“เอสซีจี” เคลื่อนโลกสู่นวัตกรรมกรีน ผ่านคนรุ่นใหม่วัย gen Z

by ESGuniverse, 18 มิถุนายน 2567

“เอสซีจี” วางจุดยืนตัวเองเป็นองค์กรแห่งโอกาส ผลักดันความคิดสร้างสรรค์ unlimited ผ่านหนึ่งสมองและสองมือของคนรุ่นใหม่วัย gen Z ขับเคลื่อนโลกสีเขียว ไปพร้อมกับอัพเกรดธุรกิจสู่นวัตกรรมกรีน

 

องค์กรร้อยปี “เอสซีจี” ขับเคลื่อนธุรกิจทั้งกลุ่ม ขึ้นทางยกระดับการสร้างสรรค์นวัตกรรมกรีนมาพักใหญ่แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้โลดแล่นอยู่บนซุปเปอร์ไฮเวย์สีเขียวขนาด 20 เลน การจะเขียวยกแผงแบบนี้ได้ พลังคนสำคัญที่สุด และเป็นจุดแข็งแต่ไหนแต่ไรของเอสซีจี ที่ตอกย้ำภาพลักษณ์การสร้างคนว่า ต้องเก่งและดี

“กรมวิทยาศาสตร์บริการ” อธิบายความเป็นสีเขียว ว่า เป็นสีที่นำมาใช้ในความหมายของ การอนุรักษ์น้ำ การอนุรักษ์พลังงาน การลดขยะ การลดสารพิษ การมีมาตรฐานการรับรองสินค้าที่ผลิตออกมาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้กระบวนการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นจริงได้ ในทางปฏิบัติทั้งในบ้านและสำนักงาน

กระแสกระบวนการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดและรุนแรง ทำให้ทศวรรษนี้ เป็น ‘ยุคแห่งสีเขียว’ เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมีจำนวนมากขึ้น และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลออกข้อบังคับกฎระเบียบ หรือพระราชบัญญัติในการควบคุมภาคธุรกิจ ไม่ให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างขาดสำนึกถึงส่วนรวม แนวความคิดของคำว่า ‘สีเขียว’ เมื่อถูกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ จึงเรียกว่า ‘ผลิตภัณฑ์สีเขียว’ (Green Product) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษกว่าผลิตภัณฑ์อื่นในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

รายได้จากผลิตภัณฑ์เขียวยกแผง 2 ใน 3

เอสซีจี ตั้งเป้าหมายผลักดันยอดขายผลิตภัณฑ์สีเขียว (SCG Green Choice) เพิ่มขึ้น 67% จากยอดขายหลักแสนล้าน ภายในปี ค.ศ. 2030 ดูเผิน ๆ เหมือนฝันกลางวันกลาย ๆ แต่เมื่อเอสซีจีประกาศจุดยืนตัวเองว่าเป็น “องค์กรแห่งโอกาส” (Organization of Possibilities) ถ้าคิดแบบนี้ได้ อะไรก็เป็นไปได้หมด เพราะใจมันมาแล้ว

การทำยอดขายให้เขียวได้เกินครึ่งแผงของพอร์ตธุรกิจ ไม่พ้นเรื่องคน กับนวัตกรรมกรีน ๆ และยุคสมัยนี้ มันก็เป็นโลกของคน gen Z หรือ gen New ล้วน ๆ (คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่เกิดหลังจากปี ค.ศ. 1995 หรือ ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา) การจะผลักดันองค์กรให้ก้าวกระโดด จึงอยู่ที่การสร้างสภาพแวดล้อมให้คนรุ่นใหม่ มีใจอยากทำงาน และกระหายความสำเร็จซ้ำแล้วซ้ำอีก

