ส่องโจทย์ยากประเทศไทยกับเป้าหมาย ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’

ส่องโจทย์ยากประเทศไทยกับเป้าหมาย ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’


ประเทศไทยยังเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กต้องพึ่งพาการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในระดับที่สูงมาก จึงไม่สามารถละเลยต่อแรงกดดันต่าง ๆ ได้ มุมมองจาก ทีดีอาร์ไอ สะท้อนถึงความท้าทายจากแรงกดดัน 9 ด้านที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อแก้ปัญหา “Climate Change” และการไปสู่เป้าหมาย “สังคมคาร์บอนต่ำ” ในอนาคต

 

 

เมื่อโลกประสบปัญหาด้านสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ทุกประเทศต้องกำหนดทิศทางเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการรับมือปัญหา “Climate Change”

การขับเคลื่อนต่อปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศ องค์กรภาคเอกชน และระดับชุมชน จะทำให้ประเทศไทยอยู่รอดและรับมือกับปัญหานี้ได้มากน้อยแค่ไหน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานสัมมนาประจำปี “ปรับประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566

“ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กต้องพึ่งพาการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในระดับที่สูงมาก จึงไม่สามารถละเลยต่อแรงกดดันต่าง ๆ ได้”

แรงกดดันที่ไทยต้องเผชิญ มีด้วยกัน 9 ด้าน

1.ข้อตกลงปารีส ที่แต่ละประเทศจะต้องตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง

2. มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ต่อการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมหนักบางรายการ และมีแนวโน้มที่จะขยายรายการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศเช่น สหรัฐฯ แคนาดาและออสเตรเลีย อาจใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันนี้

3.หน่วยงานกำกับดูแลระหว่างประเทศเฉพาะด้าน เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และองค์การการเดินเรือระหว่างประเทศ (IMO) เริ่มมีกิจกรรมที่มุ่งให้ประเทศสมาชิกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4. บริษัทชั้นนำในระดับโลก ซึ่งเป็นผู้นำซัพพลายเชนของสินค้าผู้บริโภค ต้องการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกดดันให้ซัพพลายเออร์ในประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

5. นักลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ ที่ต้องการมาลงทุนในไทย มีเงื่อนไขว่าไทยต้องสามารถป้อนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100%

6. นักลงทุนในตลาดการเงินและตลาดทุนระหว่างประเทศ ซึ่งลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย เช่น กองทุนต่าง ๆ ที่ยึดหลักการลงทุนโดยมีความรับผิดชอบ กดดันให้บริษัทเหล่านี้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

7. นักเคลื่อนไหว ทั้งในและต่างประเทศ สร้างแรงกดดันให้บริษัทต่าง ๆ รักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

8. กลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนนักท่องเที่ยว ตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม เลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

9. พนักงานหรือสหภาพแรงงานของบริษัท มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เลือกเข้าทำงานกับองค์กรที่มีความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ

จากมุมมองที่สะท้อนออกมาจากทีดีอาร์ไอ ทำให้ได้เห็นว่ายังมีโจทย์ยากอีกมากที่หน่วยงานทุกระดับในไทยต้องเตรียมพร้อม และรับมือ