรถม้า มาเป็นรถยนต์ อาจจะห้ามได้บางช่วงเพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย สุดท้ายหากเกิดเป็นเทรนด์ก็ต้องตามประชาชนอยู่แล้ว เช่น จีน มีการสนับสนุนพลังงานสะอาด ส่วนธุรกิจเก่า เช่น อสังหาริมทาัพย์ ก็มีการปล่อยไม่ล้มไป ไม่อุดหนุน ทุ่มเทเงินกับสิ่งที่กำลังล้าสมัย”


นักลงทุนไทย เลือกหุ้น ESG ยังอยู่ช่วงตั้งไข่
ต้องเลือกความเสี่ยง หุ้นกำไรเพื่อเติบโตยั่งยืน


สำหรับ เทรนด์ความยั่งยืน ESG ต่างประเทศมาสักพัก แต่ความเป็นจริงของนักลงทุน ยังต้องพิจารณาเลือกระหว่างผลตอบแทนกำไร และการถือหุ้นESG ในระยะยาว เพราะในช่วงแรก ยังไม่สะท้อนผลตอบแทนตามที่คาดหวัง นักลงทุนจึงต้องเลือกเป้าหมายผลตอบแทนกำไร หรือ ลงทุนระยะยาว


“การลงทุนในESG ยังไม่สัมพันธ์กับกำไร และตัวชี้วัดบริษัทก็ยังไม่สะท้อนกำไร หากเมื่อไหร่ที่มีกำไร และมีการเติบโตต่อเนื่อง ในหุ้นESG จึงถือว่ามีความชัดเจนสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตยั่งยืน ดังนั้น ในหุ้นESG นักลงทุนจะรับรู้และยอมรับตรงนั้น ว่าเป็นช่วงเริ่มต้นที่ต้องแบกรับความเสี่ยง ก็อาอาจจะผิดพลาดได้ และยังไม่ได้ทำกำไรได้สูงที่สุด ดังนั้นนักลงทุนจะต้องเลือกให้ดี แต่ใครมองเทรนด์ระยะยาว อย่างน้อยช่วยให้การนักลงทุน ได้ลงทุนในบริษัทที่ดีมีกำไรและทำเพื่อสังคม”


ตลท. ปรับเกณฑ์ไทย
หุ้นใช้มาตรฐานโลก FTSE ESG
ลดช่องว่างบริษัทESGไทย-ต่างชาติ


ทางด้าน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องการยกระดับตลาดหุ้นไทยในมาตรฐานเดียวกันกับสากล เกี่ยวกับการประเมินความยั่งยืนบริษัทจดทะเบียน ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (LSEG-London Stock Exchang Group)โดยมีการปรับจาก SET ESG rating ภายใน 2 ปี (เริ่มต้นปรับตั้งแต่ปี 2567) จะยกระดับเกณฑ์เดิม สู่ การใช้มาตรฐานเดียวกันต่างประเทศ ในปี 2569 จะใช้ชื่อ FTSE ESG Scores (ฟุตซี่อีเอสจีสกอร์)ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ลงทุนสถาบัน และ ผู้บริหารสินทรัพย์ (Asset Managers) ชั้นนำทั่วโลก ที่มีมูลค่าทรัพย์สินกองทุน(AUM) สูงถึง 15.9 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ที่อ้างอิงดัชนีนี้ และยังถือว่า กระบวนการประเมินแบบใหม่ มีดัชนีชี้วัด (Metodology) เดียวกันกับที่ประเมินบริษัทกว่า 8,000 แห่ง ใน 47 ประเทศทั่วโลก จึงถือว่ามีความน่าเชื่อถือ มีความโปร่งใส และยังลดภาระให้กับบริษัทไม่ต้องตอบแบบประเมินอย่างที่ผ่านมา

 

 

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กล่าว่า สาเหตุที่ต้องปรับเกณฑ์การประเมินเนื่องมาจาก SET ESG Rating สู่ FTSE ESG SCORE เป็นแนวทางที่หารือมากว่า 2 ปี จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เกิดกรณีการทุจริตภายในองค์กรในบางธุรกิจ จนทำให้ต้องตัดออกจากการจัดอันดับ SET ESG Rating มีรูปแบบการประเมินในภาคสมัครใจ โดยการจัดแบบประเมินให้บริษัทตอบแบบสอบถาม ข้อมูลของภาคธุรกิจ โดยมีการดำเนินการมา 10 ปี มีบริษัทเข้าร่วมกว่า 192 บริษัทจากบริษัทจดทะเบียนกว่า 900 บริษัท แยกเป็นบริษัทในSET100มีเพียง 35 ราย ซึ่งถือว่า มีสัดส่วนไม่ถึงครึ่ง จึงถือว่ามีช่องว่างของการเข้าถึงแบบประเมินESG เนื่องจากเป็นต้นทุนที่ต้องเพิ่มบุคลากร หรือฝ่ายที่ต้องดำเนินการกรอกข้อมูล จึงทำให้บางบริษัท แม้จะมีการปฏิบัติตามมาตรฐานแต่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ในปีถัดมาเพราะขาดแคลนบุคลากร