“สิ่งสำคัญคือ ต้องเปลี่ยนพลังคน ให้เป็นพลังแห่งโอกาส เปิดทางให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ และทุก ๆ คนที่พร้อมสร้างสรรค์ ได้มีพื้นที่แสดงออกทางด้านนวัตกรรมกรีน มีส่วนร่วมในการผลักดันการลดคาร์บอน เพิ่มฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ตลาดแต่ละกลุ่มได้จริง รวมถึงปรับองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การสร้างสตาร์ทอัพในองค์กร การจัดเวทีให้คนรุ่นใหม่แสดงความสามารถ รวมถึงการเข้าไปลงทุนธุรกิจด้านกรีนในต่างประเทศ” ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าว

สตาร์ทอัพ “Wake Up Waste”

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดในการเปลี่ยน “พลังคน” สู่ “โอกาส” ของเอสซีจี คือ การจัดโครงการ Zero-to-one เปิดพื้นที่ให้คนเอสซีจีที่มีไอเดียดี นำเสนอโปรเจกต์สร้างสตาร์ทอัพของตัวเอง

ภัทรพร วงศ์ปิยะสถิต ผู้ก่อตั้ง Wake Up Waste หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ Zero-to-one เล่าว่า เธอกับเพื่อนอีก 2 คน ได้รวมตัวกันพัฒนาเทคโนโลยี “เครื่องบีบอัดขยะ” เนื่องจากการขนส่งขยะรีไซเคิลจากคอนโดมิเนียม และอาคารต่าง ๆ นั้น มักมีต้นทุนสูง ขนส่งต่อรอบได้ครั้งละจำนวนไม่มาก เครื่องบีบอัดขยะของ Wake Up Waste จะช่วยบีบอัดอากาศในขยะที่คัดแยกไว้แล้ว เช่น ขวดพลาสติก ให้กลายเป็นก้อนที่สามารถจัดเก็บได้ง่ายขึ้น ลดพื้นที่กองเก็บลง 5-10 เท่า หรือใช้รถรับซื้อขยะรีไซเคิลเพียงคันเดียว จากเดิมที่อาจต้องใช้ 5-10 คัน

“จากการนำไอเดียไปนำเสนอโครงการ Zero-to-one สู่การดำเนินโครงการจริงมาแล้ว 19 เดือน ทางเอสซีจีให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เงินทุนก้อนแรกในการพัฒนาเครื่องต้นแบบ หรือ Prototype การให้คำปรึกษา การช่วยหาลูกค้า ปัจจุบัน ทีมไม่ต้องทำงานในตำแหน่งเดิมแล้ว สามารถมาโฟกัสกับโปรเจกต์นี้ได้อย่างเต็มตัว ทำให้เรามีลูกค้าทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงแรม รวมกว่า 300 อาคาร คิดเป็นปริมาณขยะสะสมกว่า 1,150 ตัน ช่วยลดคาร์บอนเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ถึงกว่า 60,000 ต้น ภายในปี 2567 นี้ ตั้งเป้าว่าจะมีลูกค้าอาคารสะสมเพิ่มเป็น 1,400 อาคาร รวมถึงอาจได้รับการสนับสนุนให้ spin-off เป็นธุรกิจของตัวเอง โดยมีทั้งเอสซีจี และนักลงทุนภายนอกเข้ามาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม” ภัทรพร กล่าว

ปล่อยแสงเด็กฝึกงาน

ไม่เพียงแต่พนักงานเอสซีจีโดยตรงที่ ได้รับการสนับสนุนไอเดียสู่นวัตกรรม คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นพนักงานเอสซีจีก็ได้รับโอกาสเช่นกัน

รัฐศิลป์ โพธิ์ประพันธ์ ศิษย์เก่าโครงการ SCG Young Talent Program เล่าว่า ได้เข้าร่วมโครงการ SCG Young Talent Program โครงการที่เปิดให้นักศึกษาได้เข้ามา “ลองทำงาน” ไม่ใช่แค่ “ฝึกงาน” ตัวเขาและผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่น ๆ ได้เข้าร่วม Bootcamp พัฒนาทักษะทั้งด้านการออกแบบ ด้านเทคโนโลยี ด้านองค์ความรู้ทางธุรกิจอย่างเข้มข้น ก่อนที่จะได้ร่วมตะลุยโปรเจกต์สร้างนวัตกรรมเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน

