แนวโน้มของเทรนด์ธุรกิจยั่งยืนในปี 2024 จุดเปลี่ยน ภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู่การวางกลยุทธ์ยั่งยืนจากภายใน ไม่ฟอกเขียว ผ่าน 4 หัวใจ เปิดเผยข้อมูล โมเดลธุรกิจคาร์บอนต่ำ ทำจริงไม่ฟอกเขียว นำเทคโนโลยี อาทิ AI ใช้เชื่อมข้อมูล Stakeholders สร้างคุณค่าร่วมซัพพลายเชน
หลังจากเวที COP28 (Conference of the Parties ครั้งที่ 28) ณ ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีบทสรุปทิศทางการเคลื่อนทุน นโยบาย และสังคมทั่วโลก ไปสู่การเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าสัญญาทางใจ หรือ แค่ภาคสมัครใจ มาสู่พันธสัญญาแห่งการต้องลงมือทำ (In Action) มีกลไกการติดตาม และมีเงื่อนไขเวลา เพื่อร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิบนโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา มีความเข้มข้น ลงมือปฏิบัติสร้างกรอบการทำงานให้สมาชิกกลับไปวางแผนเส้นทางไปสู่การลดคาร์บอน 45-50% ภายในปี 2030 จนคาร์บอนเป็นศูนย์(Net Zero) ภายในปี 2050
ปี 2024 จึงเป็นจุดเปลี่ยน !! เรากำลังก้าวข้ามสิ่งที่สร้างปัญหาในอดีต ธุรกิจได้เคยทำไว้ จนนำไปสู่การสร้างปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ก้าวขึ้นสู่ปี 2024 เทรนด์ธุรกิจจึงมาพร้อมกันกับการพาองค์กรปรับโครงสร้าง โมเดลธุรกิจ ยืดหยุ่น สร้างความยั่งยืนจากภายใน รองรับปัจจัยซับซ้อนหลากหลายด้าน ต้องออกแบบภูมิทัศน์ใหม่ สร้างโอกาสการพัฒนา ให้ยืดหยุ่น ปรับกลยุทธ์ และลงมือทำให้สอดคล้องกันกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ที่มีความไม่แน่นอนคาดเดายาก และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ดังนั้น เพื่อปิดช่องว่างของการแปลงกลยุทธ์ธุรกิจให้มีข้อพิสูจน์การดำเนินงานอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตามพันธสัญญา ทั้งการลดคาร์บอน การขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนได้ เพื่อนำมาสู่การดำเนินธุรกิจให้เติบโต ก้าวข้ามข้อครหาของการฟอกเขียว (Green Washing) ทำดีแค่สร้างภาพ พูดอย่างทำอย่าง ไม่จริงใจแก้ไขปัญหา
จึงต้องมีวิธีการหลอมรวมความยั่งยืนเข้าไปสู่กระบวนการทำธุรกิจในทุกระดับ แสดงให้โลกเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นมาจากความเข้าใจสิ่งแวดล้อม สังคม เชิงลึกที่แท้จริง
ไปดูแรงขับเคลื่อนก้าวสู่ 4 เทรนด์ ของการเดินทางก้าวเข้าสู่ถนนแห่งธุรกิจยั่งยืน ธุรกิจที่ทำดีเพื่อโลก และเพื่อสังคม จึงอยู่คู่โลกได้ และเป็นแบรนด์ที่ “โลกหลงรัก”
1.ทศวรรษแห่งการเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจ ด้านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (The Decade of Climate Disclosure)
ธุรกิจจะต้องแสดงความจริงใจ พูดจริงทำจริง ในปี 2024 เป็นปีที่ต้องการธุรกิจที่มีความโปร่งใสในการทำงาน เพราะนี่คือระเบียบปฏิบัติใหม่ที่จะก้าวไปสู่การกำกับดูแลที่เปลี่ยนจากเดิม แค่ภาพกว้างในเชิงนโยบาย มาสู่หลักการทำดำเนินการ ธุรกิจจึงต้องทำให้คนภายนอกเห็นกลไก ระบบปฏิบัติการ ที่มีความรับผิดชอบและเป็นคนดี ทำธุรกิจดีไม่แตกแถวตามข้อบังคับของคู่ค้า และการค้าโลก จะเห็นได้จากจำนวนของบริษัทที่พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลโปร่งใสให้สาธารณชนได้รับรู้เพิ่มขึ้นจาก 614 ราย ในปี 2020 เพิ่มเป็น 1,225 รายในปี 2023 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว และยิ่งธุรกิจใดเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ยิ่งจะเป็นผลดีต่อการยอมรับธุรกิจ ที่เป็นผู้นำในการปฏิบ้ติการก่อนทั้งในด้านของการลดการปล่อยก๊าซ ด้านสิ่งแวดล้อม
