กรุงศรีฯ หนุนสินเชื่อธุรกิจสีเขียว เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

by ESGuniverse, 21 มิถุนายน 2567

กรุงศรีฯ หนุนทุกภาคส่วน เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน หลังภาครัฐส่งสัญญาณ Thailand Taxonomy แบ่งประเภท 3 กลุ่มธุรกิจ “ธุรกิจต้องห้าม-ธุรกิจต้องพึงระวัง-ธุรกิจต้องมอนิเตอร์” สำหรับปล่อยสินเชื่อในอนาคต

 

 

ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ) หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า พ.ร.บ.โลกร้อน ที่รัฐบาลไทยกำลังจะผลักดันออกมา คาดว่าจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในกลางปีนี้ ซึ่งอาจกระทบต่อหลาย ๆ ภาคส่วน ไม่ใช่แค่กลุ่มอุตสาหกรรม แต่ยังรวมถึงชีวิตประจำวันของเราด้วย เพาะร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นเป้าหมายที่ทุกคนจะต้องร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ

ส่วนในภาคการเงิน ประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน จึงเกิดคำว่า ‘Taxonomy’ ขึ้นมา คือ การกําหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจ ที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อใช้ในการช่วยประเมินว่า กิจกรรมใดเข้าข่ายเป็นการดําเนินธุรกิจ ที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีหลักการและแนวทางที่ชัดเจนจะช่วยให้มีความโปร่งใส ตลอดจนมีมาตรฐานที่สอดคล้องกันทั้งระบบ

ในงานสัมมนา SET Sustainability ครั้งที่ 2/2567 : Scalling up Synergies and Solutions for Net-Zero ที่จัดขึ้นโดย SET ESG Academy ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน บมจ.กรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การกำหนดกลยุทธ์ หรือมิชชั่นต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ต้องเริ่มสำรวจจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจก่อน เพราะประเทศไทยได้ประกาศความมุ่งมั่น (Commitment) ว่า พยายามจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 โดยเป้าหมายระยะกลางที่ปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 จากการดำเนินการตามปกติ

และอีกไม่นานเมื่อ พ.ร.บ.โลกร้อนออกมา จะส่งผลให้เกิดการใช้ภาษีคาร์บอน ซึ่งจะกระทบหลายภาคส่วน ที่จะบังคับให้เราต้องปรับตัว และจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะทำให้อุตสาหกรรมในไทย แข่งขันได้ หรือไม่ได้ในอนาคต ซึ่งความสามารถในการแข่งขันก็จะขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ ต่างๆ ด้วย

“สิ่งที่ภาคการเงิน หรือภาคธนาคารสามารถทำได้คือการเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านหรือปรับตัวเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ประเทศตั้งไว้”

สัญญาณภาครัฐ ส่ง Thailand Taxonomy ออกมา

นายพูนสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ภาคการเงินเริ่มขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์การเงินมาตั้งแต่ปี 2017 ในช่วงนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการออกกฏระเบียบในการออกพันธบัตรตราสารหนี้ เช่น ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) พันธบัตรเพื่อสังคมตราสารหนี้ (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability bond)

นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย ก.ล.ต. ก็ได้ร่วมกันจัดทำ Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งอยู่ในระยะแรก หรือเฟส 1 มีการจัดกลุ่มกิจกรรมก็แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร ได้แก่ ‘สีเขียว’ กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานลม ‘สีเหลือง’ กิจกรรมที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และอาจเข้าข่ายสีเขียวได้ในอนาคต เช่น พลังงานไฟฟ้าจากชีวภาพ และ ‘สีแดง’ กิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องทยอยลดกิจกรรมลง เช่น พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน

นับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนจากภาครัฐที่อยากให้ธุรกิจทางการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เริ่มจัดสรรเงินทุนให้สู่ธุรกิจสีเขียว หรือไปยังธุรกิจที่ปัจจุบันยังเป็นสีเหลืองแต่ในอนาคตอาจจะมีความเป็นเหลืองน้อยลง

ทั้งนี้ เมื่อพ.ร.บ.โลกร้อนออกมา พร้อมกับ Thailand Taxonomy เฟส 2 จะเป็นการดำเนินงานที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับอุตสาหกรรม หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นสีแดงให้ปรับเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อภาคการเงินเช่นกัน เพราะเกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ การเงินต่าง ๆ ให้กับธุรกิจเหล่านี้

“เพราะฉะนั้นแล้วจึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนกฏระเบียบต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดีธนาคารพาณิชย์มองว่า ก็เป็นโอกาสที่ช่วยลูกค้าเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงก็จะ เป็นโอกาสทางธุรกิจที่มหาศาลจากธนาคารพาณิชย์”

