ททท.ตั้งเป้าปี 68 ‘ไทย’ เมืองท่องเที่ยวยั่งยืน

by ESGuniverse, 19 กรกฎาคม 2567

ททท. ปักธงปี 2568 ปีที่ดีที่สุดของการท่องเที่ยว ชูธีม ท่องเที่ยวยั่งยืน กรีน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สอดคล้องพฤติกรรมผูับริโภค -กฎหมายด้านความยั่งยืน ดันรายได้เข้าประเทศ

 

 

ปัจจุบัน ตลาดโลกใส่ใจเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปโดยให้ความสนใจเรื่องการท่องเที่ยววิถียั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนจะมีมากขึ้นต่อเนื่อง เช่น กฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (CSDDD) ซึ่งจะบังคับใช้ในอีก 2 ปีจากนี้ โดยจะกำกับภาคเอกชนทั่วโลกที่ทำธุรกิจกับบริษัทใน EU ต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตนว่าต้องยืนอยู่บนความยั่งยืน เช่น การไม่บังคับใช้แรงงาน ไม่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่สร้างความเสื่อมโทรมต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และกฎหมายด้านความยั่งยืนที่จะทยอยออกมาบังคับใช้ ทำให้ปี 2567 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการขาย สร้างภาพลักษณ์เกี่ยวกับความยั่งยืน ขานรับเทรนด์ และกฏหมายต่างๆที่เกิดขึ้น

ล่าสุด ได้ร่วมกับ The Cloud จัด 'Amazing Green Fest 2024' และ เวทีเสวนา 'The Hotelier 2024' หนึ่งในกิจกรรมมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน

โดยมีความคาดหวังว่า ‘เทศกาลนี้เมื่อจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ก็เป็นครั้งแรกที่ไม่มีที่สิ้นสุด’ พร้อมตั้งเป้าว่าในปี 2568 จะเป็นปีที่ดีที่สุดของการท่องเที่ยว โดยจะเน้นไปที่การท่องเที่ยวยั่งยืน เน้นความกรีน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

 

 

ท่องเที่ยวยั่งยืน
เทรนด์(ไม่)ใหม่ มาแรง

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ หรือการท่องเที่ยวของคนเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ และภูมิคุ้มกันระยะยาวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ ททท. มุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาแบรนด์ Amazing Thailand ให้เป็นแบรนด์ท่องเที่ยวไทยที่มุ่งสู่ความยั่งยืนบนรากฐานของเสน่ห์ไทยอันเป็นเอกลักษณ์ สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 2 ประเทศไทย เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวคุณภาพที่เน้นความยั่งยืน ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะต้องผลักดันห่วงโซ่การท่องเที่ยวยั่งยืนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

เส้นทางสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยโตยั่งยืนและสมดุล

ทั้งนี้เส้นทางสู่เป้าหมาย 'อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล' ททท.วางไ้ว้ 4 แนวทาง ได้แก่

  1. การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยไปสู่การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยั่งยืน (High Value and Sustainability)
  2. ให้ความสำคัญกับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ใช้จ่ายสูง มีระยะพำนักนาน และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
  3. การยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Shape Supply) ให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว
  4. ผลักดันเกณฑ์มาตรฐานความยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

ททท.กำหนด STGs
เกณฑ์ประเมินผู้ประกอบการ


นางสาวฐาปนีย์ ได้บอกเล่าถึงเส้นทางความยั่งยืนของ ททท. ว่า แต่เดิมได้มีการเริ่มต้นจากนิตยสาร อสท.เป็นนิตยสารท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นพร้อมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และปัจจุบันก็ได้มีแนวคิด 7 ประการ (7 Green Concept) เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้ผู้ประกอบการ และกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ความยั่งยืน และความกรีนมากยิ่งขึ้น จนต่อยอดมาสู่การกำหนด Sustainable Tourism Goals หรือ STGs พร้อมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมดุลทุกมิติก้าวสู่การเป็น High Value and Sustainable Tourism ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย Sustainable Development Goals: SDGs ของสหประชาชาติ ที่มี 17 เป้าหมายเช่นกัน ถูกใช้เป็นเกณฑ์การประเมินผู้ประกอบการท่องเที่ยวในโครงการ STAR โดยจะประทับดาวเป็นระดับ 3-5 ดาว ซึ่งหากผ่านการประเมินมากกว่า 12 เป้าหมายขึ้นไป จะได้รับประกาศนียบัตร ‘ดาวแห่งความยั่งยืน’ ระดับ 5 ดาว การันตีการเป็นผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน


อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2570 ททท. ตั้งเป้า STGs ในส่วนของการประเมินตนเอง (Self Assessment) จะมีการผลักดันให้อุตสาหกรรม ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับ 3 ดาว 80% และเมื่อผนวกกับอุตสาหกรรมความยั่งยืนระดับชาติก็จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีตัวตนอยู่บนโลกได้ง่ายมากขึ้น

 

 

 

ทั้งนี้ ยังมีการวัดเครื่องมือสำหรับจัดเก็บข้อมูลและคำนวณการปล่อยปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมในโรงแรม (CF-Hotel) เพื่อวัดปริมาณคาร์บอนและลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถานประกอบการต่างๆ และมีการมอบรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards: TTA) ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยมีการคัดกรองกับผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืนยั่ง สอดคล้องกับกฎระเบียบของโลก เป็นต้น

กลุ่มผู้ประกอบการ
ขานรับท่องเที่ยวยั่งยืน

นายพัทธ์พงษ์ ชวนชีน ผู้ก่อตั้ง rekkingTHAI และอุปนายกสมาคมการค้าเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงนิเวศเอเซีย บอกเล่าว่า ปัจจัยของสถานการณ์โลกที่เสี่ยงต่อการท่องเที่ยวมีอยู่ 4 หัวข้อใหญ่ๆ ได้แก่ 1. มลพิษ เช่น ตัวอย่างประเทศไทยคือเรื่องของ PM2.5 ที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง 2. โลกรวน ปัจจุบันฤดูหนาวมีระยะเวลาที่สั้นลง ปะการังฟอกขาวเพิ่มมากขึ้น 3. ความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 และ 4. การรุกรานของพืชพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์

ในขณะที่รายงานดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยว หรือ Travel & Tourism Development Index (TTDI) ที่จัดโดย World Economic Forum เกณฑ์ด้านความยั่งยืนของประเทศไทยก็อยู่ในอันดับครั้งท้าย

ประชาคมเกาะ เฝ้าระหวัง
ผลกระทบระบบนิเวศทางทะเล

ด้านนางสาวรัฏดา ลาภหนุน ผู้ร่วมก่อตั้ง เครือข่ายประชาคมเกาะ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า กลุ่มผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวได้ปรับตัวในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยในประชาคมเกาะของประเทศไทยก็ได้รวมตัวกันราวๆ 32-35 เกาะเพื่อเฝ้าระวังและเตรียมรับมือกับปัญหานี้ โดยเฉพาะโลกรวนเป็นเรื่องใกล้ตัวของชาวเกาะอย่างมาก วิกฤติโลกรวนส่งผลทั้งน้ำทะเลที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะมัลดีฟส์ ศรีลังกาก็เริ่มมีการย้ายที่อยู่อาศัย โดยนาซ่ารายงานว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเร็วเป็นประวัติการณ์

สิ่งสำคัญคือการเตรียมตัว การรับมือ ต้องมีแผนหลากหลายมิติในการรับมือป้องกันปัญหาน้ำทะเล ปะการังหายไป ไม่เพียงเท่านั้นกลุ่มผู้ประกอบการต้องเพิ่มคุณค่าใหม่ เป็นการท่องเที่ยวที่ให้การศึกษาได้ สะท้อนกลับไปยังนักท่องเที่ยวที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน สร้างความตระหนักรู้ในพื้นที่หลาย ๆ เกาะที่ต้องปรับตัวและตั้งรับ เปิดมิติใหม่ของการท่องเที่ยวเกาะที่ไม่ได้มีแค่ท้องทะเล ผืนทราย และแสงแดด แต่ตอนนี้มีเรื่องของความยั่งยืนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กลุ่มธุรกิจจะทำอย่างไรในการเป็นเจ้าของบ้านที่ยั่งยืน นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเกิดความประทับใจ มีความอิ่มเอมใจ การท่องเที่ยวมีความหมายและความยั่งยืน

 

 

 

ส่งเสริมคนใกล้ชิดป่าและธรรมชาติ

นายธัชรวี หาริกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง ร้าน ThailandOutdoor Shop ให้ความคิดเห็นว่า การร่วมมือของรัฐ ชุมชน และนักท่องเที่ยวนั้นเกิดขึ้นจริง เสนอให้มุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวมิติเล็กๆ เช่น การเดินป่า เป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่เข้ากับความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี สามารถนำคนเข้ามาใกล้ชิดกับป่า สร้างรายได้ให้กับชุมชนบริเวณใกล้เคียงป่า และการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายธรรมชาติมากนัก ปัจจุบัน คนเมืองจำนวนมากต้องการไปเดินป่าแต่ก็ยังไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง เช่น การทิ้งขยะ ก่อกองไฟ หรือแม้กระทั่งการส่งเสียงดัง เป็นต้น