ยิ่งธุรกิจขนาดใหญ่ ยิ่งถือว่าเป็นโอกาาสหลอมรวมการเปิดข้อมูล ESG มากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง ทำงานเชิงรุก เพราะการเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสภาวะอากาศ ไม่ใช่แค่กลยุทธ์ที่ดำเนินการตามกฎหมาย แต่เป็นการวิเคราะห์เจาะลึกในการบริหารธุรกิจให้ปรับตัวมึความยืดหยุ่น
ผลการศึกษาจาก 8,369 บริษัททั่วโลกใน 51 ประเทศ เริ่มขับเคลื่อนเดินหน้าบริหารความเสี่ยง โดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) เพื่อลดความขัดแย้งในประเทศที่เป็นความเสี่ยงใน ESG อาทิ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
2.โมเดลธุรกิจใหม่จะต้องปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือก้าวไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์(Net Zero) คือพื้นฐานของการทำธุรกิจในอนาคต การปล่อยคาร์บอนถือเป็นธุรกิจที่มีบาปติดตัว
หลังจากคำมั่นสัญญาจากCOP ช่วยกันลดอุณหภูมิโลกไม่สูงเกิน 1.5องศา ทำให้ทุกธุรกิจที่เป็นตัวการการปล่อยคาร์บอน หันมาลดการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจ ในปีนี้จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาระบบการทำงาน การปฏฺิบัติการภายในทั้งกระบวนการผลิต และส่วนต่างๆ ปรับตัวให้เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์โลกใหม่ที่ไร้การปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ถือเป็นบาปในการทำธุรกิจ ธุรกิจจึงต้องเติบโตเชื่อมต่อไปกับการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
ทำให้ปี 2024 จึงเป็นยุคแห่งการเริ่มต้นกระบวนการลดคาร์บอนในองค์กร ลงมือทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ให้สอดคล้องกันทิศทางโลก
5 กุญแจกสำคัญ ที่จะพาองค์กรก้าวสู่Net Zero ประกอบด้วย 1.ให้คำมั่นสัญญา (Pledge) 2.เปิดเผยโปร่งใส (Disclose) 3.พร้อมให้การสนับสนุน (Deliver) 4. ติดตามและตรวจสอบ (Monitor) และ5. พร้อมปรับตัว(Adapt)
บริษัทระดับโกลบอลมากกว่า 700 ราย โดยมาจาก 59 ราย เป็นบริษัทท็อป 100 ใน FTSE 100 (Financial Times Stock Exchange 100 Index)ที่ได้ลงนามสัญญาจะนำเงินจากธุรกิจไปขับเคลื่อนการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ท่ามกลางกระแสคำถามของผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม หลังถูกการตรวจสอบจาก Corporate Climate Responsibility Monitor พบว่ามีเพียง 5 บริษัทจาก 24 บริษัทเท่านั้นที่มีการดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนได้เชิงลึกและเข้าใจในมาตรฐาน
สะท้อนให้เห็นว่าแม้ธุรกิจประกาศที่จะดำเนินการลดคาร์บอน แต่ยังมีหลายองค์กรที่ดำเนินการอย่างไม่เข้าใจ ในมาตรฐานที่เข้มงวด และมีความซับซ้อน 30% ในสหราชอาณาจักรวางกลยุทธ์ Net Zero โดยทั่วโลกธุรกิจกว่า 1ใน 3 ก็วางเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์
ความยากและซับซ้อน ท้าทายอยู่ตรงที่จะต้องเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่โมเดลใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจใหม่ ที่เติบโตไปพร้อมกันกับการปล่อยคาร์บอนต่ำ ตามหลักคิด ESG และ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
กรณีศึกษาของ เลโก้ คือต้นแบบของการยอมลงทุนทดลองยาวนานกว่า 2 ปี เพื่อพัฒนาพลาสติกชนิดใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนต่ำ
3.การตรวจสอบฟอกเขียวอย่างเข้มข้น (Greenwashing Scrutiny Intensifies)
เราได้ยินการฟอกเขียวกันหนาหู หลังจากทั่วโลกถามหาธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ รักษ์โลก เกื้อกูลสังคม หลายธุรกิจที่เติบโตมาจากการทำลายทรัพยากร จึงต้องไปเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า ฟื้นฟูป่า โดยที่ยังไม่ได้ไปปรับปรุงกระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอน นี่จึงเป็นคำถามของการฟอกเขียว “ทำดีแบบลูบหน้าปะจมูก” ทำให้ผู้บริโภคที่มีความรู้ และมองเห็นภาพรวมไม่ยอมรับธุรกิจว่าเป็นทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกอย่างแท้จริง แทนที่จะสร้างชื่อเสียงได้รับการยอมรับ แม้จะออกสื่อมากมาย แต่กลับทำลายชื่อเสียง หากไม่มาจากกระบวนการภายใน ลูกค้าไม่ไว้วางใจ สุดท้ายก็ไม่ยั่งยืน
