กฟผ. ผนึก AIT และ CSU ศึกษาพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ต้นทุนต่ำ รีไซเคิลง่าย

by ESGuniverse, 18 กรกฎาคม 2567

กฟผ. จับมือ AIT และ CSU ศึกษาพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Edge Sealed Modules ที่มีต้นทุนต่ำและรีไซเคิลง่าย โดยเตรียมติดตั้งทดสอบประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าจริงในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร เดินหน้าสร้างความยั่งยืนไฟฟ้า เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

 

 

โลกเคลื่อนมาสู่ยุคพลังงานสะอาด จากแรงกดดันวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะใน “ภาคการผลิตไฟฟ้า” ที่ถูกระบุว่าเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด คิดเป็น 30% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

ขณะที่ในประเทศไทย การผลิตไฟฟ้ายังคงใช้ฟอสซิล (ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เป็นเชื้อเพลิงหลัก สัดส่วนรวมสูงกว่า80% ของภาพรวมการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ พ.ค.2567 ระบุว่า มีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 64.08 % จากถ่านหิน 19.38% จากน้ำมันดีเซล 0.01% จากน้ำมันเตา 0.05% ขณะที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้า สัดส่วน 16.26%

 

 

 

ทว่า รัฐมีความพยายามที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ไทยเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี พ.ศ. 2593

โดยในร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2567-2580 หรือ Power Development Plan : PDP 2024 ที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปลายปีนี้ ได้กำหนดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (พลังงานะสะอาด) ในปลายปี พ.ศ. 2580 สัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% หรือคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 34,851 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามการบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว ต้องยืนอยู่บน เป้าหมายการทำแผน PDP 2024 ในเรื่องของการสร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าของประเทศ , ต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมายังเป็น “ข้อด้อย” ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล กลายเป็นที่มาของการเร่งหาแสวงหา 'เทคโนโลยี' การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

กฟผ. ลงนาม AIT – CSU

พัฒนาแผงโซลาร์ต้นทุนต่ำ-รีไซเคิลง่าย

ล่าสุด กฟผ. ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์วอลเตอร์สก็อตต์จูเนียร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด (CSU) ศึกษาพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Edge Sealed Modules ที่มีต้นทุนต่ำและรีไซเคิลง่าย โดยเตรียมติดตั้งทดสอบประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าจริงในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร

 

 

 

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยศาสตราจารย์นิติน ตรีปาธี (Prof. Nitin Tripathi) รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และศาสตราจารย์เคนเน็ธ เรียร์ดอน (Prof. Kenneth F. Reardon) รองคณบดีฝ่ายวิจัย วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์วอลเตอร์สก็อตต์จูเนียร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด (CSU) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อศึกษาศักยภาพแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Edge Sealed Modules (ESM) ในพื้นที่ กฟผ. และ AIT

 

 

 

เตรียมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ESM
อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร

โดย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้เร่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตอบโจทย์เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศ

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง กฟผ. AIT และ CSU ในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการยกระดับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Edge Sealed Modules (ESM) ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถรีไซเคิลได้ง่าย โดย กฟผ. จะนำแผงโซลาร์เซลล์ชนิด ESM ไปติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในสภาพแวดล้อมจริงเปรียบเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงแสวงหาโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ร่วมกันต่อไป

แผงโซลาร์เซลล์ชนิด ESM เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ล้ำสมัย สามารถใช้กับสภาพอากาศที่หลากหลายและมีระยะเวลาใช้งานยาวนาน จึงมีศักยภาพสูงในการเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์