ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย โตยั่งยืน สู่ Tourism Hub

by ESGuniverse, 4 กรกฎาคม 2567

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ปี 2567 ให้กับผู้ประกอบการ และผู้ที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวกว่า 400 ราย ดันไทย สู่ Tourism Hub สร้างรายได้ เติบโตยั่งยืน

 

 

ประเทศไทย ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของโลก จากข้อมูลล่าสุดของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุชัดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2567 (4 เดือน) รวม 12,127,447 คน สร้างรายได้สะสมให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 583,902 ล้านบาท สถิตินี้ตอกย้ำว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เป็นอีกฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ดังนั้นโจทย์สำคัญที่ท้าทายทุกภาคส่วนคือ การยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Tourism) ก่อนมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) ซึ่งเป็นเทรนด์โลกอยู่ในขณะนี้ โดยการจะบรรลุเป้าหมายได้ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ รายงานของ Expedia Group ระบุว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยเริ่มมองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากเดิม ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวยั่งยืน คำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ไปจนถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอันล้ำค่ามากขึ้น

ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร คาเฟ่ สถานที่เที่ยว รวมถึงการบริการต่างๆ ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว แต่หัวใจสำคัญต้องไม่ลืมเรื่องมาตรฐานการให้บริการ และการสร้างความประทับใจ โดย ‘ไม่ยึดราคาเป็นตัวตั้ง แต่นำคุณค่าเป็นตัวนำ’ ซึ่งหมายถึงเน้นการบริการที่ดี สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งหากทำได้ดี ก็จะส่งผลดีต่อตัวธุรกิจ เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมทำให้มีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ชูมาตรการท่องเที่ยวไทย สู่ Tourism Hub

ทั้งนี้ ในการสร้างมาตรฐานบริการท่องเที่ยว เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยวได้จัดงานมอบเครื่องหมายมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2567 ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยกว่า 426 ราย ทั้งประเภทที่พัก ร้านอาหาร บริการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมท่องเที่ยว โฮมสเตย์ ชุมชน ฯลฯ เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการ ที่มีความสมบูรณ์แบบด้านการท่องเที่ยว ผ่านการตรวจประเมิน ด้วยระบบคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จนก้าวเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย

ตอกย้ำนโยบาย IGNITE Thailand's Tourism ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีในทุกย่างก้าว ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู่มาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว คุณภาพสูง นำประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ของโลก

ทั้งนี้ มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมยกระดับห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการบริหารจัดการและการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มและสร้างความยั่งยืนสู่ผู้ประกอบการมีทั้งสิ้น 56 มาตรฐาน อายุการรับรองมาตรฐาน 3 ปี ครอบคลุมการท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ ทั้งที่พัก สินค้าและบริการท่องเที่ยว ด้านกิจกรรมท่องเที่ยว ด้านแหล่งท่องเที่ยว และด้านธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

ผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานได้รับประโยชน์ ในการยกระดับคุณภาพการให้บริการ และการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ สร้างรายได้และเกิดความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ช่วยเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการสถานประกอบการท่องเที่ยว ชุมชน โฮมสเตย์ และมัคคุเทศก์ที่ได้รับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ด้วยความมั่นใจ คุ้มค่า

 

 

 

ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท
นักท่องเที่ยว 36.7 ล้านคน

นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย รัฐบาลได้ตั้งเป้ารายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไว้ที่ 3.5 ล้านล้านบาท และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 36.7 ล้านคน และเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย ต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับ Supply Side โดยเฉพาะการส่งเสริม พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการและชุมชน เข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยว จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น

 

 

 

ธุรกิจท่องเที่ยวบริการ
โชว์เคสมาตรฐานท่องเที่ยว

นางสาวนลินี สมเกียรติกุล ผู้อำนวยการส่วนเผยแพร่ กองส่งเสริมและส่งเสริมพัฒนาทรัพย์สินมีค่าของรัฐ กรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์มีส่วนในการบริหารจัดการพื้นที่ราชพัสดุ หรือดูแลบริหารจัดการอาคารสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นอาคารราชพัสดุ ซึ่งหมายถึง อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด บทบาทของเรานอกจากทำประโยชน์ในเชิงมูลค่าเศรษฐกิจแล้ว เราก็ทำในเชิงสังคมด้วย เช่น การนำอาคารเก่ามาปรับปรุงทำพิพิธภัณฑ์ 6 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ 3 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ พิพิธภัณฑ์บางลำพู และพิพิธภัณฑ์ตลาดน้อย และมีส่วนภูมิภาคที่จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น และ จ.สงขลา เป็นต้น โดยพิพิธภัณฑ์ทุกแห่ง ได้รับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวแล้ว ตั้งแต่การบริหารจัดการระบบภายใน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเยี่ยมชม รวมถึงมีบริการที่จอดรถ

