ทำความรู้จักตลาดคาร์บอนเครดิต เครื่องมือช่วยบริษัท ลดปล่อยมลพิษ ผ่านระบบซื้อขาย

by ESGuniverse, 25 กรกฎาคม 2567

คาร์บอนเครดิต กลไกช่วยองค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยมีการซื้อขายคาร์บอนแบบสมัครใจ ผ่าน T-VER มาตั้งแต่ปี 2557 กำลังพัฒนาสู่ Premium T-VER อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการค้ากับต่างประเทศ เพื่อให้นานาประเทศยอมรับมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิตเทียบเคียงมาตรฐานสากลนี้ ระบุไทยมีศักยภาพสู่ฮับตลาดคาร์บอนเครดิตอาเซียน

 

 

ถึงแม้ว่าบริษัทต่าง ๆ พยายามมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) แต่ก็ต้องยอมรับว่าการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) จึงเข้ามาเป็นกลไกสำคัญ ในการ ‘ชดเชย’ ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา เสมือนการ ‘ล้างบาป’ จากการทำกิจกรรมทำร้ายโลก นั่นเอง

โดยนิยามของ ‘คาร์บอนเครดิต’ คือ การลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้จากการดำเนินโครงการ ซึ่งองค์กรนั้น ๆ สามารถดำเนินการในได้เอง หรือ สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ไดรับการรับรองคาร์บอนเครดิต เช่น โครงการปลูกป่า โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น กลายเป็นที่มาของตลาดคาร์บอนเครดิต

ย้อนรอยก่อนจะเกิดตลาดคาร์บอน
จากจุดเริ่มต้นปฏิวัติอุตสาหกรรม

เมื่อโลกเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ในภาคเกษตรกรรม การทำเหมืองแร่ การผลิต การขนส่งคมนาคม จึงทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัด พร้อม ๆ กับปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ทั่วโลกเกิดความกังวล และหลายประเทศได้เข้าร่วม ‘พิธีสารเกียวโต’ (Kyoto Protocol) เพื่อพิจารณาหาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ต่อมา ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ก็เป็นอีกหนึ่งความตกลงที่มีเป้าหมายในการลดลดก๊าซเรือนกระจก

และเริ่มมีกำหนดหลักการซื้อขายก๊าชเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) และอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่เหลือให้กับคนอื่นได้ จนเกิดคำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ ขึ้นมา และถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

ตลาดคาร์บอนมี 2 ประเภท

ประเทศไทยได้จัดตั้ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) ขึ้นในปี พ.ศ. 2550 เพื่อบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการรับรองเกี่ยวกับตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันมีตลาด 2 ประเภท ได้แก่

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) เป็นตลาดที่มีกฏหมายและกฏระเบียบ โดยภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับเป็นผู้ดูแล

ตลาดนี้จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ มีวิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายกำกับอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หากใครสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกในส่วนที่ปล่อยต่ำกว่าเกณฑ์ไปขายให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้หรือเรียกว่าระบบ Emission Trading Scheme (ETS) และระบบ Cap and Trade

ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีกฏหมายมาเกี่ยวข้องหรือบังคับ แต่เป็นตลาดที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการ องค์กร ด้วยความสมัครใจ

มีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการดังกล่าวสามารถนำมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจได้ และองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวเพื่อทำให้ตนเองได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ในปริมาณที่ไม่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด

ตลาดคาร์บอนในไทย
เป็นภาคสมัครใจ

ในส่วนของประเทศไทย มีการซื้อขายในระบบ ETS เช่นเดียวกันแต่เป็นภาคสมัครใจ โดยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยชื่อว่า Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) ซึ่งเป็นโครงการที่ อบก. พัฒนาขึ้นตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2557 เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ นำไปใช้ในการรายงานผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยน หรือซื้อขายภายในประเทศ ทั้งนี้ อบก. จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ รวมถึงขั้นตอนการขึ้นทะเบียน และการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ไทยยังไม่มีกฏหมายดูแลตลาดคาร์บอน
รอคลอด พ.ร.บ.โลกร้อน

อย่างไรก็ตาม อบก. , เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยและศูนย์วิจัยกสิกรไทย อัพเดทสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย พร้อมแนวโน้มตลาดในอนาคต ผ่านงานวิจัย “The 2024 Thailand’s Voluntary Carbon Market”

โดยในงานวิจัย ระบุว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้นสามารถทำได้โดยเสรี เมื่อปีพ.ศ. 2565 ประเทศไทยได้จัดทำประกาศแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

ในประกาศดังกล่าวจะครอบคลุมการซื้อขายและการใช้คาร์บอนเครดิต เพื่อวัตถุประสงค์ภายในประเทศและระหว่างประเทศ จากนั้น อบก.ได้ออกระเบียบคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการซื้อการขายและการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต พ.ศ. 2565 และหลักเกณฑ์การพิจารณาทำความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอน โดยคณะองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป็นแนวทางปฎิบัติที่ดีให้กับผู้เล่นในตลาดทางด้านอุปสงค์ และอุปทาน เช่น ผู้พัฒนาโครงการผู้ซื้อตัวกลางการซื้อขายนักลงทุนผู้พัฒนาศูนย์ซื้อขาย เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมยังอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา เป็นการยกระดับด้านการดำเนินงานของประเทศจากภาคสมัครใจเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคบังคับ ผ่านการใช้กลไกราคาคาร์บอน รวมถึงสร้างความโปร่งใสให้กับตลาดมากยิ่งขึ้น

 

 

 

