‘แกร็บ’ เดิน 6 กลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. เพิ่มข้อต่อการท่องเที่ยว เมืองหลัก-เมืองรอง

by ESGuniverse, 17 พฤษภาคม 2567

‘แกร็บ’ ร่วมพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย ตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

 

 

ปี พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไทยมีการเติบโตถึง 2.13 ล้านล้านบาท รัฐบาลจึงได้เดินหน้าผลักดันประเทศ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Touristm Hub) และ จุดหมายปลายทาง (Destination) ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

จากการสำรวจของ Expendia พบว่า กว่า 90% ของนักท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับวาระแห่งความยั่งยืน และ 65% ของผู้บริโภค ต้องการเลือกการขนส่ง หรือที่พัก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการเดินทางครั้งต่อไป เป็นแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นชัดว่า ทิศทางการท่องเที่ยวอาจเปลี่ยนแปลงไป เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง (Value Added to Value Destination)

 

 

‘GrabNEXT 2024’ บิดคันเร่งสู่อนาคต

จากมุมมองการท่องเที่ยว และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชน ที่เกี่ยวเนื่องกับสายพานการท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ได้จัดเวทีสัมมนากระตุ้นต่อมคิดตอบโจทย์พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ และ up level มุมมองใหม่ ๆ ของการท่องเที่ยว โดยมี ‘แกร็บ ประเทศไทย’ เป็นแม่งานหลัก ภายใต้ชื่อ “GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า” ขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์ ‘T.R.A.V.E.L.’

เป็นการรวมตัวครั้งสำคัญ ของบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ร่วมกันพูดคุย พลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน

 

 

“นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปีนี้คือ การทำให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งนอกจากการที่กระทรวงฯ ต้องการยกระดับประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) แล้ว ยังต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกว่า 150 ล้านคนต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามนโยบายของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ จากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ทำให้ทางกระทรวงฯ มีการตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของ GDP

“การที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งทางกระทรวง ต้องขอขอบคุณ แกร็บ ประเทศไทย ที่จัดงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุน ผลักดัน การเดินทางท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศไทย ด้วยดีเสมอมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่าง ๆ จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และนำพาเศรษฐกิจไทยให้เจริญรุดหน้าต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าว

 

 

 

เทคโนโลยีหนุนประสบการณ์ท่องเที่ยว

ทางด้าน “นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของแกร็บ ในฐานะธุรกิจเอกชนว่า แนวคิดของ GrabNEXT เป็นการนำเอาความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี การเป็น Super App ระดับภูมิภาค ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น กระจายความรู้จากท้องถิ่น และความแข็งแกร่งของอีโคซิสเต็ม ทำให้มีขีดความสามารถ เปิดให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

“แกร็บขอเป็นส่วนหนึ่ง ในการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไร้รอยต่อ ผ่านกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ขานรับแนวทางของรัฐบาลเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว

6 กลยุทธ์ T.R.A.V.E.L.

T.R.A.V.E.L. ประกอบด้วย 6 กลยุทธ์ที่สำคัญคือ

1. Technological Integration การนำเทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว

จากผลสำรวจของ ‘ททท.’ พบว่า กว่า 87% เป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่ม F.I.T. (Free Independent Travelers) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เข้า ๆ ออก ๆ ประเทศไทยในปัจจุบัน

ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แกร็บจึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทาง ไปจนถึงการอำนวยความสะดวก ระหว่างการท่องเที่ยว

อาทิ หน้าจอต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจ และวางแผนการเดินทางบนแอปพลิเคชัน Grab ตั้งแต่ก่อนมาถึงประเทศไทย (Pre-Trip) การพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีหลายภาษา เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันชั้นนำ ให้สามารถใช้บริการเรียกรถของ Grab ผ่านแพลทฟอร์ม อย่าง WeChat Booking.com และ Trip.com ได้ รวมถึง การขยายช่องทางการชำระเงินดิจิทัล ผ่าน Alipay และ Kakao Pay