‘เทอร์มินอล 21’ ชูความสำคัญ ‘ห้องน้ำ’
สร้างประสบการณ์ที่ดีผู้มาเยือน

นางสาวชนิดา ไศาลวณิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์การค้า Terminal21 Rama 3 กล่าวว่า เทอร์มินอล 21 เป็นศูนย์การค้าภายใต้เครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ย่านถนนอโศก ถนนพระราม 3 และพัทยา รวมถึงโคราช โดยมองว่าธุรกิจจะยั่งยืนได้ ต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีทำให้ลูกค้าประทับใจ โดยจุดเด่นของเทอร์มินอล 21 คือศูนย์อาหารที่มีความหลากหลายอีกทั้งยังราคาเอื้อมถึง

นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นด้านห้องน้ำสาธารณะ ทันสมัยและได้มาตรฐาน ถือเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่ได้ใช้สุขภัณฑ์แบบอัตโนมัติ เหมือนญี่ปุ่น และยังได้ตกแต่งให้สามารถถ่ายรูปได้ทุกมุม

“เรามองเรื่องห้องน้ำสาธารณะ เป็นเรื่องสำคัญ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ เพราะเราสร้างศูนย์การค้ามา เพื่อจะสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้ามาใช้บริการ ทุกสาขาใช้มาตรฐานเดียวกันหมด นี่คือจุดเด่นของเรา และเมื่อสามารถสร้างความประทับใจที่ดีแก่ผู้มาเยือนได้ ก็จะทำให้เราเป็นที่รู้จัก และได้รับความชื่นชม ส่งผลดีต่อธุรกิจ และภาคท่องเที่ยวและบริการระยะยาว”

‘เทนมีย์” อีกหนึ่งมาตรฐานโฮมสเตย์
เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ นางชลธิชา สมานโสร์ ผู้แทนกลุ่มเทนมีย์โฮมเสตย์ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า เทนมีย์โฮมเสตย์ ก่อตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ บ้านเทนมีย์ หมู่ที่ 1 ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะการรวมกันของคนในชุมชน เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่บ้าน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้สัมผัสวัฒนธรรมดั้งเดิม และวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

โดยมีกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ มีการทานข้าวเย็น ถ้ามาเป็นทัวร์ก็จะให้ทางคณะทัวร์มานั่งพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ตกค่ำแล้วก็นอนที่โฮมสเตย์ มีฐานการเรียนรู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า แล้วก็แปรรูป มีสวนปลูกผัก เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

การร่วมมือร่วมใจกันในหมู่บ้านทำให้สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสามัคคีและเข้มแข็งโดยเฉพาะปัญหายาเสพติด คณะกรรมการหมู่บ้านจะมีการประชุมกันบ่อย ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยงแล้วก็จะพาเด็กคนนั้นมาพูดคุยว่ายาเสพติดไม่ใช่เรื่องดีโดยในหมู่บ้านก็จะมีการทำกิจกรรมชวนเยาวชนมาออกกำลังกายเล่นกีฬาร่วมกัน เป็นต้น

นายเกียรติศักดิ์ กล่อมสกุล ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด กบ เทร็คกิ้ง กล่าวว่า เป็นบริษัททัวร์คนไทย ที่ให้การบริการด้านการท่องเที่ยว เช่น พายเรือคายัค ปั่นจักรยาน เช่าจักรยานยนต์ ฯลฯ ทำหน้าที่แนะนำนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทย ได้ทำกิจกรรมในสถานที่ต่าง ๆนักท่องเที่ยวของเราส่วนใหญี่เป็นชาวต่างชาติ มีชาวไทยบ้าง ซึ่งมองว่ามีคนจำนวนไม่มากที่ชอบเที่ยวแบบกิจกรรมกลางแจ้ง
เราได้นำเอามาตรฐานความปลอดภัยมาดูแลนักท่องเที่ยว ทั้งมาตรฐานเรือคายัค มาตรฐานแคมปิ้ง ต่อไป เราจะทำเรื่องการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) ด้วย

ท่องเที่ยวบริการ 426 รายได้รับรองมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม สำหรับการมอบเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการ มาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน ที่ผ่านการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 426 ราย ป็นการมอบเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน จำนวน 25 มาตรฐาน ได้แก่

มาตรฐานด้านบริการท่องเที่ยว เช่น ที่พัก ห้องน้ำสาธารณะ รถตู้ปรับอากาศ เรือรับจ้าง สถานที่จำหน่ายของที่ระลึก ร้านอาหาร จำนวน 288 แห่ง
มาตรฐานด้านกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น ค่ายพักแรม เดินป่า ดูนก ปืนหน้าผา Eco Lodge จำนวน 30 แห่ง
มาตรฐาน แหล่งท่องเที่ยว จำนวน 5 แห่ง
มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จำนวน 59 แห่ง
มาตรฐาน การท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 13 แห่ง
มาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน จำนวน 27 แห่ง
รางวัลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอาเซียน ประเภทเขตเมือง จำนวน 2 แห่ง และประเภทเขตชนบท จำนวน 2 แห่ง