‘แม่ทัพหญิง EGCO’ โชว์วิชั่น สร้างสมดุล ESG ดันธุรกิจโตยั่งยืน

by ESGuniverse, 1 กรกฎาคม 2567

‘ดร.จิราพร ศิริคำ’ ซีอีโอคนใหม่ของ EGCO Group โชว์วิสัยทัศน์เสริมศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพื่อการเติบโตของกิจการอย่างยั่งยืน มุ่งเพิ่มกำลังผลิต สร้างรายได้กำไร และสร้างสมดุล ESG เร่งเดินหน้านิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว 609 ไร่ เจาะกลุ่มลูกค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และ Data Center

 

 

เมื่อพลังงานสะอาดกลายเป็นคำตอบสำคัญของพลังงานแห่งอนาคต จึงทำให้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย มุ่งเน้นปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานหลักให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามทิศทาง ‘Cleaner, Smarter and Stronger to drive sustainable growth’ ภายใต้การนำของแม่ทัพคนใหม่ ‘ดร.จิราพร ศิริคำ’ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา

โดย ดร.จิราพร มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจไฟฟ้าและนวัตกรรมพลังงาน ตลอดจนการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจมาอย่างยาวนาน เคยดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ EGCO Group มาตั้งแต่ปี 2565

ผลักดัน 3 เป้าหมายใหญ่

ดร.จิราพร ศิริคำ เปิดเผยว่า ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group มีความมุ่งมั่นในการเสริมศักยภาพและสร้างโอกาสให้ EGCO Group เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการผลักดันเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่

1.การเพิ่มกำลังผลิตใหม่ (Capacity / Portfolio) ทั้งกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

2.บริหาร Portfolio ให้มีประสิทธิภาพ สร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลถึงการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น (Dividend)

3.การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท (Credit Rating) ตามมา ควบคู่กับการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม (Green) ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ตามกรอบ ESG ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้ ผู้มีส่วนได้เสียและอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและยั่งยืน

 

 

 

มุ่งหน้าพลังงานสะอาด
ปรับปรุงโรงไฟฟ้า
ศึกษาเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน

ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า จากทิศทางของโลกขณะนี้ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน EGCO Group มีทิศทางการทำงานภายใต้ ‘Cleaner, Smarter and Stronger to drive sustainable growth’

โดย ‘Cleaner’ จะมุ่งเน้นปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานหลักให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ใช้ไฮโดรเจนหรือแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า, ศึกษาและใช้เทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) คือ เทคโนโลยีดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน กระบวนการกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือเทคโนโลยี CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน, เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดใน Portfolio เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573

นอกจากนี้ ‘Smarter’ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า โดยลงทุน และเดินเครื่องโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง พร้อมกับการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ในธุรกิจพลังงานเกี่ยวเนื่องที่เติบโตสูง เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยต้องมี ‘Stronger’ ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อขยาย และต่อยอดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ซึ่ง EGCO Group มีความได้เปรียบจากการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งใน 8 ประเทศ ที่มีฐานทางธุรกิจอยู่แล้ว พร้อมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานในเยาวชนผ่านศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ตลอดจนการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและทรัพยากรธรรมชาติผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า

ครึ่งปีหลัง 2567 เน้นลงทุนโครงการศักยภาพสูง

สำหรับการดำเนินงานในครึ่งปีหลังของปี 2567 จะเลือกลงทุนในโครงการที่มีคุณภาพสูงและมีผลตอบแทนที่ดี และการเร่งรัดบริหารโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อสร้างรายได้และกำไรให้ EGCO Group เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะเร่งรัดการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวันมีความก้าวหน้าตามแผนงานเป็นลำดับ ปัจจุบันได้ติดตั้งเสากังหัน (Monopiles) แล้วเสร็จรวม 74 ต้น ซึ่งได้ติดตั้งกังหันลม (Wind Turbine Generators - WTGs) เสร็จเรียบร้อยแล้ว 50 ต้น และเชื่อมั่นว่าจะสามารถก่อสร้างเสร็จครบ 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 ตามแผนที่กำหนด

โรงไฟฟ้าต่างประเทศ ปัจจัยหนุนเติบโต

ดร.จิราพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงาน 6 เดือนหลัง มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของ EGCO Group โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังผลิตใหม่และการสร้างรายได้และกำไร ได้แก่ การรับรู้รายได้จากการทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการ Yunlin การรับรู้รายได้ของ APEX ในสหรัฐอเมริกา จากการขายโครงการและจาก7 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2567

การรับรู้รายได้จากการลงทุนในบริษัท CDI ในอินโดนีเซีย และกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐอเมริกา ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Paju ES ในเกาหลีใต้ ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างโดดเด่นต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสปิดดีลโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้าปกติ (Conventional) และ พลังงานทดแทน (Renewable) ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ทันที รวมทั้งโอกาสในการเจรจาสัญญาใหม่ของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ โดยอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดสัญญา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2567

นอกจากนั้น การลงทุนใน CDI ในอินโดนีเซีย มีความร่วมมือที่ก้าวหน้า โดยมีแผนพัฒนาโครงการเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุนพันธกิจในการพัฒนาพลังงานสีเขียว ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) และโครงการแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) กำลังผลิตรวม 35 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 และจะทยอยแล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์บางส่วน ภายในปี 2568

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการแสวงหาโอกาสในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเติม ตลอดจนศึกษาเพื่อเตรียมขยายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้า KPE เพื่อรองรับโรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรม Krakatau Posco ของอินโดนีเซีย

ในขณะเดียวกันมองว่า EGCO Group มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศ กำลังผลิตประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ ส่วนขยายที่ภาครัฐจะเปิดเพิ่มเติมในรอบที่ 2 รวมถึงการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ภายใต้ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan 2024) หรือที่เรียกกันว่า แผน PDP 2024 ตลอดจนยังได้ศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขายไฟฟ้าตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ในอนาคตด้วย

เจรจาพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว

ดร.จิราพร กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ตั้งอยู่ที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรเพื่อพัฒนาพื้นที่ 609 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว โดยเน้นกลุ่มลูกค้าเทคโนโลยีชั้นสูง นวัตกรรม โรงงานการวิจัยและพัฒนา รวมถึง Data Center ที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียว เบื้องต้นจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้เอกชนจองพื้นที่หรือเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งจะมีการรายงานความก้าวหน้าต่อไป