ดังนั้น ทางสหภาพยุโรป คือกลุ่มภูมิภาคแรกที่ทยอยนำมาตรการสกัดกั้น คนทำดีแค่สร้างภาพอย่างเข้มข้น ผ่านทางกฎหมายหลายด้าน เช่นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฟอกเขียว คือการห้ามการทำกรีนวอช สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจัดการสภาพอากาศ ที่จะเริ่มชัดขึ้นในปี 2026 โดยมีโทษปรับแรงตั้งแต่4% ของผลประกอบการ หากทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
มาตรการเหล่านี้ถูกนำออกมาบังคับใช้เพื่อเป็นกรอบในการกำกับดูแล ธุรกิจที่ชอบเคลมความเป็นธุรกิจสีเขียว แค่ฉาบไว้ แต่ข้างในมีหลากหลายสี เป็นเข้มทิศในการสร้างมาตรฐานธุรกิจสีเขียว จะต้องมีมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้า การบริการ การตลาด โดยไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับ
4.ใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มการเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วม กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Leveraging Technology for Enhanced Stakeholder Engagement)
ธุรกิจกำลังเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนักลงทุน ผู้บริโภค ที่จะต้องทำธุรกิจอย่างโปร่งใส และมีการจัดการด้านความยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริหารจัดการความต้องการทุกกลุ่มได้อย่างสมดุล ดังนั้น จึงต้องมีเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยในการวางกลยุทธ์ ทำให้ปรับตัว ในการเข้าถึงกลุุ่มคนหลากหลายด้าน เชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้สร้างคุณค่าร่วมในระยะยาว สร้างผลกระทบเชิงบวก จึงต้องมีเครื่องมือฐานข้อมูลในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตร ลูกค้า ซัพพลายเออร์
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนนั้น มีความซับซ้อนในหลากหลายมิติ จึงต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยวางแผนประเมิน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำมาช่วยให้ประธานที่ดูแลด้านความยั่งยืนในองค์กร สามารถมองเห็นข้อมูล และตัดสินใจด้วยความรับผิดชอบ มีการช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง และโอกาส โดยเฉพาะ การใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเครื่องมือในการรวบรวมข้อคิด ประมวลผลในการตัดสินใจ เพื่อตอบสนองเป้าหมายด้านความยั่งยืนให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ รวมถึงมีการจัดระบบซัพพลายเออร์
แนวโน้มของเทรนด์ธุรกิจยั่งยืนในปี 2024 จึงถือปีแห่งความเปลี่ยนแปลง ของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู่ความยั่งยืน ให้มีการเปิดเผยข้อมูลโปร่งใสในองค์กร, การพัฒนารูปแบบธุรกิจลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน,สร้างคุณค่าร่วมกับซัพพลายเชน และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตัดสินใจที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพิสูจน์ว่า ธุรกิจพัฒนาจากภายในธุรกิจทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงปฏิบัติตามกฎหมาย จึงจะขับเคลื่อนไปสู่อนาคตการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเป็นที่รักกของคนทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโลกใบนี้ที่เราเกิดและอาศัย ใช้ชีวิต
ที่มา: https://plana.earth/whitepaper/sustainability-trends-2024
………….