ยกตัวอย่าง อุทยานแห่งชาติแม่เงา ด้วยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ชาวบ้าน และชุมชน ได้ร่วมสร้างเส้นทางเดินป่าที่เคยไกลที่สุดของประเทศไทย ช่วยกันให้ความรู้นักเดินป่า สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ถูกต้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท้ายที่สุดชาวบ้านก็มีรายได้ ตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชน เป็นรายได้เสริมจากการทำไร่ที่เดิมมีการรุกป่า ถางป่า เพื่อทำการเกษตร ซึ่งตรงส่วนนี้จะช่วยเสริมสร้างการรักษ์ป่ามากยิ่งขึ้นยิ่ง ในตอนนี้มีโรงเรียนนักเดินป่าเกิดขึ้นตามมาอีกหลายแห่ง ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะใช้กุญแจดอกนี้ให้เกิดประสิทธิผล

ภาคโรงแรม ใช้วัตถุดิบปลอดภัย
บริหารจัดการปริมาณอาหารในแต่ละวัน

นางสาวอลิสรา ศิวยาธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ เล่าถึงแนวคิดของโรงแรมสีเขียวว่า โรงแรมเป็นส่วนประกอบที่ใหญ่มากเนื่องจากเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ด้วยความที่เป็นตึกใหญ่ใจกลางเมืองทำให้มีการปล่อยคาร์บอนฟุดพรินต์จำนวนมาก รวมไปถึงปริมาณอาหารที่กำจัดในแต่ละวัน ณ วันนี้คนเริ่มพูดถึง การทิ้งอาหารเหลือเป็นศูนย์ (Zero Food Waste)

โดยผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้วัตถุดิบต่างๆก็เป็นวัตถุดิบในประเทศ และรณรงค์ให้ทานแต่พอดี ซึ่งวัสดุที่ใช้ก็มาจากฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ของธรรมชาติ ปลอดสารพิษ ลดการใช้สารเคมี ลดการใช้คาร์บอฟุตพริ้นท์ ถือเป็นอีกหนึ่งการปฏิรูปที่ให้คงามสำคัญและดำเนินการอยู่ (Generative On Track)

เทรนด์อาหาร เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นายมนต์เทพ กมลศิลป์ Head Chef ประจำ ห้องอาหาร TAAN (ธาน) ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร เล่าถึงเรื่องอาหารและความยั่งยืนว่า อาหารยั่งยืนกับการท่องเที่ยว ส่วนตัวมองว่าความยั่งยืนสำหรับคนทำอาหารเป็นเรื่องของปลายทาง ซึ่งเทรนด์ของอาหารมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่เรื่องสำคัญคือความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น เอเลี่ยนสปีชีส์ พืชพันธุ์ที่ไม่ใช่ของท้องถิ่นกำลังเข้ามาตีตลาดและได้รับความนิยม ส่งผลให้พืชผักท้องถิ่นหดหาย โดยเห็นว่าความหลากหลายของรูปแบบพืชผักรวมถึงการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ที่มีความหลากหลายของไทย จะช่วยสร้างความแตกต่างและสร้างรายได้

 

 

 

Amazing Green Fest 2024
จุดประกายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด กล่าวว่า เป็นงานที่ตั้งใจสร้างชุมชนสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ร่วมกัน โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวเล่าเรื่องที่จะนำพาผู้คนไปค้นพบความหมายใหม่ๆ ของการท่องเที่ยวยั่งยืน ว่าเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว สามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตจริง

ท้ายนี้ นางสาวฐาปนีย์ คาดหวังว่า การจัดงาน Amazing Green Fest 2024 จะจุดประกายให้ผู้คนที่มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งนักท่องเที่ยว ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาต้นทุนทางการท่องเที่ยว เข้าใจและสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนและธรรมชาติเพื่อใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสมดุล ททท.เอง จะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นกระบวนการ

การดำเนินงานของ ททท.ที่มีเป้าหมายความยั่งยืนอย่างเข้มข้น จะถูก Endorse ด้วยสัญลักษณ์ Amazing Thailand ที่มีใบไม้รูปหัวใจ ที่บอกถึงความใส่ใจ ในสามเหลี่ยมแห่งความยั่งยืน (สังคม-เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม) และเป็นจุดเริ่มต้นของงานที่เป็น Carbon Neutral Event ของ ททท. แสดงความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ได้รับตรารับรอง Carbon Neutral Event หรืองานปลอดคาร์บอน จาก อบก.

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืน สามารถรับข้อมูลเพิ่มได้ที่งาน Amazing Green Fest 2024 และงาน The Hotelier 2024 วันที่ 15-18 สิงหาคม 2567 ณ พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน