ธุรกิจไทย ออกหุ้นกู้สีเขียว เกาะเทรนด์โลก รับวิกฤติโลกร้อน

by ESGuniverse, 11 กรกฎาคม 2567

การสร้างความยั่งยืนทุกรูปแบบล้วนดีต่อโลก ทั้งแบบทางตรง ด้วยการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบโลกร้อน โลกรวน รวมถึงการดำเนินการทางอ้อม ผ่านการลงทุนทางการเงิน กับโครงการที่สร้างความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในหลากธุรกรรมทางการเงิน

 

 

หนึ่งในนั้นคือ การซื้อหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) หรือ ตราสารหนี้สีเขียว ซึ่งผู้ออก (รัฐบาลหรือองค์กรธุรกิจ) ต้องทำสัญญาว่า จะต้องนำเงินที่ได้ไปลงทุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความต่างจากการออกหุ้นกู้ทั่วไป

ที่ผ่านมากระแสรักษ์โลก ยังทำให้หุ้นกู้สีเขียว ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป บนความรับรู้ว่า ลงทุนไปแล้ว ได้ประโยชน์ 2 ทาง ทั้งการสร้างผลตอบแทนการลงทุน และมีส่วนช่วยโลก ซึ่งเป็นพึ่งความพอใจลึกๆของผู้คนที่รักษ์โลก

นอกจากนี้องค์กรที่ออกหุ้นกู้สีเขียว ในมุมของนักลงทุนยังมองว่า มีโอกาสที่ธุรกิจสีเขียว จะสร้างผลตอบแทนในระยะยาว (ยั่นยืน) เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวซึ่งเป็นเทรนด์โลก ดีกว่าการลงทุนโครงการทั่ว ๆ ไปที่อาจทำร้ายโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

  

 

ขณะที่องค์กรในไทย ปัจจุบันเห็นความตื่นตัวในการทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจรักษ์โลก เพราะหากองค์กร (โดยเฉพาะองค์กรที่มีการลงทุนโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล) ไม่รีบดำเนินการ จะทำให้ธุรกิจลดทอนความน่าสนใจลง จนไปสู่การขาดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในเชิงความต้องการสินค้าและบริการ การถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม จะถูกหยิบยกมาเป็น มาตรการทางการค้า และเงื่อนไขในการระดมทุนจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ มากขึ้นในอนาคต

EGCO Group คว้ารางวัลหุ้นกู้สีเขียว

โดยที่ผ่านมา บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนของไทย ได้ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond ครั้งแรก มูลค่า 7,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันเป้าหมายด้านความยั่งยืน และได้รับรางวัล “Green Financing Deal of The Year” จากการออกหุ้นกู้ดังกล่าว ในงานประกาศรางวัล The Asset Triple A Sustainable Infrastructure Awards 2024 ซึ่งจัดโดย The Asset Magazine นิตยสารด้านการเงินในเอเชีย

‘ลงทุนพลังงานสะอาด’
เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group กล่าวว่า รางวัล Green Financing Deal of The Year ตอกย้ำความสำเร็จของ EGCO Group ในการนำเสนอธุรกรรมทางการเงิน เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท ตามทิศทาง "Cleaner, Smarter and Stronger to drive sustainable growth" ที่มุ่งขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ให้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงหลักในพอร์ตโฟลิโอให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ในภูมิภาคเอเชียอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ EGCO Group เสนอขาย Green Bond เป็นครั้งแรกต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ในเดือนพฤศจิกายน 2566 จำนวน 5 ชุด มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่า 80 ราย ที่แจ้งความต้องการลงทุนคิดเป็น 3.15 เท่าของมูลค่าการเสนอขายเดิมที่ 6,500 ล้านบาท บริษัทจึงเพิ่มหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoes) อีก 500 ล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการและช่วยขยายฐานนักลงทุนใหม่

โดย Green Bond นี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AA+ จากทริสเรทติ้ง และจัดออกภายใต้โครงการหุ้นกู้ของ EGCO Group ปี 2566 วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่เป็น Joint Green Structuring Advisors และเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้

  

 

 

บีซีพีจี ออกหุ้นกู้ ‘บอนด์พลัสคาร์บอนเครดิต’
เลือกรับผลตอบแทนเป็น คาร์บอนเครดิต

ขณะที่ บริษัทบีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ได้ออกหุ้นกู้ ‘บอนด์พลัสเครดิต’ โดยออกและเสนอขายหุ้นกู้รุ่นอายุ 3 ปี และ 5 ปี แก่ผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศ มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 มีธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้

โดยหุ้นกู้ดังกล่าวนอกจากผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เหมือนหุ้นกู้โดยทั่วไปแล้ว ยังมีส่วนส่งเสริมการขายของหุ้นกู้ โดยสามารถเลือกรับเป็นคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) พัฒนาขึ้น หรือเลือกรับเป็นใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (I-REC) ซึ่งผ่านการรับรองตามมาตรฐานของ The International REC Standard Foundation (I-REC) หรือ International Tracking Standard Foundation (I-TRACK Foundation)

ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถนำ Carbon Credit หรือใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวที่ได้รับจากบีซีพีจี ซึ่งผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสำหรับการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปซื้อขายในตลาดรอง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาสภาพคล่องของตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยอีกด้วย

Green Bond – Social Bond – Sustainable Bond ต่างกันอย่างไร

-Green Bond คือ ตราสารหนี้ที่ระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
-Social Bond คือ ตราสารหนี้ที่ระดมทุนสำหรับโครงการที่พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน สังคม
-Sustainable Bond คือ ตราสารหนี้ที่ระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน สังคม