รัฐ เอกชน ผนึกกำลัง ดันไทยเป็นผู้นำบริหารจัดการน้ำยั่งยืนในอาเซียน รับมือโลกรวน

by ESGuniverse, 11 กรกฎาคม 2567

โลกรวน กระทบทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโลกในสัดส่วน 3 ใน 4 ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม แล้งหนัก รัฐ เอกชนไทย และนานาประเทศ เตรียมพร้อมรับมือ ผ่านการนำเสนอเทคโนโลยี บริหารจัดการน้ำยั่งยืน ในงาน Thai Water Expo และ Water Forum 2024 ดันไทยเป็นผู้นำบริหารจัดการน้ำในอาเซียน

 

 

โลกประกอบด้วยน้ำถึง 3 ใน 4 ขณะที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีวิต สะท้อนถึงความสำคัญ ของ ‘น้ำ’

จากข้อมูลของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างปี 2561-2580 ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น ประกอบกับมีการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้นทั้งปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง ดินโคลนถล่ม การชะล้างพังทลายของดิน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง และการขยายตัวของอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น

ภูมิศาสตร์ไทยศูนย์กลางอาเซียน
ยก ‘ผู้นำบริหารจัดการน้ำยั่งยืน’

ทั้งนี้ในงานเทคโนโลยี นวัตกรรม และโซลูชันด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ และน้ำเสียที่ทันสมัย "Thai Water Expo และ Water Forum 2024" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เสริมแกร่งผู้ประกอบการ สู่การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานในระบบนิเวศทางธุรกิจยุคเศรษฐกิจใหม่ พร้อมสัมมนาให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ โดยชูแนวคิด ‘ปฏิวัติเทคโนโลยีน้ำ’ ขับเคลื่อนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ สู่อนาคตที่ยั่งยืน

 

 

 

ภาคีเครือข่ายไทย ลงนาม
ร่วมกันรับมือสภาพอากาศแปรปรวน

นอกจากนั้น ภายในงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายด้านน้ำจากสมาคมนักอุทกวิทยาไทย สมาคมการประปาแห่งประเทศไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ยังร่วมกันลงนามสัญญา Thai Water Expo และ Water Forum 2024 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมที่จะดันประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอาเซียน

เสริมแกร่งไทยรับมือโลกแปรปรวน
บริหารจัดการน้ำยั่งยืน

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับสภาวะอากาศสุดขั้ว จนก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำซากและฉับพลัน ตลอดจนภัยแล้ง

โดยทางกระทรวงฯ จึงได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (ปี พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อรองรับต่อสถานการณ์การโลกที่เปลี่ยนแปลงรวมทั้งบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

โดยแผนดังกล่าวครอบคลุมในประเด็นสำคัญ ทั้งเรื่อง การจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง ตลอดจนอนุรักษ์ ฟื้นฟู พื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม การป้องกัน และลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ลาดชัน

ทั้งนี้งาน Thai Water Expo และ Water Forum 2024 ที่ผ่านมาถือเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่แผนแม่บทดังกล่าว เป็นเวทีสำคัญในการเตรียมความพร้อม และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเสริมแกร่งและผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

 

 

 

มหาวิทยาลัยไทย กับการรับมือปัญหาน้ำ

ด้าน รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการรับมือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันผ่านการการจัดการน้ำ น้ำเสีย จากภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งได้พัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอนให้สอดรับกับสถานการณ์โลก เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสหสาขาวิชานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ (Innovative Engineering for Sustainability : IES) เพื่อรองรับการจัดการอย่างยั่งยืนในยุคโลกเดือด

สำหรับหลักสูตร IES ต้องการสร้างบุคลากรที่มีความเข้าใจในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน พร้อมประยุกต์และบูรณาการศาสตร์ทางวิศวกรรมและนวัตกรรมสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการเติบโตอย่างสมดุล สร้างฐานข้อมูลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ตลอดจนเครือข่ายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน ความพิเศษของหลักสูตรนี้ คือ เปิดกว้างสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากทุกหลักสูตรที่มีความสนใจในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยผู้ที่สำเร็จจากหลักสูตรนี้สามารถทำงานเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความยั่งยืนในองค์กรธุรกิจ หรือการจัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กร ในองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งช่วยส่งต่อความรู้ความเข้าใจสู่สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา และทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างบุคลากรจากหลากหลายสาขา นำไปสู่การเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศที่จะสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังได้ร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายด้านน้ำ ในการเสนอเนื้อหา Smart, Green, Resilient for a Climate-Friendly Future เป็นต้น ซึ่งทางคณะฯ และพันธมิตรเครือข่ายด้านน้ำ เชื่อมั่นว่าการจัดงานที่ผ่านมานี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ หน่วยงานทั้งไทย และอาเซียน นำไปปรับในการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ ร่วมกับการจัดการน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

 

อินฟอร์มาฯ บูรณาการทุกภาคส่วน
ส่งเสริมจัดการน้ำยั่งยืนในอาเซียน

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานในทุกด้านของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสังคม ที่ผ่านมาได้มีการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และน้ำเสีย โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชัน รวมถือเครือข่ายด้านน้ำระดับประเทศมาร่วมจัดแสดง

“อินฟอร์มาฯ มั่นใจว่า การจัดงานรูปแบบนี้จะเกิดการต่อฐาน และเติมยอดในมิติของการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน รวมถึงผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน”


เทคโนโลยีลดผลกระทบสภาพอากาศรวน
ในงาน Thai Water Expo และ Water Forum 2024

จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะน้ำฝน ภายในงาน จึงได้นำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการน้ำฝน มาใช้เป็นกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบดังกล่าว ได้แก่

เทคโนโลยีระบบรวบรวมน้ำฝน ระบบการเก็บน้ำฝนมีมานานหลายปีแต่เทคโนโลยีการรวบรวมและจัดเก็บน้ำฝนสมัยใหม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถนำระบบเหล่านี้มาใช้เพื่อดูดซับปริมาณฝนในช่วงฝนตกหนักและจัดเก็บ ไว้ใช้สำหรับกระบวนการผลิตหรือกิจกรรมอื่น ๆ ในภายหลัง

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างชาญฉลาด การจัดการน้ำฝนควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ในโรงงานจะช่วยลดผลกระทบของภาวะฝนตกหนัก โรงงานควรดำเนินการหมุนเวียนการใช้น้ำ ฟอกและบำบัดน้ำเสียอย่างเหมาะสม รวมถึงพัฒนากระบวนการเพื่อลดการสูญเสียน้ำ เทคโนโลยีการติดตามและตรวจสอบการใช้น้ำสามารถช่วยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน

เทคโนโลยีการจัดเก็บน้ำจากหน้าฝนเพื่อใช้ตลอดทั้งปี การลงทุนในกระบวนการจัดการน้ำรวมถึงการจัดเก็บน้ำในโรงงานยังช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นลดความเสี่ยงจากภาวะขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม หรือความท้าทายอื่น ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลให้รักษาการผลิตและสร้างรายได้ให้แก่องค์กรได้