ทั่วโลกปรับใช้กลไกราคาคาร์บอน แล้ว

หลายประเทศทั่วโลกดําเนินการปรับใช้กลไกราคาคาร์บอน เพื่อดําเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยรายงานประจำปี พ.ศ. 2567 ‘State and Trends of Carbon Pricing’ โดยธนาคารโลก ระบุว่ามีประเทศที่ปรับใช้ราคาคาร์บอนภาคบังคับ จากระบบซื้อขายสิทธิการปลอยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System– ETS) และภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) กว่า 75 ประเทศ ขณะที่มีการปรับใช้กลไกราคาคาร์บอนภาคสมัครใจ จากกลไกคาร์บอนเครดิตภายใต้การพัฒนามาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิตของประเทศ (Governmental Crediting Mechanism) รวม 35 ประเทศ

ไทยใช้มาตรฐาน T-VER
ขอขึ้นทะเบียน 438 โครงการ

ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รักษาการผู้อำนวยการ อบก. หรือ TGO กล่าวว่า จนถึงปัจจุบันสามารถรับรองคาร์บอนเครดิต ตามมาตรฐาน T-VER ได้แล้วกว่า 19.53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า จากโครงการ T-VER ทั้งสิ้น 169 โครงการ

และมีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิต T-VER ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นในตลาดแรก และตลาดรอง จำนวนกว่า 3.42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า​ คิดเป็นมูลค่าซื้อขายรวมกว่า 299 ล้านบาท

ทั้งนี้มีจำนวนผู้ขอขึ้นทะเบียนโครงการรวมทั้งสิ้น 438 โครงการ ซึ่ง 434 โครงการ มาจากโครงการภายใต้มาตรฐาน T-VER และอีก​ 4 โครงการ เป็นการขอขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานใหม่ ที่เพิ่งเริ่มทำการปรับปรุงเพื่อยกระดับมาตรฐานการรับรองให้เทียบเท่ากับ Global Standard อย่าง Verified Carbon Standard (VERRA, ประเทศสหรัฐอเมริกา) และ The Gold Standard (สำนักงานเลขาธิการ The Gold Standard ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)

ตามความต้องการของฝั่งดีมานด์ หรือกลุ่มผู้ซื้อที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูงได้เทียบเท่ามาตรฐานในระดับสากล ภายใต้โครงการใหม่ที่ชื่อว่าโครงการลดกาซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยขั้นสูง(Premium Thailand Voluntary Emission Reduction Project : Premium T-VER) ที่ได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบันมีผู้ยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างการพิจารณาตามกระบวนการรับรองเพื่อขึ้นทะเบียนอีกราว 27 โครงการ

9 เดือนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ โต 17%

ขณะที่มูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในระยะ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 เติบโตขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงโอกาสที่ตลาดจะขยายตัวจากแรงกระตุ้นของร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ที่จะปรับใช้ในอนาคต อีกด้วย

“ทั้งนี้การเพิ่มเติมมาตรฐาน Premium T-VER เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องทำการซื้อขายกับต่างประเทศ โดยได้ทำการยกระดับความเข้มข้นในการรับรองเช่นเดียวกับมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งจะทำให้การรับรองภายใต้มาตรฐาน Premium T-VER ได้รับการยอมรับในตลาดโลก ในระดับเดียวกับ VERRA และ Gold Standard ​เช่นเดียวกัน”

นอกจากนี้ อบก. ยังเข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในฝั่งผู้ซื้อ (Demand) ผ่านการจัดตั้ง เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network : TCNN) ในปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบันมีสมาชิก 646 องค์กร ทั้งจากภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรม สื่อมวลชน ประชาชน รวทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจในประเทศไทย

 

 

 

ไทยซื้อขายคาร์บอนต่ำ เพียง 0.77%
ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ

ด้านนายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย​ (KBank) กล่าวว่า ในประเทศไทยปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด โดยอุปสรรคสำคัญหนึ่งก็คือต้นทุนในการดำเนินการ ทั้งต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนาโครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน

ขณะที่ การเพิ่มศักยภาพในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะสามารถช่วยลดต้นทุนการบรรลุเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality และ Net zero ของประเทศได้มากกว่า 50% รวมทั้งสามารถเปรียบเทียบเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030

ดังนั้น การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตสามารถสร้าง GHG Reduction ได้มากกว่า 50% โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Net Zero ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ​ ธนาคารจึงเห็นความสำคัญในการศึกษาอุปสงค์ อุปทานหรือการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบ ต่อการพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทย

ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลาง
การซื้อขายคาร์บอนอาเซียน

นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยเป็นเริ่มตลาดคาร์บอนมานาน ขณะนี้การใช้มาตรฐาน T-VER อาจใช้ได้แค่ในประเทศไทย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่มาแรง เขาไม่ได้พัฒนามาตรฐานของตัวเอง แต่ใช้มาตรฐาน VERRA หรือ Gold Standard ซึ่งนับจากนี้อยากเห็นการพัฒนาร่วมกันในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ

“วันนี้ถ้าเราล้างบาปด้วย T-VER และต้องส่งของไปยุโรป CBAM จะไม่รับการล้างบาปนี้ เราต้องสามารถล้างบาปด้วยอะไรสักอย่างที่เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานสากล วันนี้หลายภาคส่วน เริ่มมองเห็นว่าน่าจะไประดับภูมิภาคมากกว่า หาทางยกระดับไปสู่อาเซียน หรือเอเปคให้ได้”

ด้านนายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมหลายด้าน เช่น องค์ความรู้ที่พร้อม มีหน่วยงานที่สนับสนุนนำเข้า Green Technology แต่การที่เราจะเป็นฮับมองว่าอาจจะต้องร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ขับเคลื่อนผ่านอาเซียน เพราะแต่ละประเทศมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน อีกทั้งมาตรฐานแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน การที่เราจะเป็นฮับ ต้องแลกเปลี่ยนครอบคลุมทุกประเทศ ต้องมีข้อตกลงหว่างประเทศก่อนจะลงมือ