 

 

 

2. Reliability & Safety การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย ให้กับนักท่องเที่ยว

ความปลอดภัยเป็นปัจจัยหลัก ที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พัก หรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ

ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว แกร็บ จึงได้ยกระดับความปลอดภัยผ่านการพัฒนา 3 ส่วนสำคัญคือ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย อาทิ ฟีเจอร์ Safety Centre สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือ หรือ ฟีเจอร์ Audio Protect เพื่อบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง มาตรการด้านความปลอดภัย ด้วยการคัดกรองและอบรมพาร์ทเนอร์คนขับ การกำหนดมาตรฐานการให้บริการที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัย และการทำประกันเพื่อคุ้มครองทั้งผู้โดยสาร และพาร์ทเนอร์คนขับ และสุดท้ายกับการจัดแคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย

ล่าสุด แกร็บได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

3. Accessibility การส่งเสริมการเดินทาง เพื่อเข้าถึงเมืองหลัก และเมืองรอง

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติ หันมาสนใจเดินทางไปยังเมืองรองมากขึ้น สะท้อนจากรายได้การท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เมืองรองมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึง 38%

ดังนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังจังหวัด ในเมืองหลักและเมืองรอง ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น แกร็บ จึงได้มุ่งสร้างประสบการณ์ การเดินทางแบบไร้รอยต่อ ด้วยบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน ที่มีให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ทั้งยังได้ผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลัก ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

4. Valuable Experiences การสร้างประสบการณ์ การเดินทางที่น่าจดจำ

ความเป็นเลิศในด้านการบริการ ที่สอดแทรกเสน่ห์ของความเป็นไทย อัธยาศัยไมตรีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ดึงดูดและพิชิตใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ให้กับนักท่องเที่ยวในทุกเที่ยวการเดินทาง บริษัทจึงได้พัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ทเนอร์คนขับ ผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการ Grab Academy ครอบคลุมทั้งในด้านมาตรฐานการให้บริการ การสื่อสารภาษาต่างประเทศเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้พิเศษยิ่งขึ้นผ่านบริการ GrabCar Premium ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมอบความสะดวกสบายสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ให้กับนักท่องเที่ยวในทุกการเดินทาง

 

 

 

5. Environmentally Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก

การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นสำคัญ ที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า กว่า 90% ของนักท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน

เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน แกร็บ จึงได้มุ่งพัฒนาและนำเสนอตัวเลือก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้กับผู้ใช้บริการ

ไม่ว่าจะเป็น การริเริ่มโครงการ Grab EV ที่ส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์คนขับ เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในการให้บริการเรียกรถ ภายในปี พ.ศ. 2569 ให้ได้ 20% เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร

การพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการ สามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาท ต่อการเดินทาง หรือ 1 บาท จากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้ ชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2566 แกร็บสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้ คิดเป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น

6. Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยว ได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น

การดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมา พัฒนาเป็นแม่เหล็กดึงดูดซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติ ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย

โดยจากการสำรวจ พบว่า 65% ของนักท่องเที่ยว ให้ความสนใจที่จะมาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการไปเทศกาลประจำจังหวัดต่าง ๆ การได้ลิ้มลองอาหารพื้่นบ้าน หรือ การอุดหนุนสินค้าชุมชน

ในฐานะแพลทฟอร์มที่ทำหน้าที่ เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรายย่อย และพาร์ทเนอร์คนขับ จึงได้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น และวัฒนธรรมไทยในมิติต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการเดินทาง ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ผ่านการทำหนังสือไกด์บุ๊ค Grab & Go ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การโปรโมทอาหารไทยเมนูเด็ด จากร้านอาหารรายย่อยผ่าน GrabFood และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นฝีมือคนไทยผ่าน GrabMart เพื่อให้ชาวต่างชาติ สามารถเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

 

 

ปลุกพลัง Ignite Thailand

นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในเรื่องของการพลิกโฉมการท่องเที่ยว จะเป็นเรื่องของการขยาย IGNITE THAILAND ให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เป้าสำคัญคือ พลิกการท่องเที่ยวที่มีมูลค่า (High Value) และความยั่งยืน

ททท. จึงพยายามสร้างสมดุล ในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ทั้งในเชิงของพื้นที่ และไลฟ์สไตล์ ส่งต่อประสบการณ์ที่มีคุณค่าตามยุทธศาสตร์ จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ต้องมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ เพื่อดูแลนักท่องเที่ยว ตั้งแต่เท้ามาแตะสนามบิน จนปั้มตราประทับกลับบ้าน

ททท. มองว่า ต้องทราบเบื้องลึก (Inside) ของนักท่องเที่ยวเพื่อประเมินคุณค่า จึงจะสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้ได้ โดยปีนี้รัฐบาลก็ได้ตั้งรายได้อย่างท้าทาย โดยการเพิ่มเป้าเป็นเม็ดเงินกว่า 3.5 ล้านล้านบาท

นายนิธิมองว่า ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ 'Once In a life time' คือ ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องมาให้ได้ เนื่องจากคนไทยมีใจรักในงานบริการ มีอัธยาศัยไมตรี เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ไม่ต้องปรุงแต่ง

“การจะสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้นั้น จะต้องสร้างสมดุล กระจายสู่เมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) ดึงนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และการท่องเที่ยวยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศธุรกิจ ที่จะก้าวสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง (High Value) และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้”

 

 

 

ปรับโหมดจาก “มูลค่า” สู่ “คุณค่า”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรที่สำคัญมาก ของประเทศไทย แต่นักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก ก็เพิ่มโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรมากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น จะมองเป้าแค่เพียงจำนวน อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเรื่อง ของคุณภาพ เข้ามากำกับมากขึ้น ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้มูลค่า และคุณค่าสูง (Value Added to Value Destination) เป็นการท่องเที่ยว ที่กระจายประโยชน์สู่ท้องถิ่น เปลี่ยนแปลงรูปแบบการท่องเที่ยว กระจายความเสี่ยง เพิ่มคุณค่า เพิ่มฐานการท่องเที่ยว ให้มีความหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

ในส่วนของเทรนด์การท่องเที่ยว ณ ปัจจุบัน ผู้คนมีการใช้เทคโนโลยีในการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ในแง่ของสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวหลายราย ก็มีการคำนึงถึงคาร์บอนฟุตปริ้นท์ โดยจะต้องคำนวณถึงดีมานด์ของผู้บริโภค ว่าจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีการตอบโจทย์ของนักท่องเที่ยวหรือไม่

“กระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ส่งเสริมให้คนไปเที่ยวเมืองรอง”

 

 

 3P เสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน

นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทาง และบริหารพาร์ทเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวถึงอนาคตการท่องเที่ยวไทยว่า แกร็บ สามารถคำนวณระยะเวลา คำนวณค่าใช้จ่ายได้ คลายความกังวล ทำให้นักท่องเที่ยวสนุกกับการท่องเที่ยวได้มากขึ้น สนุกกับการจับจ่ายและ
การเดินทางอย่างไร้กังวล และมีเทคโนโลยี AI แปลภาษาเพื่อการสื่อสารรอบด้าน และเท่าเทียม

ในส่วนของการเสริมสร้างความยั่งยืนการท่องเที่ยว บริษัทฯ มีนโยบาย Triple Bottom Line เพื่อสร้างการตลาดในใจคน สู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ประกอบด้วย 3P ได้แก่ Performance - People - Planet จากการคำนวณธุรกิจผ่าน 3 แนวคิด ได้แก่ การลงทุนที่ยั่งยืนหรือไม่ การลงทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวกหรือไม่ และการลงทุนที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือไม่.