Data Center กับความท้าทายที่ต้องแย่งชิงการใช้พลังงาน

by บุษกร สัตนาโค, 14 มิถุนายน 2567

เมื่อบริษัทเทคยักษ์ใหญ่มองหาฐานลงทุน Data Center และไทยเป็นดินแดนที่น่าสนใจ จึงเกิดความท้าทายด้านพลังงาน เพราะศูนย์ข้อมูลมีการใช้พลังงานอย่างมหาศาล

 

ขณะนี้บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลก ต่างก็มองหาการลงทุน ‘Data Center’ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นยักษ์สมองดิจิทัล เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล และข้อมูลขนาดมหึมาในอนาคต ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการลงทุน

เพราะในยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าของทุกองค์กร ดังนั้นการจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง ‘Data Center’ จะทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดขององค์กรไว้ในสถานที่เดียวกัน รวมถึงรองรับระบบงานสำคัญ ๆ ขององค์กรได้

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวถึงการลงทุนด้าน Data center ในงาน The Story Thailand Forum 2024 เอาไว้อย่างน่าสนใจ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร และการใช้พลังงานมหาศาลเช่นเดียวกัน ในขณะที่ทั่วโลกต่างก็มุ่งสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งก็ต้องอาศัย เทคโนโลยี ดิจิทัล เข้ามาช่วยเช่นเดียวกัน

 

 

วิวัฒนาการของเทคโนโลยีแต่ละยุคสมัย
จากยุคเกษตร ถึงยุคดิจิทัล

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า เทคโนโลยีคือวิทยาการในการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ประโยชน์ทางปฏิบัติซึ่งเกิดขึ้นตามยุคสมัย โดยเริ่มจาก ‘ยุคเกษตร’ ก็มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำเกษตร ยกตัวอย่างการทำนา เกษตรกรจะมีเครื่องจักร เช่น เครื่องสีข้าว แต่เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ใช่ดิจิทัล

จนมาถึงช่วง ‘อุตสาหกรรมที่มีการใช้ถ่านหิน’ พัฒนาเป็นเครื่องจักรไอน้ำ มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พัฒนาเป็นโรงไฟฟ้า จะเห็นภาพมากขึ้นว่าเทคโนโลยีในยุคนี้ ได้สร้างให้เกิดพัฒนาการอย่างใหญ่หลวงต่อโลก เพราะเรามีศักยภาพในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น

“แต่ในทางตรงกันข้ามก็นำมาสู่การเผาผลาญทำลายทรัพยากรธรรมชาติใหญ่หลวงเช่นกัน และเกิดผลพวงของสิ่งที่จะตามมาต่อๆไปอีก”

จนมาสู่ ‘ยุคดิจิทัล’ ในปัจจุบันก็ได้อานิสงส์จากการเปลี่ยนสิ่งที่เป็นพื้นฐานจากอะนาล็อกมาเป็นดิจิทัลทั้งหมด เทคโนโลยียุคนี้ทำให้มนุษย์มีแบบแผนของการดำรงชีวิต มีความสะดวกสบายอย่างก้าวกระโดด

“จะเห็นว่าบทบาทของเทคโนโลยีแต่ละยุคสมัยจะไม่เหมือนกัน ปัจจุบันเราพูดถึงเรื่องกรีน หรือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนเราพัฒนาอุตสาหกรรมหรือพัฒนาเศรษฐกิจเกินความพอดี จนประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกทิ้งไว้ข้างหลังจนทำให้วันนี้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แปรปรวน โลกร้อน เกิดขยะพลาสติกมหาศาล กลายเป็นปัญหาที่มนุษยชาติต้องมาแก้ไข ฟื้นฟูบำบัด ซึ่งการแก้ไขก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ เทคโนโลยีทุกตัวที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ (Computer) โน๊ตบุ๊ก (Notebook) ต่างก็มีผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า

 

 

ตั้งฐานดาต้าเซ็นเตอร์
อาจมีประเด็นถกเถียงเรื่องแย่งชิงพลังงาน

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มี 3 เทคโนโลยีหลักที่พูดถึงกันมาก คือ ศูนย์ข้อมูล (ดาต้าเซ็นเตอร์) บล็อกเชน (Blockchain) และ Generative AI เอาบริบทความยั่งยืนมาจับจะทำให้เราเห็นมิติเพิ่มขึ้นว่ามีประโยชน์ทำให้องค์กรเติบโตขยายตัวได้ขีดความสามารถในการแข่งขันได้หรือไม่

‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐ มีการบ่งชี้ว่าดาต้าเซ็นเตอร์มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าอาคารพาณิชย์ประมาณ 100-200 เท่า ยิ่งไปกว่านั้นอาคารพาณิชย์หรือสำนักงานจะมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่ดาต้าเซ็นเตอร์ทำงาน 24 ชั่วโมงทุกวันไม่มีวันหยุด

“ดาต้าเซ็นเตอร์ค่อนข้างใช้พลังงานเยอะ ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่า ข้อมูลปี ค.ศ.2022 ของกูเกิล (Google) ระบุว่า มีการใช้น้ำประมาณ 1.7ล้านลิตร ต่อวัน ในกระบวนการทำงานระบายความร้อนของดาต้าเซ็นเตอร์ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ทำเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์กำลังจะตั้งฐานเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะมีประเด็นโต้เถียงในเรื่องใช้พลังงานต่าง ๆ เนื่องจากถ้าจะมีการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์จะมีการแย่งชิงเรื่องของทรัพยากรพลังงานและน้ำ

ผมเชื่อว่าอีกไม่นานจะกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงที่องค์กร ภาคประชาสังคม จะยกขึ้นมาเป็นประเด็นหาก deep technology เหล่านี้ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการไปตั้งที่ชายแดนไทยลาวเพราะเราต้องไปพึ่งพาอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากฝั่งนั้น และพยายามที่จะหาวิธีในการใช้พลังงานลดลง ซึ่งบ้านเราก็จะมีการพูดถึงเรื่อย ๆ ในเรื่องของการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการลดผลกระทบต่อชุมชน”

 

 

บล็อกเชนจ์ และเอไอ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

ในส่วนของ ‘บล็อกเชน’ ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน จากการศึกษางานวิจัยพบว่าการขุดบิทคอยน์จะใช้ไฟจำนวนมากเทียบกับพลเมืองสหรัฐในการใช้ไฟตู้เย็นยังน้อยกว่าการใช้ในการขุดบิทคอยน์ในปี 2022 ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกกว่า 200 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

‘Generative AI’ ยกตัวอย่างเช่น ในทุกๆ 20-50 Queries ในการใช้ AI จะใช้น้ำประมาณ 1/2 ลิตรหรือแม้แต่การใช้ ChatGPT เองก็ใช้น้ำ 7 แสนลิตรในไม่กี่สัปดาห์เพื่อระบายความร้อนในการรันตัว AI และ AI Model 1 ตัวสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 5 เท่าของรถ 1 คันตลอดอายุการใช้งาน

“จะเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีก่อให้เกิดผลกระทบกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ยากที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งประมาณ 4% ของการใช้ IT ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และทุก ๆ อุปกรณ์มีโอกาสปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตเครื่องมือกว่า 80% ด้วย แม้ว่าเราจะพยายามลดการปล่อยก๊าซแล้ว แต่ในระบบซัพพลายเชนทำได้ยาก เพราะเริ่มปล่อยก๊าซตั้งแต่การผลิตชิป ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จนมาถึงการใช้งานอุปกรณ์ในวันนี้”

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันมีส่วนสร้างคาร์บอนฟุตพริ๊น (Carbon Footprint) ที่มากขึ้นในทุก ๆ ปี ดังนั้น การทำธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ควรคำนึงถึงการสร้าง Net Positive ที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากธุรกิจเหล่านั้น สร้างประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว โดยการปล่อยคาร์บอนไม่ใช่ด้วยการชดเชยให้เป็น 0 (Net Zero) แต่ต้องเพิ่มมากกว่าเดิม คือต้องใช้พลังงานหมุนเวียน วัสดุหมุนเวียน ไปจนถึงการสร้างขยะให้ลดลงไปด้วย

ขณะที่ในปัจจุบันสภาพัฒน์ได้มีการตั้ง Sustainability Disclosure Community (SDC) ที่มีองค์กรกว่า 160 องค์กรเข้าร่วม เพื่อเตรียมสร้างเป็น Net Positive Club เพื่อให้องค์กรเป็น Net Positive ให้ได้ในระยะยาวด้วย และสิ่งที่ต้องคำนึงคือ บริษัทต้องการให้ได้มาซึ่งกำไร แต่ทุกวันนี้เหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่เพียงพอสำหรับธุรกิจแล้ว แต่ยังต้องเกี่ยวกับ Net Positive ด้วย ส่วนเรื่องเทคโนโลยีกับความยั่งยืนนั้น ถ้าเราไม่สามารถลดการสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ ในอนาคตจะมีสิ่งที่เรียกว่า Carbon Tag
ที่ต้องจ่ายเพิ่ม และเราจะ Hold ปัญหาได้อย่างไร