กรุงศรีตั้งเป้าเป็นธนาคารยั่งยืน

ในส่วนของกลุ่มธนาคารกรุงศรี มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนซึ่งถูกบรรจุไว้ในภารกิจขององค์กรว่าเราจะโตไปพร้อมๆ กับสังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน ก็มีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่ธนาคารต้องการจะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความยั่งยืนมากที่สุดในประเทศไทย เพราะฉะนั้นเป้าหมายระยะกลางต้องการเพิ่มเงินที่เข้าสนับสนุนธุรกิจหรือกิจกรรมทางธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมผลลัพธ์เชิงบวกต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืน โดยจะเพิ่มเงินทุนเงินสนับสนุนให้กับกิจกรรมเหล่านั้น 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2030

แบ่งกลุ่มธุรกิจสำหรับปล่อยสินเชื่อ หรือธุรกรรมการเงิน

หนึ่งในคีย์สำคัญขององค์กรคือเราจะต้องมีนโยบายในการบริหารจัดการความเสี่ยง ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะฉะนั้นเรามีการจัดทำนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศรวมถึงมี Action plan มีนโยบายบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อที่ครอบคลุมมิติด้าน ESG โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นเครื่องจักร หรือแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้เราสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้

ซึ่งธนาคารก็ได้มีการจัดประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่ออนาคต ดังนี้

1. ธุรกิจต้องห้าม หมายถึงธุรกิจ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบ หรือส่งผลลัพธ์เชิงลบที่รุนแรงต่อสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อม เราถือว่าเป็นธุรกรรมที่เราไม่พึงจะให้สินเชื่อ จึงเรียกว่าธุรกิจต้องห้าม หรือธุรกิจที่ไม่พึงปล่อยสินเชื่อ ตัวอย่างธุรกิจนี้ คือ โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ โดยเฉพาะเหมือง ถ่านหิน หรือกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขุดเจาะ ผลิตจัดส่งถ่านหิน หรืออีกอุตสาหกรรมคือ อุตสาหกรรมป่าไม้ ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่พึงจะอำนวยสินเชื่อหรือปล่อยสินเชื่อ

2. ธุรกิจที่ต้องพึงระวัง ไม่เชิงเป็นธุรกิจต้องห้ามแต่เป็นธุรกิจที่เราพึงระมัดระวังตัว อย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน ธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตเคมีภัณฑ์ ที่อาจจะมีผลกระทบเชิงลบหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ไม่ใช่ไม่อนุญาต เราอนุญาตแต่การอนุมัติสินเชื่อจะต้องอยู่ในความระมัดระวัง ต้องพิจารณาการอำนวยสินเชื่ออย่างมาก

3. ธุรกิจที่ต้องมอนิเตอร์ เป็นประเภทที่อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบ แต่ไม่ได้รุนแรงมาก แต่เป็นธุรกิจที่ต้องมีการมอนิเตอร์อย่างสม่ำเสมอ เช่น อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการของเสีย ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เราก็จะพึงระวังและมอนิเตอร์อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันก็มีเป้าหมายในการสนับสนุนธุรกิจที่ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือส่งเสริมผลลัพธ์เชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นธนาคารก็มีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ธนาคารจะสนับสนุนเช่นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงานทดแทน (Renewable energy) อุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนชัดเจน หรือมีเป้าหมายในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

ซึ่งจากที่กล่าวมา ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่บนเชลล์ที่จะนำเสนอให้กับลูกค้าไม่ว่าจะเป็น Green Bond, Social Bond, Sustainability bond รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่อาจจะอยู่ในความสนใจของลูกค้าในอนาคตคือ Transition Product เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ เช่น เปลี่ยนจากธุรกิจสีน้ำตาลเป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยลูกค้าในอุตสาหกรรม ธุรกิจต่าง ๆ เปลี่ยนผ่าน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นการหาวิธี ปรับตัวเมื่อบริบทของกฎหมายระเบียบต่างๆ หรือกฎกติกาทางการค้าระหว่างประเทศ

"ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมประเด็นด้านความยั่งยืน ของธนาคารเติบโตมาก เพียง 3 ปีสามารถเพิ่มได้ถึง 7 หมื่นกว่าล้านบาท แต่เราต้องการจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2030 หมายความว่าความต้องการของลูกค้าในความต้องการเงินไปลงทุนกิจกรรมสีเขียวมีจำนวนมาก ในระยะเวลา 3 ปี สินเชื่อเหล่านี้โต 16% เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่สูงกว่าการเติบโตของสินเชื่อทั่วไป เป็นสัญญาณว่าธนาคารจะต้องปรับตัวเอง สนองความต้องการลูกค้าในอุตสาหกรรม ภาคส่วนต่าง ๆ เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน และไปสู่เป้าหมาย Net Zero"