โดยโปรเจกต์ของทีมเขา คือโปรเจกต์รองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ภายใต้ชื่อ “Never Fall” นวัตกรรม AI ตรวจจับท่าทางการเดินของผู้สูงอายุ เพื่อใช้คำนวณว่าผู้สูงอายุคนนี้มีความเสี่ยงในการพลัดตกหรือหกล้มมากแค่ไหน ตอบโจทย์เวชศาสตร์การป้องกัน ไม่รอแก้ปัญหาปลายเหตุแบบนวัตกรรมกลุ่มตรวจจับการหกล้ม (Fall Detection)

หลังจบโครงการ SCG Young Talent Program รัฐศิลป์ ได้ก้าวเข้ามาเป็นพนักงานของ “SCG We Do” หน่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมในเครือเอสซีจี ปัจจุบัน เขาและทีมกำลังซุ่มทำโปรเจกต์นวัตกรรมกรีน “MEPLUG” (มีปลั๊ก) โปรเจกต์ตอบโจทย์ชาวคอนโดมิเนียมและผู้ใช้รถ EV แก้ปมปัญหา (Pain Point) ที่นิติบุคคลอาคารชุดไม่อยากให้มีปลั๊กในพื้นที่ส่วนกลาง เพราะกลัวคนขโมยไฟฟ้าใช้ ด้วยการทำปลั๊กพิเศษที่สามารถเก็บเงินคนที่ใช้งานโดยตรงได้ ซึ่งอาจนำมาใช้ทดแทน EV Charger แบบ AC หรือแบบ DC ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ด้วย เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่า ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบ (Prototype) เวอร์ชั่นที่ 3

หานวัตกรรม Disrupt ธุรกิจ

นอกจากเปิดทางคนรุ่นใหม่ในประเทศ เอสซีจี ยังมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งโอกาส สรรหานวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่านการลงทุน ความร่วมมือ สร้างโอกาส “เป็นไปได้ด้วยกัน” ด้านกรีนกับคนทั่วโลก

พัทรพล เกษมธนกุล VC Manager, Deep Technology Venture Capital ในเครือเอสซีจี กล่าวว่า หน้าที่หลักของทีมเขา คือการไปเสาะหาสตาร์ทอัพ และไปลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีสำคัญกับเอสซีจีในอนาคต ทั้งเชิงกลยุทธ์ และเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero emission) ปัจจุบัน ลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 20 ราย เน้นสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาและยุโรป นำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดจากต่างภูมิภาคมาใช้ทั้งในไทยและอาเซียน

ตัวอย่างหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าไปลงทุน คือสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมใหม่ในการผลิตซีเมนต์ ที่ผ่านมา ซีเมนต์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น (Carbon-intensive) ตั้งแต่ตัววัตถุดิบไปจนถึงกระบวนการแปรรูปที่ต้องใช้ความร้อนสูง ขณะที่สตาร์ทอัพรายนี้เปลี่ยนทั้งวัตถุดิบในการผลิตซีเมนต์และเปลี่ยนกระบวนการแปรรูปไปใช้อุณหภูมิห้อง ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และอาจกลายเป็นเทคโนโลยีที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่กระบวนการผลิตซีเมนต์ หนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักของเอสซีจีที่ผลิตปีละกว่า 10-20 ล้านตัน

ทิศทางการเติบโตของเอสซีจี จากการ positioning ตัวเอง ว่าเป็นองค์กรแห่งโอกาส ขับเคลื่อนด้วยพลังคน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ และนวัตกรรมกรีน จะกลายเป็นหนึ่งในทิศทางหลักของบริษัทนับจากนี้ ภายใต้การผสานพลังระหว่าง คนรุ่นเดิม กับ คนรุ่นใหม่ และการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีความคล่องตัว จะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมอันโดดเด่น ภายใน 3-5 ปีจากนี้