ผลักดันการค้าอาหารอนาคตไทยสู่สากล ตอกย้ำสถานะ ‘ครัวของโลก’

by ESGuniverse, 23 กรกฎาคม 2567

สนค. หนุน อาหารแห่งอนาคต 4 กลุ่ม ‘อาหารฟังก์ชัน อาหารทางการแพทย์ อาหารอินทรีย์ อาหารโปรตีนทางเลือก’ เป็นสินค้าดาวรุ่ง สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร เคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เผยปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าอาหารแห่งอนาคต มูลค่าสูงถึง 1.42 แสนล้านบาท

 

 

ที่ผ่านมาประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็น ‘ครัวของโลก’ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีการส่งออกสินค้าเกษตรหลากหลาย และอันดับต้น ๆ ของโลก โดยในปี 2566 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 15 ในปี 2565 สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความพยายามในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดรัฐบาลได้จัดตั้งโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก (Thai Kitchen to the World) เพื่อส่งเสริมให้อาหารไทยได้รับความนิยมทั่วโลกและให้ไทยสามารถเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารไทยรายใหญ่ของโลกต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการก่อตั้งธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพื่อผลักดันให้เป็นร้านอาหารไทยที่มีรสชาติไทยแท้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมบทบาทของร้านอาหารไทยผ่านการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งขายสินค้า ตลอดจนเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยอีกด้วย

ปัจจุบันอาหารยังเป็นหนึ่งใน 11 สาขา อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ที่กระทรวงการต่างประเทศ มีบทบาทผลักดันผ่านการร่วมมือกับเครือข่ายสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน ‘เทรนด์อาหารอนาคตที่กำลังมาแรง’ ทำให้ประเทศไทยผลักดันตัวเอง เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในส่วนของอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

อาหารอนาคตสินค้าดาวรุ่ง
หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อาหารแห่งอนาคตเป็นสินค้าดาวรุ่งที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าขั้นพื้นฐานของไทย รวมถึงจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเมื่อช่วงวันที่ 16 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา สนค. ได้ประชุมร่วมกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และคณะกรรมการสมาคมฯ ถึงแนวทางความร่วมมือในการผลักดันการค้าสินค้าอาหารแห่งอนาคตของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

กำหนดนิยามอาหารอนาคตไทย
‘อาหารปลอดภัย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ’

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สมาคมการค้าอาหารแห่งอนาคตไทยได้ร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง สนค.ในการกำหนดคำนิยามอาหารแห่งอนาคตจัดกลุ่มสินค้า และวางเป้าหมายการส่งออกเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและมีเป้าหมายเดียวกัน โดยได้กำหนดนิยามอาหารอนาคตไทย (Future Food) ว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ตอบสนองวิถีชีวิตของคนในโลกยุคใหม่ มีกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมตอบโจทย์ความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาใน 3 มิติ คือ สุขภาพและสังคม (Future Well-being) ความยั่งยืน (Sustainability) และนวัตกรรม (Innovation)

ซึ่งปัจจุบันแบ่งอาหารอนาคตออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1.อาหารฟังก์ชัน (Functional food) และสารประกอบเชิงฟังก์ชัน (Functional ingredients)
2.อาหารทางการแพทย์ (Medical food) และอาหารเฉพาะบุคคล (Personalized food)
3.อาหารอินทรีย์ (Organic)
4.อาหารโปรตีนทางเลือก (Alternative protein)

สำหรับอาหารฟังก์ชั่น คือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เมี่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะสามารถทําหน้าที่อื่น ๆ ให้กับร่างกายนอกเหนือจากความอิ่มและรสสัมผัส (ความอร่อย) ให้คุณค่าทางอาหารที่จําเป็น เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปรับปรุงระบบและสภาพการทํางานของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ บําบัดหรือลดอาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ส่วนอาหารทางการแพทย์ คืออาหารสูตรพิเศษสำหรับการจัดการด้านอาหารของผู้ป่วยที่มีความต้องการทางโภชนาการเฉพาะซึ่งไม่สามารถได้รับโดยการรับประทานอาหารตามปกติเพียงอย่างเดียว


ขณะที่อาหารอินทรีย์ เป็นผลผลิตจากการทำไร่นาอินทรีย์ เช่น พืชผักผลไม้ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนมวัวและเนื้อสัตว์ และอาหารโปรตีนทางเลือก คือโปรตีนที่ไม่ได้มาจากเนื้อปศุสัตว์ โดยผลิตจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น พืช สาหร่าย ถั่ว แมลง เชื้อราที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และโปรตีนจากการเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง เป็นต้น

ไทยส่งออกอาหารฟังก์ชั่นมากที่สุด

นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า ปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าอาหารแห่งอนาคต คิดเป็นมูลค่า 4,107.72 ล้านเหรียญสหรัฐ (142,958.80 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากปีก่อนหน้า เป็นสินค้าอาหารฟังก์ชันและสารประกอบเชิงฟังก์ชันมากที่สุด 3,684.50 ล้านเหรียญสหรัฐ (128,248.02 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 89.7 ของการส่งออกอาหารแห่งอนาคตทั้งหมด

รองลงมา ได้แก่ อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล 183.73 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,391.96 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 4.5 โปรตีนทางเลือก 182.81 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,351.10 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 4.5 และอาหารอินทรีย์ 56.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,967.72 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 1.4 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สหรัฐฯ (สัดส่วน 13.8%) 2.เวียดนาม (10.7%) 3.จีน (10.3%) 4.เมียนมา(7.8%) และ 5.กัมพูชา (7.5%)

สำหรับ ปี 2567 (มกราคม – เมษายน) ไทยส่งออกสินค้าอาหารแห่งอนาคต มูลค่า 1,437.26 ล้านเหรียญสหรัฐ (51,674.74 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 11.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยยังคงส่งออกอาหารฟังก์ชันและสารประกอบเชิงฟังก์ชันมากที่สุด 1,305.35 ล้านเหรียญสหรัฐ (46,935.06 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 90.8 อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล 62.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,244.26 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 4.3 โปรตีนทางเลือก 56.67 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,035.61 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 3.9 และอาหารอินทรีย์ 12.79 ล้านเหรียญสหรัฐ (459.81 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 0.9

จัดทำแดชบอร์ดอาหารอนาคต

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า สนค. ตระหนักถึงศักยภาพของสินค้าอาหารแห่งอนาคต ที่จะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงต่อยอดจุดแข็งของไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก โดยข้อมูลการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอาหารแห่งอนาคตถือเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจใช้ในการตัดสินใจ กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ของธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ในการกำหนดนโยบาย

ขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างการจัดทำ ‘แดชบอร์ดอาหารแห่งอนาคต’ โดยร่วมมือกับสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยด้านการออกแบบและแสดงผลข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลการค้าเชิงลึกได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วน และทันต่อเทรนด์สินค้าศักยภาพใหม่ ๆ ของไทย

สำหรับแดชบอร์ดดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ ‘คิดค้า Briefing’ ที่จะเน้นให้ข้อมูลการค้าสินค้าอาหารแห่งอนาคตของไทยแบบย่อย แต่เชิงลึก เข้าใจง่าย ใช้งานสะดวก ซึ่ง สนค. มีแผนจะเปิดตัว บนเว็บไซต์ คิดค้า.com ภายในเร็ว ๆ นี้