ที่ผ่านมามีบริษัทในSET100 เข้ามาอยู่ในเกณฑ์SET ESGrating เพียง 35 บริษัทจึงถือว่ามีช่องว่างที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดการยกระดับESG สู่สากล ในระดับเดียวกันกับตลาดโลก

“ที่เปลี่ยนมาตรฐานESGเป็นสถาบัน FTSE เพราะโจทย์เปลี่ยนเดิม จึงพยายามทำให้บริษัทจดทะเบียนเข้ามาใช้หลักเกณฑ์มาตรฐานESG มากขึ้น เพื่อไปสู่ระดับโลก”

2 ปี ยกระดับบจ.ไทยMarket Cap 90%
สู่มาตรฐานยั่งยืนสากล

ขณะที่เกณฑ์ FTSE ESG SCORE มีดัชนีชี้วัดที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงกองทุนต่าง ๆ ตลอดทั้งกลุ่มนักวิชาการ และNGO ซึ่งมีหลักเกณฑ์การประเมิน 3 มิติ จาก 12 ธีม มากกว่า 300 ตัวชี้วัด ที่นำมาใช้ตรรวจสอบครอบคลุมในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล

เป้าหมายของการปรับเกณฑ์การประเมิน ต้องการให้มีการเผยแพร่FTSE ESG Scores ให้รับรู้สู่สาธารณะ เพื่อนำกลับไปปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกันกับหลักเกณฑ์ ก่อนที่จะยกระดับให้มีผลบังคับนำมาประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2569 คาดหวังให้มีบริษัทเข้าเกณฑ์การประเมินเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 300-400 บริษัท หรือสัดส่วนบริษัทจดทะเบียนประมาณ 50% ในตลาด มีมูลค่าหลักทรัพย์ (Market Cap) คิดเป็น 90%

 

 

ESG ต้องเป็นกลยุทธ์ แต้มต่อสู้เวทีโลก

อังคณา เทพประเสริฐวังศา เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยว่า ESG เป็นสิ่งที่เข้ามาส่งผลกระทบกับธุรกิจในตลาดอย่างรวดเร็วและรุนแรง (Dynamic) จึงต้องยกระดับมาตรฐานเกณฑ์การกำกับดูแลและการประเมินให้เทียบเท่ากันกับระดับสากลที่ทั่วโลกยอมรับ ดังนั้นภาคธุรกิจจึงต้องรวมแนวคิดด้านESG มาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ ไม่ใช่เพียงปลูกป่า ติดโซลาร์ และ จึงจะทำให้มีขีดความสามารถการแข่งขัน มีกำไรและเติบโตอย่างยั่งยืน และใช้เป็นแต้มต่อในการนต่อสู้ในเวทีโลกได้

“เรื่อง ESG นั้นไม่ใช่กำลังมา แต่มาแล้ว มีความเคลื่อนไหวมากขึ้น เรื่องแรงงาน หรือ เท่าเทียมกันทางเพศก็ถูกพูดถึงมากขึ้นในภาคธุรกิจ จึงถือว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงมูฟสำคัญ เปลี่ยนแปลง E S และ G ที่ถือว่าเป็นตัวแห่งความเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงมา บริษัทจดทะเบียน กำลังเผชิญความเสี่ยง ต้องดำเนินธุรกิจยั่งยืน พร้อมกันกับทำให้อัตราผลตอบแทนเติบโตอย่างยั่งยืน จึงต้องดูแล ESG ให้สมดุล หากไม่ทำจะเผชิญกับมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มข้น อาทิ CBAM,Taxonomy บริษัทที่โดนก่อนคือบริษัทที่ค้าขายระหว่่างประเทศ ตามมาด้วยบริษัทที่มีเครือข่ายการผลิตกับต่างประเทศ พร้อมกันกับเริ่มมีกฎระเบียบบังคับภายในประเทศ เช่น พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ”