ชมรมบัวหลวง SME ชู 2 ธุรกิจรายย่อยต่างขั้ว ปรับธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน

by สินนภา ดีเลิศพัฒนา, 29 กรกฎาคม 2567

ชมรมบัวหลวง SME โชว์เคส 2 ผู้ประกอบการต่างขั้นธุรกิจ ‘เฟอร์นิเจอร์-และฟาร์มไข่’ เสริมแกร่งความรู้เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน

 

 

ธุรกิจรายย่อย (SMEs) มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ในหลาย ๆ ประเทศต่างก็มีนโยบาย หรือมาตรการที่ช่วยผลักดันและสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศของตนเองให้อยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย เช่น อินโดนีเซียที่เตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน ในอัตรา 100-200% ซึ่งถือเป็นแผนการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ประเทศไทยมี SMEs จำนวน 3.17 ล้านรายในสำมะโนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) และอยู่นอกสำมะโนฯ อีก 2.7 ล้านราย รวม ๆ แล้วมีทั้งหมดเกือบ 6 ล้านราย ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ มีการจ้างงาน ผลิตสินค้า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายสนุบสนุนช่วยเหลือด้านเงินทุนผ่านธนาคารให้กับ SMEs ไทย เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบรรดาผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ให้สามารถอยู่รอด แข่งขัน และเติบโตให้มากที่สุด

เช่นเดียวกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ได้สนับสนุน SMEs ในด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินต่าง ๆ พร้อมกับ ได้จัดตั้ง "ชมรมบัวหลวง SME" เป็นหนึ่งในการสนับสนุนเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ของธนาคารกรุงเทพ โดยเริ่มต้นจากการรวมตัวของผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจากธนาคารและจัดตั้งเป็นชมรม โดยธนาคารกรุงเทพได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายทางธุรกิจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน

มุ่งขยายฐานด้วยการสร้างเครือข่ายสมาชิก ส่งเสริมให้ SMEs ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสมาชิกเครือข่ายชมรมฯ มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกกันอยู่เสมอทั้งจากสมาชิกด้วยกัน และจากฝ่ายเศรษฐกิจของธนาคารกรุงเทพ

ปัจจุบัน ชมรมบัวหลวง SME มีเครือข่ายสมาชิกจากทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย โดยธนาคารฯ ยังได้มีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนเพียงพอสำหรับปรับปรุงธุรกิจให้พร้อมรับมือกับความท้าทายจากเทรนต่างๆของโลกได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนอีกด้วย

 

 

 

เสนอรัฐ หาแนวทางขับเคลื่อน SMEs ไทย

นายกำพล กุลวรานนท์ ประธานชมรมบัวหลวง SME กล่าวว่า สถานการณ์ SMEs ปัจจุบันของไทยนั้นมีการเตรียมการช้าเกินไป ไม่ทันเทคโนโลยี ทั้งด้านพื้นฐานการศึกษา พื้นฐานของคน รวมไปถึงกฏหมายที่จะเข้ามารองรับในกลุ่มธุรกิจรายย่อย

 

 

 

สำหรับด้านปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) พลังงาน ทุก ๆ กลุ่มลูกค้า ผู้ประกอบการ รัฐบาลนานาประเทศต่างก็มีการอุดหนุนในการทำการวิจัยและการพัฒนา (R&D) มาหลายสิบปีแล้ว ยกตัวอย่างเช่นประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น รัฐบาลก็ได้มีการออกเงินช่วยเหลือเรื่องเครื่องมือทำกิน การลงทุนด้านเทคโนโลยี และมีคนที่ชำนาญในแต่ละหัวข้อมาให้คำปรึกษา

ในเรื่องของเงินทุน รัฐบาลแต่ละประเทศก็มีนโยบายที่แตกต่างกันออกไป แต่เรื่องของพื้นฐานอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น เรื่องเกษตรก็ต้องพัฒนาตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ต้องมีราคาไม่แพง มีการรับประกันราคา เป็นต้น

นายกำพลยังได้มีข้อเสนอแนะด้านมาตราการ SMEs ว่า แนะนำให้รัฐและทุกภาคส่วนต้องเข้ามาดูแล โดยเฉพาะภาคการศึกษา กลุ่มอาชีวะ ซึ่งเป็นภาคการขับเคลื่อนสำคัญมาก ประเทศไทยต้องการแรงงรนที่มีความรู้ มีทักษะ จึงจะทำให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

โดยได้สรุปสาระสำคัญที่รัฐบาลควรจะมีส่วนเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย 3 หัวข้อ ได้แก่

  1. เรื่องนวัตกรรมใหม่
  2. เรื่องการสร้างบริการใหม่
  3. เรื่องการผลิตใหม่

 

 

 

ผลิตเฟอร์นิเจอร์มีดีไซน์ ใส่ใจโลก

นายสมพงษ์ วาทินชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทย ด้วยการผสมผสานงานดีไซน์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ เราได้มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้วยการนำเอไอเข้ามาใช้ในระบบการวัดคุณภาพ กำจัดของเสีย เพิ่มคุณภาพชีวิตแก่พนักงานในบริษัท

ตั้งเป้าขับเคลื่อนห้องแลปอันดับ 1 ของเอเชีย เพื่อตอบโจทย์การมีสุขภาพที่ดีและความปลอดภัยของคนไทย โดยยึดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ด้วยสินค้าและวัตถุดิบ การจัดการกระบวนการต่างๆจากเอไอ มาจัดการเรื่องขยะของเสีย มุ่งพัฒนาคุณภาพและให้เหลือเศษสินค้าน้อยที่สุด ก่อนหน้านี้การจ้างเพื่อกำจัดสินค้าเป็นสิ่งที่มีราคาสูง การที่มีขยะเหลือทิ้งเยอะก็สร้างต้นทุนเยอะด้วยเช่นกัน

แม้ว่าการลงทุนในระบบสินค้า เอไอมีราคาที่แพง แต่จากผลการดำเนินงานพบว่าปัจจุบันขยะเหลือทิ้งเหลือเพียง 5-8% ในสัดส่วนที่ไม่สามารถกำจัดได้โดยธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องนำไปฝังกลบและเผาต่อไปตามมาตรฐาน ISO

 

 

 

ออกแบบสินค้า นวัตกรรม
ผลิตเฟอร์นิเจอร์เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
ส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก

โดยมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจเป็นเป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม ได้แก่ ระบบเครื่องจักรดูดฝุ่นไม้ SILO (Dust Collector System) ช่วยลดฝุนละออง PM2.5 เพื่อนำเศษไม้จากระบบการผลิตให้มีคุณค่า สามารถนำมาขายได้ นำมาปั้น เผา เป็นเชื้อเพลิงแก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือผลิตเป็นเก้าอี้ Lab Stool เป็นต้น

ในส่วนของ ESG ตอนนี้กำลังศึกษาและมีแผนที่จะทำ เนื่องจากต้องการลงทุนในสหภาพยุโรปและอเมริกาที่มีมาตรการทางการค้าชัดเจน ด้วยการใช้ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) เข้ามาเพื่อให้ทุกอย่างในอุตสาหกรรมเป็นระบบนิเวศอัจฉริยะ

“ไทยต้องออกกฏหมายควบคุมคุณภาพสินค้าจากต่างประเทศ กำกับควมคุมสินค้าในหมวดหมู่ต่างๆให้เท่าเทียมคนไทย ลงทุนกับเครื่องจักร จะทำให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ รัฐบาลต้องควบคุมรารา มาตรฐาน คุณภาพของสินค้า เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

 

 

 

กรณีศึกษาตัวอย่าง
ฟาร์มปศุสัตว์ไก่-ไข่ ครบวงจรอย่างยั่งยืน

ตัวแทนฟาร์มระพีพัฒน์ ได้บอกเล่าถึงการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงไก่แบบเดิม ให้สามารถก้าวข้ามความท้าทาย เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนว่า ลักษณะฟาร์มช่วงแรกล้วนต้องพึ่งพาบริษัทใหญ่ ทั้งเรื่องของไก่ อาหาร ยารักษา ราคาไข่ในตลาดไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ราคาไข่หน้าฟาร์มมีการเปลี่ยนแปลงตลอด

“หน้าหนาวไข่จะถูก หน้าร้อนไข่จะแพง การที่สินค้าเกษตรจะอยู่รอดได้ต้นทุนต้องต่ำ การทำเรื่องความยั่งยืนเป็นการทำเพื่อลดการใช้จ่าย ให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ถ้าปรับตัวไม่ทันธุรกิจก็อาจอยู่ไม่ได้”

โดยพื้นที่ในฟาร์มทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงไก่ 20% และอีก 80% สำหรับปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ขณะที่ของเสียหรือมูลไก่ที่เกิดขึ้นในกระบวนการเลี้ยงไก่ จะถูกนำไปผลิตไบโอแก๊ส (Biogas) สำหรับปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มและมูลไก่บางส่วนจะนำไปผ่านกระบวนการหมักเพื่อจำหน่ายเป็นปุ้ย

ส่วนซากไก่ที่ตายแล้วจะถูกนำไปเป็นอาหารในฟาร์มจระเข้ โดยทางฟาร์มฯดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทางเหลือทิ้งเป็นศูนย์ (Zero Waste) ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับฟาร์มให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข ตอบโจทย์กระแสโลกในเรื่องของความยั่งยืน ทั้งยังส่งผลดีต่อการค้าขาย การขยายตลาด รวมทั้งการขอสินเชื่อเพื่อนำมายกระดับและพัฒนาฟาร์มให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย